ปตท. ทดลองติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวีในรถกระบะและรถตู้ดีเซล บรรเทาผลกระทบในภาวะวิกฤตราคาน้ำมัน

ข่าวทั่วไป Tuesday June 21, 2005 14:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--ปตท.
นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ ปตท. ได้สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (Natural Gas for Vehicle หรือ ก๊าซ NGV)ในภาคคมนาคมให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบในภาวะวิกฤตราคาน้ำมันที่ปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด ปตท. ได้ดำเนิน “โครงการนำร่องรถยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีทดแทนดีเซล” เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ใช้รถตู้และรถกระบะดีเซล ให้สามารถนำรถมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินการ นั้น ขณะนี้ ปตท. ได้ร่วมกับบริษัท แอล วี เทค จำกัด และ บริษัท แซสเทค โซลูชั่น จำกัด ทำการทดสอบการติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซเอ็นจีวี ในระบบเชื้อเพลิงร่วม (Diesel /CNG Dual Fuel) ซึ่งเป็นระบบที่สามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างก๊าซเอ็นจีวีและน้ำมันดีเซล ในรถเครื่องยนต์ดีเซล จำนวน 4 คัน ได้แก่ รถตู้ Toyota รุ่น 2 L ขนาด 2500 ซีซี (ใช้งานมาแล้ว 705, 000 กม.) , รถกระบะ Toyota รุ่น 2 L ขนาด 2500 ซีซี (ใช้งานมาแล้ว 354,000 กม.) , รถ Toyota Sport Rider 3000 ซีซี รุ่น 5L (ใช้งานมาแล้ว 5 ปี) และ รถกระบะใหม่ IZUSU DMEX รุ่น 4 JA1 ขนาด 2500 ซีซี
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ผลการทดสอบเบื้องต้น อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถนำก๊าซเอ็นจีวีไปใช้แทนดีเซลได้ประมาณ 50 - 60% ซึ่งจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ประมาณ 25 -30% ทั้งนี้คาดว่าการทดสอบการใช้งานประเภทต่าง ๆ จะแล้วเสร็จในราวปลายเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่ง ปตท. จะได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนผู้ใช้รถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก เช่น รถกระบะ รถตู้ ฯลฯ ติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวีระบบเชื้อเพลิงร่วมนี้ต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวีนี้ประมาณคันละ 30,000 - 45,000 บาท และเป็นที่น่ายินดีว่าปัจจุบันบริษัท แอล วี เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคนไทยได้คิดค้นและผลิตอุปกรณ์ Gas Mixer ซึ่งมีประสิทธิภาพในการใช้งานใกล้เคียงกับอุปกรณ์จากต่างประเทศ จึงทำให้ค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ราคาถูกลง นอกจากนี้ ปตท.
ยังได้ร่วมกับ บริษัท กรีนก๊าซ เทคโนโลยี จำกัด และอีกหลาย ๆ บริษัท รวมทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการทดลองติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวีในรถบรรทุกสิบล้อ และรถหัวลาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ สำหรับในส่วนของการทดลองใช้ก๊าซเอ็นจีวีในรถไฟนั้น อุปกรณ์จะมาถึงเมืองไทยในเดือนนี้ คาดว่าจะสามารถทดลองวิ่งได้ในเดือนสิงหาคม นอกจากนั้น ปตท. ยังได้ประสานงานกับ บริษัทขนส่ง จำกัด (บ.ข.ส.) เพื่อนำรถที่วิ่งเส้นทาง กรุงเทพฯ-ระยอง มาทดลองใช้ก๊าซเอ็นจีวีอีกด้วย เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวมีสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีอยู่แล้ว
สำหรับราคาก๊าซเอ็นจีวี ปัจจุบัน ปตท. ยังคงราคาไว้ที่ 8.50 บาท/กิโลกรัม ซึ่งถูกกว่าดีเซลประมาณ 56% ถูกกว่าแอลพีจี 33% และ ถูกกว่าเบนซิน 95 และ 91 ประมาณ 68% และ 67% ตามลำดับ ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีรถยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีจำนวน 5,077 คัน
และ มีสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีจำนวน 34 สถานี โดยมีแผนจะเปิดสถานีบริการเพิ่มในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และที่ พัทยา จ.ชลบุรี , นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี , พื้นที่ อ.แก่งคอย จ. สระบุรี, อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี , อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 57 สถานี ภายในปลายปี 2548 และเพิ่มเป็น 180 สถานี ภายในปี 2551 ซึ่ง ปตท.มีแผนจะขยายเครือข่ายสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีให้ครอบคลุม ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงตามแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และ ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภาคในอนาคตอีกด้วย
โทรศัพท์ 0-2537-3217
ส่วนประชาสัมพันธ์ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
โทรสาร 0-2537-3211
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ