กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล และสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม การให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับกฎระเบียบและการดำเนินโครงการลงทุนในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา ความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาล รวมถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับกฎระเบียบของธุรกิจเอทานอลในประเทศ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยเอาไว้ได้ โครงการปลูกอ้อยและโรงงานน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชาคาดว่าจะใช้เงินลงทุนตามงบประมาณ ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความเข้มแข็งของฐานะทางการเงินในช่วงที่มีการขยายธุรกิจเพิ่มเติมในปี 2551-2553 เอาไว้ได้เพื่อรองรับกับความเสี่ยงของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในต่างประเทศ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทน้ำตาลขอนแก่นเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลชินธรรมมิตร์และคณะ ปัจจุบันตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทรวม 67% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 4 แห่งในจังหวัดขอนแก่น กาญจนบุรี และชลบุรี โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม 66,000 ตันอ้อยต่อวัน ทั้งนี้ กำลังการผลิตดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 78,000 ตันอ้อยต่อวันภายหลังจากที่การย้ายและขยายโรงงานแล้วเสร็จในปี 2553 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถจัดหาอ้อยได้ปีละประมาณ 4-5 ล้านต้นอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาลทรายเฉลี่ย 500,000 ตันต่อปี ในปีการผลิต 2550/2551 กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถจัดหาอ้อยได้เป็นสัดส่วน 7.8% ของปริมาณอ้อยทั้งประเทศ ถือเป็นอันดับ 4 รองจากกลุ่มมิตรผลซึ่งมีสัดส่วน 18.3% กลุ่มไทยรุ่งเรือง 17.0% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ 12.8% ปริมาณน้ำตาลทรายที่บริษัทผลิตได้ในปีการผลิต 2550/2551 มีจำนวน 606,071 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 14% จากปีที่ผ่านมา
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2549 บริษัทน้ำตาลขอนแก่นยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยอันประกอบด้วยธุรกิจผลิตเอทานอลและธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า โดยในปี 2550 รายได้จากเอทานอลคิดเป็นสัดส่วน 4% ของยอดขายรวมของบริษัท ลดลงจาก 9.7% ในปี 2549 ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลยังคงมีนโยบายให้คงการผลิตและจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 ต่อไป อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2550 อุปสงค์ของน้ำมันแก๊สโซฮอลและเอทานอลก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้จากเอทานอลเพิ่มขึ้นเป็น 7.4% ของยอดขายรวมของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายค่อนข้างคงที่ที่ระดับ 13%-17% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระบบแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย
เนื่องจากปริมาณอ้อยในประเทศไทยที่มีค่อนข้างจำกัด กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจึงได้เริ่มขยายการลงทุนทั้งในด้านการปลูกอ้อยและโรงงานน้ำตาลไปยังประเทศลาวและกัมพูชาในปี 2549 โดยใช้เงินลงทุนรวม 4,700 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มคาดว่าในปี 2552 จะสามารถ
จำหน่ายน้ำตาลทรายดิบที่ผลิตได้ไปยังกลุ่มประเทศยุโรปในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลกภายใต้โครงการการให้สิทธิปลอดภาษีและโควต้าแก่สินค้านำเข้าทุกชนิดยกเว้นอาวุธแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Everything But Arms -- EBA) อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางด้านการเมือง กฎระเบียบ และการดำเนินงานโรงงานน้ำตาลในประเทศทั้งสองดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ นอกจากการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศแล้ว กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นยังวางแผนจะขยายธุรกิจน้ำตาลในจังหวัดกาญจนบุรีโดยใช้งบลงทุน 5,000-5,500 ล้านบาทในการย้ายที่ตั้งโรงงานน้ำตาลไปยังอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งใช้ขยายกำลังการหีบอ้อยเพิ่ม และสร้างโรงงานผลิตเอทานอลและโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกอย่างละโรง ทั้งนี้ คาดว่าโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 2553
บริษัทน้ำตาลขอนแก่นมีฐานะทางการเงินที่ดีมาโดยตลอด ณ เดือนเมษายน 2551 บริษัทมียอดเงินกู้รวม 6,271 ล้านบาทและมีส่วนของทุน 10,026 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 26.53% ในปี 2550 เป็น 38.48% ณ เดือนเมษายน 2551 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงินกู้ระยะสั้นที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลผลิต ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวสูงขึ้นระหว่างปี 2551-2553 ในช่วงที่มีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชาและโครงการขยายงานในจังหวัดกาญจนบุรี
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ปริมาณผลผลิตอ้อยในประเทศค่อนข้างผันผวนมาโดยตลอดซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน พื้นที่เพาะปลูก และราคาอ้อยเมื่อเทียบกับพืชผลทางการเกษตรประเภทอื่นๆ ผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2550/2551 อยู่ในระดับสูงที่ 73.3 ล้านตันเนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอ ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2551/2552 จะมีปริมาณไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ แม้สัดส่วนรายได้จากการขายน้ำตาลของบริษัทจะมาจากการส่งออกถึงประมาณ 60% แต่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในสัดส่วน 70:30 ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลก็ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำตาลและค่าเงินบาทลงได้