ฟิทช์: ภาพรวมผลประกอบการครึ่งปีแรกของธนาคารไทยฟื้นตัว ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 23, 2008 09:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ แสดงความเห็นว่าผลประกอบการสำหรับครึ่งแรกของปี 2551 ของธนาคารไทยยังคงแข็งแกร่ง แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวและการเมืองขาดเสถียรภาพ ทั้งนี้ธนาคารไทยโดยรวมมีผลประกอบการและฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่ลดลง อาจส่งผลในเชิงลบต่อการขยายสินเชื่อและคุณภาพของสินทรัพย์ของธนาคารไทย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551
ผลประกอบการของธนาคารทหารไทย (TMB) แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับผลขาดทุนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามประมาณการของฟิทช์ นอกจากนั้นผลประกอบการของธนาคารกรุงศรีอยุทธยา (BAY) และธนาคารกรุงไทย (KTB) มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน สำหรับธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) โดยรวมแล้วยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ฟิทช์มองว่าภาพรวมผลประกอบการของธนาคารไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปี 2551 เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงและการเติบโตของสินเชื่อที่สูงขึ้น
วินเซนด์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) และนักวิเคราะห์อาวุโสฝ่ายสถาบันการเงินกล่าวว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์ของตลาดการเงินทั่วโลกในปัจจุบันนั้นมีความผันผวนสูง ธนาคารพาณิชย์ไทยที่แข็งแกร่งบางธนาคาร เช่น SCB KBANK และ BBL ยังคงมีผลประกอบการที่ดี โดยธนาคารทั้งสามแห่งมีอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศที่ ‘BBB+’ สำหรับผลประกอบการของ TMB นั้นได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากผลขาดทุนในปีก่อน ซึ่งได้สะท้อนการที่ฟิทช์เพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ TMB ขึ้นเป็น ‘BBB-’ (BBB ลบ) ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าผลประกอบการของ TMB ในปีนี้ อาจจะได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งจากการควบรวมระบบภายในกับ ING Bank ในส่วนของ BAY จากการที่ GE Capital ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นหลักในเดือนมกราคม 2550 และได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงระบบภายในธนาคาร คาดว่าจะทำให้ฐานะทางการเงินและผลประกอบการของ BAY แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีหน้า ซึ่งสะท้อนในแนวโน้มอันดับเครดิตที่มี แนวโน้มเป็นบวก ของธนาคาร” นอกจากนี้ มร.มิลตัน ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ยอดสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้น จะลดผลกระทบของการขยายตัวที่ลดลงของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อมและสินเชื่อรายย่อย อย่างไรก็ตาม จากการที่ราคาน้ำมันยังคงตัวอยู่ในระดับสูง และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง กำลังส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการลงทุนลดลง และคาดว่าผลประกอบการของธนาคารไทยโดยรวมจะชะลอตัวลงในครึ่งปีหลัง เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก โดยภาพรวมความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินงานและความเสี่ยงทางด้านสินเชื่อและสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น อาจมีผลกระทบต่อผลประกอบการของธนาคารไทยในปีหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าธนาคารขนาดใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
สำหรับครึ่งแรกของปี 2551 TMB มีกำไรสุทธิ 2.8 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับผลขาดทุน 43.5 พันล้านบาทในปี 2550 ซึ่งส่งผลให้ TMB สามารถกลับมาจ่ายดอกเบี้ยของตราสารหนี้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน (อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศ ‘BB-’ (BB ลบ)) ได้ใหม่ สำหรับงวดเดือนมิถุนายน 2551 สำหรับ BAY ครึ่งปีแรก มีกำไรสุทธิ 3 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับขาดทุน 4 พันล้านบาทในปี 2550 ในขณะที่ KTB มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น โดยครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิ 6.2 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับกำไรทั้งปีของปี 2550 ที่ 6.4 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม BAY และ KTB ยังคงมีความเสี่ยงใน เรื่องของการสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติม เนื่องจากอัตราเงินสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของทั้งสองธนาคาร ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบกับธนาคารอื่น แต่สำหรับ BAY คาดว่านโยบายระดับเงินสำรองหนี้สูญ จะมีความชัดเจนมากขึ้นในสิ้นปีนี้ หลังจากธนาคารขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่กำลังดำเนินการอยู่เสร็จสิ้น สำหรับในไตรมาส 2 ปี 2551 นั้น KTB และ SCB มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้สำหรับ SCB การตั้งสำรอง ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ เช่น BBL SCB และ KBANK ล้วนมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งในครึ่งแรกของปี 2551 โดย BBL มีกำไรสุทธิ 10.7 พันล้านบาท SCB มีกำไรสุทธิ 12.7 พันล้านบาท และ KBANK มีกำไรสุทธิ 8.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ BBL มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่สูงที่สุดโดยเติบโตกว่า 12% มีปัจจัยสนับสนุนมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและย่อม ประกอบกับสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากสาขาของธนาคารในต่างประเทศ สำหรับยอดสินเชื่อของ TMB ยังคงลดลงต่อเนื่องอีก 6% ในขณะที่สินเชื่อของ BAY เพิ่มขึ้นถึง 20% ทั้งนี้ส่วนใหญ่มาจากการเข้าซื้อกิจการเช่าซื้อรถยนต์ของ GE Capital
ระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารขนาดใหญ่คาดว่าจะเป็นไปตามนโยบายที่วางไว้ โดยธนาคารเหล่านี้มีเป้าหมายที่จะลดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้ต่ำกว่า 5% ภายในสิ้นปีนี้ ด้วยการเร่งแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยการขายสินเชื่อเหล่านี้ออกไป ในครึ่งปีแรก ระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมลดลง จากการขยายตัวของสินเชื่อ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่อ่อนแอลง และการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อาจส่งผลให้ธนาคารบางแห่งมีความเสี่ยงในเรื่องของการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญ และสำรองขาดทุนจากการขายสินทรัพย์เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามคาดว่า อัตราส่วนเงินกองทุนของธนาคารโดยรวมแล้วจะยังคงแข็งแกร่ง ต้นทุนทางการเงิน มีแนวโน้มสูงขึ้นในครึ่งปีหลังจากสภาพคล่องของระบบที่ลดลง และคาดว่าธนาคารขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าแนวโน้มผลประกอบการโดยรวมในครึ่งปีหลังจะปรับตัวอ่อนแอลง ฟิทช์คาดว่า SCB KBANK และ BBL จะยังคงสามารถรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ BAY, TMB และ KTB คาดว่าจะรายงานผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2551 เนื่องจากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงและการเติบโตในการปล่อยสินเชื่อ แนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารในประเทศไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ
ติดต่อ
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759
พชร ศรายุทธ, กรุงเทพฯ +662 655 4761
การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กสิกรไทย จำกัด ซึ่งถือหุ้น 99.99% โดยธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ