กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--ศตท.
ศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี (ศตท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งเผยแพร่พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและองค์กร เรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ก่อนมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังในวันที่ 23 สิงหาคม นี้ ชี้สถิติปัญหาภัยคุกคามทางเทคโนโลยีและการสื่อสารในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้กำกับการศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี (ศตท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า “จากการที่เทคโนโลยีและการสื่อสารเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อองค์กรและการดำรงชีวิตของประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกและเอื้อต่อการใช้งานให้เกิดประโยชน์ในการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์นั้น ทำให้มิจฉาชีพใช้ช่องทางดังกล่าวในการสร้างประโยชน์ส่วนตน มีเจตนาที่จะทำลายระบบ, ก่อกวน, สร้างความสับสน และอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจ, ความมั่นคงขององค์กร หรือ หน่วยงาน รวมทั้งประชาชนทั่วไป พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จึงเกิดขึ้นเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว จากการสำรวจผู้ใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ของหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเครือข่ายศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) พบว่า ปี 2549 มี ผู้ใช้งานจำนวน 11.41 ล้านคน และปี 2550 จำนวน 13.42 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 17.55% ต่อปี การสำรวจดังกล่าวนี้ ทำให้คาดการได้ว่าแนวโน้มของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทั้งที่ตั้งใจและไม่รู้ว่าตนเองกระทำความผิดอยู่ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตที่สูงขึ้นทุกปี ซึ่ง ศตท. พบว่า 5 อันดับแรกของการกระทำความผิดมากที่สุด คือ 1) การหมิ่นประมาททางออนไลน์ 2) การพนันออนไลน์ และ เว็บไซท์ลามกอนาจาร 3) การฉ้อโกงออนไลน์ 4) การทุจริตในการทำธุรกรรมทางการเงิน 5) การเจาะระบบและการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ศตท. ยังประมวลผลและวิเคราะห์ว่า “การหมิ่นประมาทออนไลน์” ที่มีจำนวนคดีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 นั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด เพราะผู้ที่กระทำความผิดส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงต่อตนเอง รวมทั้งการตรวจจับเพื่อนำมาดำเนินคดีทางอาญาเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ ทำที่ไหน และ ทำเมื่อไหร่ ซึ่งความเสียหายจากการกระทำผิดจะส่งผลกระทบ 2 ทาง คือ ต่อผู้กระทำความผิดเอง หรือ ผู้จดทะเบียนนิติบุคคล (เจ้าของธุรกิจ) ที่ผู้กระทำผิดใช้เครือข่าย ขององค์กรหรือหน่วยงาน อีกประการที่มีความสำคัญมาก คือ กฎหมายที่ระบุไว้ในมาตรา 26 และ 27 ที่ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือ ล็อกไฟล์ (Log File) โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการหาผู้กระทำความผิด ดังนั้นการเก็บ Log จึงต้องมีการเก็บเพื่อให้สามารถใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ เช่น ใคร, ทำอะไร, ที่ไหน และกระทำอย่างไร พร้อมทั้ง Log File ต้องมีการยืนยันความถูกต้องว่าไม่สามารถแก้ไขปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้ และมีการเก็บบันทึกไม่น้อยกว่า 90 วัน เพื่อใช้ประโยชน์ในการติดตามตัวผู้กระทำความผิดต่อไป
ดังนั้นการเร่งเผยแพร่พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและองค์กร เรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะปัญหาอาชญากรรมทางเครือข่ายอาจจะไม่ส่งผลกระทบไปยังผู้กระทำความผิดเท่านั้น หากแต่จะก่อความเสียหายไปสู่องค์กร หรือ หน่วยงานที่ไม่รู้เท่าทันการคุกคามทางเทคโนโลยีและการสื่อสารดังที่กล่าวมา” พ.ต.อ.ศิริพงษ์ กล่าวในที่สุด