กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--สหมงคลฟิล์ม
Qบอกเล่าถึงประวัติส่วนตัวคร่าวๆ
พี่เรียนจบนิเทศศาสตร์สาขาโฆษณาที่ม.กรุงเทพ หลังจากนั้นก็ทำอยู่หลายอย่าง เคยทำละครกับอาวีระประวัติ วงษ์พัวพันธุ์ ทำละครอยู่ปีหนึ่ง หลังจากนั้นก็มาทำแคสติ้งกับบริษัทโฆษณาอีกปีหนึ่ง หลังจากนั้นก็ย้ายมาอยู่อาร์เอสโปรโมชั่น สมัยที่อยู่ตึกเก่า ตอนที่ยังไม่ได้ย้ายมาอยู่ลาดพร้าว ตอนนั้นทำหน้าที่เป็นโปรดิวซ์เซอร์มิวสิควีดีโอ แล้วก็ออกจากอาร์เอส เพื่อที่จะมาทำหนังให้อาร์เอสฟิล์ม ตอนนั้นทำหนังเรื่องแรกก็ทำหน้าที่ผู้จัดการกองถ่าย เรื่องแรกก็คือโลกทั้งใบให้นายคนเดียว ของคุณราเชนทร์ หลังจากนั้นก็มีทำมิวสิควีดีโอบ้าง จนได้มีโอกาสมาเจอกับพี่ปรัช (ปรัชญา ปิ่นแก้ว) วันแรกที่คุยกันกับพี่ปรัชก็บอกเลยว่าอยากทำหนัง เพราะอยากทำมาตั้งแต่เรียนจบแล้ว
Q ตอนที่ทำผู้จัดการกองหนังเรื่องแรกเป็นอย่างไรบ้าง
ยุคของหนังเรื่องโลกทั้งใบให้นายคนเดียวตอนอาร์เอสฟิล์มเนี่ย สตาฟท์ของการผลิตภาพยนตร์ยังไม่ถือว่าฟูลทีมมาก เราก็ต้องหยิบต้องจับเองหมด คือเฮดๆ ทุกคนก็เลยต้องช่วยๆกัน กับทางผู้ช่วยผู้กำกับ โลเคชั่นอะไรทำเองหมด ก็ถือว่าเป็นหนังเรื่องแรกที่พี่ได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ
Q การทำโปรดิวซ์หนังแต่ละเรื่อง เราเข้าไปมีบทบาทอย่างไรบ้าง
ก็จะดูเต็มๆ เลยในส่วนของโปรดักส์ชั่นทีม การถ่ายทำ อย่างเรื่องของสตาฟฟ์ทั้งหลาย จุดนี้แหละที่เราต้องเป็นตัวกำหนด ส่วนมากพี่จะพูดคุยกับผู้กำกับ ประมาณจะถามว่ามีสตาฟฟ์ที่เข้าขากันมั้ย ถ้าไม่มีก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องจัดให้เขาไป แล้วก็ดูแลควบคุมภาพรวมทั้งหมด ที่สำคัญที่สุดคือคุมเรื่องงบประมาณ แล้วก็เรื่องรายละเอียดการถ่ายทำ จะมีปัญหาอะไรมั้ย ติดขัดอะไร ความยากความง่ายเขาจะรู้เลย ว่าถ้าไปเจอของแข็งข้างนอกเนี่ยจะต้องแก้ปัญหายังไง ก็ต้องมีการปรึกษากัน มีบ้างที่ต้องมีการคอมเม้นท์หรือพรีเซ้นต์อะไรหลายๆอย่าง เพราะว่าเรื่องโปรดักส์ชั่นกับพี่ปรัชจะไกลกัน พอพี่ปรัชตรวจสอบแล้วว่าสามารถผลิตได้ ผู้กำกับก็จะนำไปผลิต หลังจากนั้นก็ต้องเป็นส่วนของงานของพี่ ถือว่าการเริ่มต้นจากการเป็นผู้จัดการกองคือการต่อยอดมาสู่การเป็นโปรดิวเซอร์
Q ความคิดที่จะมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นที่จุดไหน
ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะได้มาเป็นผู้กำกับ เพราะรู้สึกสนุกกับบทบาทโปรดิวเซอร์ เพราะได้ควบคุมดูแลกองถ่าย ได้ใช้ความคิดเห็นของภาพยนตร์ แล้วมีอยู่วันหนึ่งไปออกกองถ่ายหนังเรื่องตะเคียน ซึ่งอยู่ในป่าเขาหลายวันมาก ก็ได้อ่านหนังสือพิมม์ฉบับหนึ่ง ในภาพเป็นรูปชาวเขากำลังหยิบกล้อง เป็นเรื่องของสถานีวิทยุชุมชนของมูลนิธิกระจกเงา ก็รู้สึกชอบ รู้สึกว่าอยากเอามาทำหนังมาก พอกลับมาก็ลองเอาเรื่องนี้มาคุยกับพี่ปรัช เขาก็ว่าเออ...น่าสนุก แล้วพี่เป็นคนที่ชอบอะไรที่ realistic เพราะโดยส่วนตัวไม่ค่อยชอบอะไรที่ดูเซ็ทมาก ก็เลยขึ้นไปรีเสิท เริ่มต้นก็เลยไปรีเสิทข้อมูลยังพื้นที่จริงที่จังหวัดเชียงราย ไปอยู่หลายรอบมาก ก็เลยนำเรื่องจริงกับมาแต่งกับมาปรุงให้เป็นเนื้อเรื่อง อย่างตัวหมี่จูคือตัวละคร เพราะไม่อยากทำหนังให้ดูเป็น documentary มาก เพราะกลัวว่าจะขาดอารมณ์ของความเป็นภาพยนตร์แล้วเดี๋ยวจะไม่สนุก
Q ตอนที่เห็นเรื่องราวนี้ในหนังสือพิมม์ตอนนั้น เห็นอะไรน่าสนใจถึงคิดเอามาทำเป็นหนัง
คือเรารู้สึกว่าคำว่าสถานีโทรทัศน์ มันเป็นเรื่องใหญ่โตมาก คือยุคนี้จะมีเคเบิลทีวีเยอะ แต่ถ้าย้อนไปสิบยี่สิบปี ทีวีในบ้านเราจะมีหลักๆ อยู่แค่ห้าช่อง พี่ว่ามันเป็นเรื่องที่น่ารักมากเลย ที่มีการสร้างสถานีวิทยุชุมชนเล็กๆ ในหมู่ชุมชน และมีการออกอากาศเพื่อให้ความรู้ ซึ่งความรู้เหล่านั้นเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานมาก อย่างเช่นรายการพยายามจะบอกว่าก่อนกินข้าวต้องล้างมือให้สะอาดนะ ก่อนนอนอย่าลืมแปรงฟัน การให้ความสำคัญในการไปทำบัตรประชาชน พี่รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ดูใสแล้วก็น่ารักมาก มันเป็นการหยิบใช้สิ่งที่ถ้าเป็นในเมืองบ้านเราถือเป็นเรื่องใหญ่โตมากสำหรับการจะทำสถานีโทรทัศน์ แต่ว่ามีที่ๆหนึ่งที่เข้าทำตรงนี้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ ทำสถานีขึ้นเอง สอนให้ชาวเขาใช้กล้องถ่ายกันเอง ความรู้สึกเราคือใสมากเลย
Q ได้มีการพูดคุยกับกลุ่มกระจกเงาอย่างไร ในการนำเรื่องราวของพวกเขามาสร้างเป็นหนัง
ก็มีการพูดคุยปรึกษาหารือกัน ซึ่งก็ได้รับการเอื้อเฟื้อเยอะมาก คือการจะทำหนัง ที่เกี่ยวกับกลุ่มกระจกเงาแล้วก็สถานีวิทยุบ้านนอกทีวีที่ได้จัดทำขึ้นสำหรับหมู่บ้านชาวเขา ก็คือเผ่าอาข่า ทีนี้กลไกในการเข้าไปรีเสิร์ทมาสร้างสรรค์หรือทำให้เป็นเรื่องนี้เนี่ย พี่ต้องเข้าไปศึกษาวัฒนธรรมของชาวอาข่าด้วย มูลนิธิกระจกเงาก็ให้ข้อมูลของการประสานงาน เรื่องการติดต่อกับผู้ดูแลของกลุ่มชาวเขา เพราะว่าสำหรับคนในเมืองจะมองชาวเขาเป็นเรื่องโจ๊ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพูดไม่ชัด ตกคลองแล้วก็ปลาตายหมดเลย คือมันเป็นสิ่งที่เขาซีเรียสนะ เพราะว่ามันไม่จริงนี่นา เพราะว่าเขาไม่ได้อาบน้ำกันได้ทุกวัน เพราะว่ามันหนาว เพราะฉะนั้นข้อควรระวังของการผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้มีเยอะ พี่ก็ต้องว่ากันไปตามเรียลลีสติก ไม่ใช่หยิบเอาชีวิตเขามาให้ขำ เพราะฉะนั้นกลุ่มกระจกเงาเขาก็จะช่วยและเอื้อในเรื่องของข้อมูล คือเขามีขนบประเพณีเยอะ
Q กลุ่มกระจกเงาเขาเล่าให้ฟังมั้ยว่าทำไมถึงเขามาทำตรงจุดนี้
มูลนิธิกระจกเงาเป็นมูลนิธิที่เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มชาวเขา ทีนี้เขาเข้าไปช่วยเหลือพวกกลุ่มชาวเขาในเรื่องของการให้ความรู้และข้อมูลในเรื่องของการดำรงชีวิต หรือการทำมาหากินเพื่อทดแทนการขายยา เพราะว่าทางภาคเหนือพวกชาวเขาเคยเป็นจุดลำเลียงของยาทั้งหลายเข้ามาในไทย เพราะฉะนั้นกลุ่มกระจกเงาก็จะเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ให้คนที่นั่นรู้ว่าทำแบบนี้ผิดกฏหมายนะ ปลูกผักกันดีกว่ามั้ย หรือว่าทำหัตถกรรมสิ ส่งเสริมพวกกลุ่มแม่บ้านให้ทำหัถตกรรมหรือการทอผ้าเพื่อมีรายได้ โดยการนำมาขายในเมือง ทีนี้พอกลุ่มกระจกเงาเขาเข้าไปช่วยเหลือ แล้วเขาก็ติดยูบีซี ทีนี้มีวันนึงสัญญาณเขาขาด ก็มีชาวเขาวิ่งมาถามเขาว่าทำไมไม่ฉายทีวีอีก เพราะว่าเขาต่อสัญญาณให้ดูกันทุกบ้าน พอเกิดตรงนี้เขาก็เลยได้ไอเดียว่า ถ้างั้นเขาน่าจะทำสถานีวิทยุชุมชน ซึ่งปัจจุบันยังมีปัญหาอยู่เลย เพราะว่ามันไม่ถูกต้องตามกฏหมายวิทยุโทรทัศน์กระจายเสียง ก็เลยโดนระงับไป ทีนี้เขาก็เลยมาซื้ออุปกรณ์ข้างนอก เกี่ยวกับการส่งสัญญาณทีวีต่างๆ แล้วก็มาพัฒนาใช้เองในชุมชน จึงเกิดคำว่าบ้านนอกทีวี ตอนที่พี่ไปรีเสิทก็ได้ดูเนื้อฟุตเทจของรายการ ซึ่งก็ได้ไอเดียหลายอย่างที่พัฒนามาเป็นเรื่องเล่าในภาพยนตร์เรื่องนี้
Qเรื่องของการหาโลเคชั่นที่ใช้ในการถ่ายทำเป็นอย่างไรบ้าง
ก็ถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากที่สุดหรอก เพราะว่ายากกว่านี้ก็เคยทำมาแล้ว ก็รู้อยู่แล้วว่าหมู่บ้านชาวเขามันก็ต้องไปทางภาคเหนือ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการรีเสิร์ทและเดินทางไปบนเขา มันไม่ได้ยากในการหา แต่มันยากในการเซ็ตอัพหมู่บ้านชาวเขาขึ้นมา ที่ๆ เราไปถ่ายทำมันอยู่บนเขา ที่สวยที่สุดคือทะเลหมอก ตรงจุดนั้นจะมีบ้านชาวเขาอยู่ไม่กี่หลัง ทีนี้เราก็ไปมาร์กเลยว่าเราจะไปสร้างตรงนู้นตรงนี้ แล้วก็เอาทีมงานทั้งหมดขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น แล้วก็มีการสร้างสาธารณูปโภคขึ้นมา คือไปสร้างระบบกินอยู่ที่นั่น มีรถไว้ใช้ในการเคลื่อนย้ายสิ่งต่างๆ มีแม่บ้านไว้คอยทำกับข้าว มีเครื่องกรองน้ำ มีเครื่องซักผ้า ก็ให้ทีมสตาฟฟ์ขนขึ้นไปเลย จากตัวเมืองเชียงรายถ้าขึ้นไปที่นั่นก็น่าจะสามสี่ชั่วโมงกว่าจะถึงจุดถ่ายทำ ซึ่งต้องใช้รถโฟร์วีลในการเดินทาง ซึ่งสถานที่จะสวยมากจะมีทะเลหมอก เป็นเขายอดๆ แล้วก็มีบ้านชาวเขาอยู่สองสามหลัง ที่เหลือเราก็สร้างเพิ่ม ที่สร้างเพิ่มคืออย่างแรกเพื่อไว้ถ่ายทำ แล้วก็ให้ทีมงานได้พักอาศัยกันด้วย ก็คือกินนอนกันอยู่ที่นั่น เช้ามาก็วิ่งเคลียร์ของทุกอย่างเลย เพราะเดี๋ยวติดเข้าไปในเฟรมใช้เวลาเซ็ทกันอยู่เดือนกว่าๆ เพราะว่าตัวบ้านชาวเขาเราก็เอาชาวเขาจริงๆ มาสร้างเลย เพราะว่าชาวเขาจะรู้เรื่องรูปทรงและโครงสร้างดีที่สุด
Q ได้มีการวางโจทย์ ให้ทิศทางหรืออารมณ์ของหนังไปในทิศทางไหน
อยากให้เป็นรีลลิสติกดราม่าแบบใสๆ เลย ถ้ามันจะคอเมดี้น่าจะมาจากความใสของชนเผ่า จะออกแนวยิ้มๆ ให้เห็นโลกใสๆ ของชีวิตชาวเขา และรู้สึกอมยิ้มไปกับชีวิตจริงๆ ของเขาที่เป็นอยู่
Q ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีของชาวอาข่า เราได้มาจากตรงไหน
เราได้รับความช่วยเหลือจากสมาคมชาวอาข่า คือกลุ่มกระจกเงาจะเป็นตัวกลางที่คอยประสานให้ เพราะว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก แล้วก็หลังจากที่ทำบทเสร็จก็เอาไปที่สมาคมชาวอาข่าที่เชียงราย แล้วก็ต้องพรีเซ้นต์ให้เขาฟัง เพราะว่าเขาก็มีบทเรียนจากองค์กรอื่นๆ ที่ชอบเอาชาวเขาไปล้อเลียน เขาก็เลยกลัวเหมือนกัน ทีนี้เขาก็จะให้ข้อมูลในเรื่องของพิธีการต่างๆ ซึ่งเขาก็จะช่วยแนะนำตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสัญลักษณ์ต่างๆ ของชาวเขา เราก็ต้องสร้างตามที่เขาบอก อีกทั้งยังมีนักแสดงที่เป็นชาวเขาจริงๆ ซึ่งก็พอช่วยหรือแนะนำเราได้ ซึ่งเขาลงมาอยู่ที่ไนท์บาซาร์แล้ว แต่ก่อนที่เราจะทำเราก็ปรึกษากับสมาคมชาวอาข่าแล้วในเรื่องของวัฒนธรรมและประเพณี ทั้งเรื่องของประเพณีโล้ชิงช้า เพราะนอกจากรูปแล้วก็ยังมีผู้คนด้วย บางทีชาวเขาก็เป็นคนทำให้เราด้วย อย่างพิธีโล้ชิงช้าเราก็ให้ชาวเขาช่วยทำ ทั้งเรื่องการเซ็ท บ้านที่ใช้ถ่ายเราก็ให้ชาวเขาทำ เพราะว่าบ้านของแต่ละเผ่าไม่เหมือนกัน แล้วเราก็ยากนิดนึง ชาวเขาก็เป็นคนทำฝ่ายอาร์ทก็เป็นคนควบคุม
Q พูดถึงเรื่องราวของอาข่าผู้น่ารัก
ก็เป็นเรื่องราวของหมู่บ้านหนึ่ง เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าอาข่า แล้วมีอยู่ครอบครัวหนึ่งที่มีลูกสาวที่ค่อนข้างแก่นกระโหลก ชอบทำผิดผีผิดประเพณี วันหนึ่งก็ดันไปทำอะไรบางอย่างที่ผิดประเพณี ต้องมานั่งเซ่นไหว้แก้ประเพณี พ่อก็เลยรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วรู้สาวคนนี้ ชักจะเกเรไปใหญ่ ก็เลยส่งลูกสาวไปอยู่กับน้า ซึ่งน้าอยู่ในตัวเมืองเชียงราย เป็นจังหวะที่มูลนิธิกระจกเงาเข้ามาดูพื้นที่เพื่อพัฒนาให้ความรู้กับชุมชน โดยการทดลองทำสถานีวิทยุชุมชน ทีนี้ตัวเด็กก็ลงไปอยู่กับน้า ก็ไปหารายได้โดยการไปถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว ขายของที่ระลึก ชีวิตของเขาตอนที่ไปอยู่ที่นั่นทำให้เขาได้เห็นเพื่อนพ้องที่เป็นชาวเขาด้วยกัน ที่ต้องมาลำบากทำงาน พลัดจากถิ่น บางคนเนี่ยกลับไปไม่ได้ เพราะเจอชาวบ้านหาว่าผิดผีบ้างอะไรบ้าง รวมถึงน้าสาวเขาด้วย ตัวหมี่จูก็เลยเริ่มคิดได้ รู้สึกคิดถึงบ้าน และคิดที่จะกลับไปเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่บ้านเกิดของตัวเอง โดยใช้บ้านนอกทีวีเป็นสื่อกลาง
Q เรื่องของภาพถ่ายเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในหนังอย่างไรบ้าง
คือชาวเขาเนี่ย เหมือนที่เรารู้ในประวัติศาสตร์ใดๆ ก็ตามว่าเขาจะทำไร่เลื่อนลอย พอไปอยู่ตรงนี้ปั๊บ แล้วพอดินไม่อุดมสมบูรณ์แล้วก็ย้าย การย้ายไปเรื่อยๆ ทำให้เรารู้จักที่นี่ แล้วก็ย้ายไปอีกที่มันคือการพลัดพราก บางคนเราเจอแล้วก็ไม่ได้เจอกันอีกตลอดชีวิต ความที่เขาเพียวมากไม่มีเทคโนโลยี เวลานักท่องเที่ยวขึ้นไปจะถ่ายรูป ชาวเขาจะมีรูปของตัวเองน้อยมาก พอได้ถ่ายรูปปั๊บเขาจะแปะแล้วปักไว้หน้าบ้าน คนในรูปบางคนอาจไม่สามารถมาเจอกันได้อีกแล้ว มาถึงจุดหนึ่งเมื่อโตขึ้นก็ถูกส่งมาทำงานในเมืองหลวง บางคนก็ถูกหลอกไปขายตัว ผู้เฒ่าผู้แก่ก็รอลูกไปจนตาย เพราะฉะนั้นเรื่องรูปภาพที่มีน้อย แต่เขาอยากรำลึก ตอนที่หมี่จูได้หยิบรูปที่สะสมขึ้นมาในวันนั้นแล้วออกอากาศไป ทำให้คนในหมู่บ้านเนี่ยคิดถึงคนในรูป และเชื่อในคำพูดของหมี่จู คือลูกสาวคนเนี่ยหายไปแล้ว ไม่เคยกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ ชีวิตนี้ไม่ได้เจอกัน มันเลยเกิดเป็นความคิดถึง หมี่จูกำลังพูดย้อนรำลึกทุกอย่างด้วยรูปภาพ สิ่งที่เราอยากจะบอกคือ ก็ถ้ามันอยู่กันดีที่นี่ทำไมไม่อยู่ซะด้วยกัน จะต้องพลัดพรากจนล้มหายตายจากไปทำไม แล้วสังคมของชาวเขาสมัยนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่
Q ทำไมถึงเลือกทำหนังในสไตล์นี้
โดยส่วนตัวเป็นคนชอบหนังแนวดราม่าใสๆ คือในหน้าที่ที่เป็นโปรดิวซ์หรือว่าการทำหนังเนี่ย ก็ทำได้ทุกแบบ แต่ว่าโดยส่วนตัวชอบและรักหนังในแนวนี้มาก ซึ่งทุกคนจะมีแนวที่ชอบเป็นของตัวเอง อย่างคนที่ทำหนังรักหนังเราดูหนังได้ทุกแนว แต่ถ้าบอกว่าความถนัดและแนวทางที่เราชอบมากก็คงเป็นแนวนี้ พี่ชอบหนังแนวดราม่าโรแมนติกที่ดูแล้วใส ดูแล้วให้แง่คิด หนังที่ได้อะไรกับจิตใจ ไม่ต้องไปยึดติดว่าจะต้องเป็นโปรดักส์ชั่นใหญ่ ถึงแม้ว่าจะผ่านงานอย่างองค์บากและต้มยำกุ้งมาแล้วก็ตาม แล้วต้องทำแต่หนังใหญ่อย่างเดียวก็ไม่ใช่ แต่ควรจะหยิบทำอะไรที่ตัวเองชอบจะทำได้ดีกว่า
Q มีการวางโจทย์และดีไซน์คาแรกเตอร์ของตัวละครหมี่จูยังไงบ้าง
ต้องเป็นเด็กแก่นกะโหลก คือตัวเราเป็นคนรักเด็ก เจอเด็กจะเล่นเลย จริงๆ พี่ชอบเด็กผู้ชาย แล้วก็เคยคิดว่าตัวละครเอกของเรื่องนี้จะเป็นเด็กผู้ชายหรือเปล่า แต่การอิมแพ็กกับคนดูเด็กผู้ชายจะทำได้ยากกว่าเด็กผู้หญิง ก็เลยเลือกเป็นเด็กผู้หญิง ตามเรื่องเล่ามันควรจะเกกมะเหรกเกเรไง ลักษณะของตัวละครตัวนี้จะเป็นแบบนี้
Q หมี่จูมีความสำคัญต่อการดำเนินเรื่องราวในหนังอย่างไรบ้าง
คือจริงๆแล้วเนี่ย เรารู้สึกว่าเซ็ทอัพหมี่จูมาให้บนวิถีชีวิตของแต่ละสังคม อย่างชาวเขาชาวอาข่าเนี่ย เขาก็จะมีวัฒนธรรม มีประเพณีที่เยอะแยะ แล้วก็ยากบางอย่าง เราอยากให้ตัวแปรคือคนที่ชอบทำผิดกฏ เป็นเด็กน่ารักใสๆ อยู่ในชุมชน แล้วนำความรู้สึก นำข้อคิดมาให้ในชุมชน มันจะอภัยกันไม่ได้เลยหรอ กับหลักการที่ค้านกับประเพณี คือประเพณีมันแข็งกว่าความรักได้ด้วยเหรอ
Q ขั้นตอนการหาเด็กผู้หญิงที่จะมารับบทเป็นหมี่จูเป็นอย่างไรบ้าง
หายากมาก เราก็เริ่มจากการติดต่อน้องที่เรียน ม.เชียงใหม่ ให้เขาช่วยทำแคสติ้งให้ ก็ต้องมีการพูดคุยกันกับทีมแคสติ้งตลอด เราก็ส่งบรี้พไป เราก็มีโจทย์ของเราว่าต้องการเด็กอายุประมาณ 8-10 ปี เขาก็ไปหาตามโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนบัลเล่ต์ แล้วก็ไล่ถ่ายรูปเด็กแล้วคัดส่งมาให้ แคนดี้คือคนที่ตัดสินใจเลือกเป็นเบอร์แรกเลย ซึ่งตอนแรกที่ได้เจอกับแคนดี้ เขาเป็นเด็กคนเดียวที่สามารถเล่นได้แสดงได้ แม้ว่าจะเขินก็ตาม เราพูดอะไรไปให้ซึ้ง เขาก็ซึ้ง เขาสามารถร้องไห้ให้เราดูได้ แล้วบวกกับหน้าตา และตัวน้องเองเป็นเด็กเชียงใหม่ เพราะฉะนั้นความใกล้ที่เขาจะได้เห็นชาวเขาก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเขา ก็เลยเลือกให้เขามารับบทนี้
Q ขั้นตอนของเตรียมตัวของน้องฟูอาน่าเพื่อมารับบทหมี่จูเป็นอย่างไรบ้าง
ก็มีการส่งไปเรียนการแสดง ตอนนั้นเขาเพิ่ง 9 ขวบเอง ส่งไปเรียนการแสดงที่โรงละครของกาดสวนแก้ว เพราะว่าเราก็ไม่อยากให้เด็กเดินทางไกลมากรุงเทพ ก็ให้เขาเรียนเยอะมาก คือการแสดงไม่นานเท่าไหร่ ประมาณเดือนนึง แต่ที่น้องต้องเรียนเยอะคือเรื่องของภาษา คือบทภาพยนตร์จะต้องมีภาษาอาข่า ซึ่งยากมากๆ แต่เด็กทำได้ เขาต้องอ่านเป็นคาราโอเกะ ตรงนี้ทำให้เราเห็นว่าน้องมีความสามารถมากๆ เพราะภาษาอาข่าเป็นอะไรที่ยากมาก ตัวพี่เองยังทำไม่ได้เลย คือถ้าเราจะต้องพูดคุยกันเป็นภาษาอาข่า แล้วต้องไปทำลายล้างระบบว่าอย่าพูดแบบนึกสิ เวลาพูดอย่าทำเป็นนึกคิดบท แล้วน้องเขาทำได้ดีมาก เขาใช้เวลาจำบทภาษาอาข่าเนี่ยสักประมาณหนึ่งเดือน ระหว่างที่ขึ้นไปถ่ายเนี่ย ทุกคืนเขาก็จะต้องนั่งดูบทซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่เครียดมากสำหรับเด็ก 9 ขวบ เรื่องภาษานี่ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก
Q ส่วนตัวผู้กำกับมีความรู้สึกประทับใจกับน้องแคนดี้อย่างไรบ้าง
ด้วยความที่น้องเขาเป็นเด็กลูกครึ่งญี่ปุ่น คือตอนที่ดูรูป ตกใจที่ชื่อน้องเขาคือฟูอาน่า หน้าเขาน่ารัก ด้วยความธรรมดาของเขาก็น่ารักอยู่แล้ว แล้วพอตอนยิ้มยิ่งน่ารักเข้าไปใหญ่ แล้วพอไปแคสไปออดิชั่นรวมถึงการฝึกการแสดง และระยะเวลาที่เวิร์กชอปด้วยกัน จะรู้เลยว่าน้องเป็นเด็กแก่น ก็เลยรู้สึกว่านี่แหละที่เป็นไปตามที่เราอยากได้ เพราะจะมีเด็กมาหลายแบบ บางคนก็แต่งสวยมาเลย อย่างแคนดี้ตอนทำงานจริงก็มีงอแงบ้างนิดหน่อย เพราะเด็กก็คือเด็ก เขาพยามตั้งใจแล้ว ถ้าเปรียบเทียบจากที่เราเคยกำกับเด็กมา ถือว่าน้องมีความอดทนและมีความสามารถมาก จากเชียงใหม่เขาต้องมาอยู่กับเรา ก็ต้องไปนอนอยู่หมู่บ้านชาวเขา ไม่ได้อยู่บ้านตัวเองที่เชียงใหม่ ไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้เที่ยวอะไรเลย กลางคืนก็ต้องท่องบท แรกๆ เขาก็มีอึ้งมีงอแงนิดหน่อย แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ เขาก็เริ่มสนุก ซึ่งเขาเป็นคนแก่นอยู่แล้ว วันไหนพักถ่ายเขาก็จะไปเดินเล่นน้ำตก ไปเดินดูต้นไม้ ก็เลยดูกลมกลืนกับคาแรกเตอร์ที่ได้รับไปในตัว
Q พูดถึงนักแสดงสาวพิม-พิมพรรณที่มารับบทเป็นพี่แป้นกลุ่ม กระจกเงา
เราคิดว่าพิมสวยแบบไทยๆ ไม่ได้สวยแบบฉูดฉาดมาก แล้วความที่เขาเป็นแบบนี้ทำให้ดูที่จะเป็นหัวหน้าชุมชนได้ แล้วตาพิมเขาดูมีอะไรที่แน่วแน่ คนที่จะทำมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือคนอื่นได้เนี่ย จะต้องดูมีคาแรกเตอร์ที่แข็งและแน่วแน่
Q สำหรับตัวละครครูแป้นซึ่งเป็นบุคคลที่มีอยู่จริง ได้มีการอ้างอิงจากตัวจริงมากน้อยแค่ไหน
ก็อิงจากตัวจริงเลย คือคาแรกเตอร์ในภาพยนตร์ของกลุ่มกระจกเงาเนี่ยมีจริงทุกคน ทั้งพี่แป้น อาตี อาหม่า ก็เป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่นชาวเขาที่ทางกลุ่มกระจกเงามาเป็นอาสา และสอนให้รู้จักการตัดต่อ การถ่ายทำรายการทีวี สอนกระบวนการการออกอากาศ ซึ่งในตอนจบของเรื่องก็ตัดภาพเอาตัวจริงมาใส่ไว้ แล้วก็มีตัวจริงในเรื่องนี้ที่เล่นเป็นเด็กชาวเขาสามคน ปัจจุบันก็ยังทำงานอยู่ที่กระจกเงา
Qการที่ต้องขึ้นไปถ่ายทำบนดอยเป็นระยะเวลานานขนาดนั้น ต้องมีการปรับตัวหรือใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง
คือทีมงานทั้งหมดอาศัยกันอยู่บนดอย อยู่ถ่ายทำกันอยู่ที่นั่นหนึ่งเดือน คือเราเข้าไปอยู่ในป่าในเขาเลยนะ บ้านชาวเขาก็ไม่มีทีวี เราไม่ได้ดูทีวีอยู่เป็นเดือน ไม่มีไฟฟ้า ไฟที่ใช้ก็มาเจอเครื่องปั่นไฟที่เราเอาขึ้นไป เพราะฉะนั้นถือว่าเพียวมากๆ เวลาของหมดก็ต้องลงไปซื้อในเมือง ซึ่งเราตุนไว้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ คือตอนที่เราไปอยู่จะมีกระบะโฟว์วีลไว้ใช้เคลื่อนย้าย ขนย้ายสิ่งต่างๆ เรามีนพช.มาคอยดูแลซึ่งก็เหมือนตชด. คอยถือปืนยาวยืนคุ้มกันพวกเรา เพราะว่าจะประมาทไม่ได้เพราะโซนที่เราไปถ่ายหนังไม่รู้ว่าจุดไหนเป็นจุดลำเลียงยา เพราะฉะนั้นเราก็มีระบบนพช.คอยดูแล ซึ่งทางการเขาส่งมาอยู่กับเรา ซึ่งก็ทำให้รุ้สึกปลอดภัย
Q พูดถึงนักแสดงชาวเขาที่มาร่วมแสดง ซึ่งเป็นชาวเขาจริงๆ มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้าง
ก็คงเป็นเรื่องของภาษา คือจุดที่พี่เลือกถ่ายทำเนี่ย ที่เราเซ็ทอัพหมู่บ้านเนี่ย เหนือกว่านั้นจะมีหมู่บ้านที่เพียว ซึ่งแลนสเคปไม่สวยเท่า ก็เมื่อเราคิดว่าจะตั้งเซ็ทถ่ายที่นี่ รวมทั้งการนำรถไปยังอีกหมู่บ้านนึงมันไปลำบากมาก ก็เลยดึงคนจากหมู่บ้านนี้ตี 5 จะนั่งโฟว์วีลไปถึงกองถ่าย คือเรารู้สึกว่าตัวแสดงประกอบมาจากหมู่บ้านข้างบน เดินทางแค่สิบนาทียี่สิบนาที เราก็รับเขามาทุกวัน มาเป็นเหมือนระบบโมเดลิ่งเลย ก็คือเราตั้งใจที่จะเอาชาวเขาจริงๆ มาเล่นอยู่แล้ว ต้องบอกเลยว่าพี่เป็นคน
ไม่เชื่อ ไม่ชอบทำอะไรที่มันไม่เรียลริสติก แล้วเวลากำกับผู้เฒ่าผู้แก่ตอนทำฉากเนี่ย ก็ต้องอยากให้เล่นเป็นตัวเขาอยู่แล้ว เช่น นั่งอยู่กับขอนไม้ นั่งอยู่กับเตาผิง เวลานั่งชงกาแฟ ดูดยาเส้น ก็เป็นตัวเขาเลย
Q การขึ้นไปถ่ายทำที่นั่นมันมีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไรบ้าง
ถ้าโดยทั่วไปการที่ไปถ่ายยังสถานที่จริง ข้อเสียก็คือเราต้องนับหนึ่งเราเริ่มต้นใหม่หมดเลย แล้วอย่างในเคสของหนังเรื่องนี้ก็คือ โลเคชั่นที่เราไปนับหนึ่งเริ่มต้นใหม่เนี่ย ไม่มีอะไรเลย ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า เพราะฉะนั้นก็ต้องวัดกันที่ใจจริงๆ ทั้งตัวผู้กำกับ ทีมงาน นักแสดง เพราะว่าจากคนเมืองที่ได้ดูทีวีทุกวัน ต้องมาอยู่ที่นี่ทุกวัน แล้วข้าวของเสื้อผ้าก็ต้องซักเองหมด แต่ทุกคนก็พร้อม มันเหมือนวันหนึ่งที่พอเราโตขึ้น แล้วนึกโหยหาย้อนไปสมัยตอนเข้าค่ายที่โรงเรียน พออยู่ด้วยกันทุกคนก็มีความสามัคคีและรักกันมาก พอวันปิดกล้องนี่มีร้องไห้กันเลย ก็อยู่กันเดือนหนึ่งเจอหน้ากันทุกวัน คือตื่นเช้ามาล้างหน้าแปรงฟันกินข้าว ก็ถ่ายกันแถวนั้นเลย มันไม่มีพาร์ทที่ไม่เห็นกัน พอห้าโมงกว่าช่วงหน้าหนาวแดดมันหมดเร็ว ใครจะอาบน้ำก็อาบไป เราก็จะวิ่งอาบน้ำเสียงดังเลย เพราะว่าน้ำมันเย็นมาก ทีมงานทีมไฟก็เตะตะกร้อกัน พอถ่ายอะไรเสร็จก็เข้าบ้านนอนไม่มีการกลับบ้าน เราอยู่ด้วยกันเห็นกันตลอด สรุปแล้วข้อเสียคือการนับหนึ่งใหม่กับโลเคชั่นนี้ แต่เราก็มีความสุขที่จะทำ แต่ข้อดีมันคือความเรียลรีสติก ทั้งในแง่ของภาพและการเล่าเรื่อง ตัวแสดงก็อินขึ้น ตัวภาพก็ได้รายละเอียดที่สวย สำหรับเราที่ต้องกำกับเนี่ยก็ไปด้วยกับอารมณ์ตรงนั้น สำหรับตัวทีมงานก็มีความเข้าใจกับอารมณ์โดยรวมของหนังมากขึ้น
Qฉากไหนในหนังที่ชอบมากที่สุด
ก็คงเป็นฉากคีย์ซีน ที่เป็นไคล์แมกซ์ของเรื่อง เพราะว่าเราตั้งใจให้ฉากนี้เอาคนดูให้อยู่ ก็คือที่ชอบเพราะว่ามันคงเป็นซีนที่ให้อะไรกับคนดู แล้วก็เป็นซีนที่ยากที่ต้องกำกับเด็กด้วย คือเราต้องทำให้เด็กเล่นไปในแนวทางที่เราวางไว้ให้ได้ แล้วก็เป็นไนท์ซีนกับเด็กก็เลยต้องมีลูกงอแงบ้าง แล้วก็ที่ชอบ เพราะตัวน้องทำได้ดีมาก ตัวเราในฐานะที่เป็นผู้กำกับครั้งแรก ก็เลยรู้สึกว่าเราทำหน้าที่ในฉากนั้นได้ดีแล้ว แล้วก็ความหมายของฉากนั้นก็ดีมาก
Q แล้วใช้เทคนิคหรือแนะนำน้องแคนดี้อย่างไรสำหรับฉากนั้น
ก็ใช้วิธีปกติเลยคือ เราต้องไปเล่าเรื่องเศร้าๆ เผอิญว่าซีนนั้นตารางการถ่ายทำเราวางไว้เป็นวันท้ายๆ คือเหมือนกับจะปิดกล้องแล้ว ตลอดเวลาที่ขึ้นไปอยู่มันจะอยู่ด้วยกัน ทุกคนจะรักใคร่ปรองดองและสนุกกันมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่บิ้วท์กันแรกๆ ก็จะเป็นตรงนี้ ประมาณว่าจะจากกันแล้วนะ แล้วก็ให้นึกถึงเรื่องเศร้า คือพอหมี่จูพูดประโยคนั้นทุกคนร้องไห้หมดเลย ตัวเราก็ร้องไห้ คือทุกคนก็ช่วยกันส่ง ระหว่างที่เราบรีฟ ก็ร้องไห้ ก่อนจะเข้าฉากก็ไปนั่งคุยกับแคนดี้อยู่เกือบชั่วโมง เล่าเรื่องเศร้าบ้าง พูดถึงเรื่องที่เราจะจากกัน แล้วระหว่างถ่ายทำร้องกันทุกคน พอดีว่าเด็กต้องพูดกับกล้องด้วย ตากล้องยังร้องไห้เลย คือทุกคนก็อินไปกับเด็กด้วย
Q แล้วฉากไหนที่ยากบ้าง
คงเป็นฉากที่ต้องกำกับปู่ ซึ่งที่ต้องเล่นเป็นอาบ้อ เพราะว่าปู่หรืออาบ้อคนนี้เป็นชาวเขาจริงๆ คือปัจจุบันชาวเขาบางคนเนี่ย ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ก็ยังพูดไทยได้ถ้าหากว่ายังลงมาในเมืองบ้าง แต่คนที่เล่นเป็นปู่เนี่ย ไม่เลย เขาก็อยู่ในเมืองแต่เขาไม่พูดไทย เป็นรุ่นใหญ่มากจนกำกับยาก พูดด้วยแล้วมึนๆนิดหน่อย แล้วซีนนั้นหมี่จูต้องคุยระบายกับอาบ้อ ถือว่าต้องเล่นเป็นตัวแทนของความเข้าใจเด็ก หมี่จูก็ต้องพูดภาษาอาข่ากับเขา ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาไทย ซึ่งเราจะกำกับอาบ้อก็ยาก ก็เลยเครียดนิดหน่อย
Q อยากให้พูดถึงเสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้
เราคิดว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องก็มีเสน่ห์ของมันนะ คือตัวเราไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นไดเรกเตอร์ คือถ้าเรื่องไม่โดนจริงๆ ก็ไม่หยิบมาทำ ก็คือพี่คิดว่าในสังคมที่มีทุกอย่างมาหล่อหลอม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทั้งหลาย โทรศัพท์สถานีวิทยุ อุปกรณ์ดิจิตอลทั้งหมด แต่อีกที่หนึ่งที่เป็นคนเหมือนกันกับเรา เขากลับใช้สิ่งนี้ไปในทางที่เพียวมาก ใสมาก เช่นการใช้คลื่นวิทยุไปใช้ทำเป็นคลื่นโทรทัศน์ ใช้กล้องเพื่อที่จะทำรายการเพื่อที่จะสื่อสาร ให้ความรู้แก่ชุมชนของตัวเอง พี่ก็รู้สึกว่าตรงนี้คือเสน่ห์ มันก็คือว่าพี่จะพยายามเสนอวิถีชีวิตจากอันหนึ่งที่ไกลจากพวกเรามากนัก และสิ่งที่รู้สึกว่าเป็นเสน่ห์ที่สุดคือในจุดเล็กๆ ของจิตใจ พี่ว่าทุกคนต้องการคำว่าครอบครัว ก็อยากให้หนังของเราเป็นส่วนสะท้อนตรงนี้ รวมไปถึงความน่ารักของตัวละครแลบะบรรยากาศของหนัง คือถ้าได้เข้าไปดูจะได้เหมือนหลุดเข้าไปยังดินแดนที่สดใส แล้วก็โลกให้คติอะไรบางอย่าง
Q กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ให้อะไรกับเราบ้าง
ตอนที่ทำ ไม่คิดว่าได้ แต่ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองคล้ายๆหมี่จู คือตอนที่ทำเราไม่คิดว่าตัวเองจะได้อะไร ก็คืออยากบอกโลกแบบนี้ แต่ว่าตอนนี้พี่รู้สึกว่าที่หมี่จูกำลังพูดก็จริง คือตัวเราก็โหยหาครอบครัว เราก็เลยกลับไปมองพี่น้องของเรามากกว่าเดิม ในหน้าที่การงานเวลาเป็นโปรดิว ความรู้สึกจะอีกแบบ พอเป็นผู้กำกับความรู้สึกจะอีกแบบ ก็เลยรู้สึกดีใจที่ได้กำกับ ได้รู้สึกถึงการได้กำกับ ถ้าเป็นโปรดิวซ์จะมองไปอีกมุม อันนี้ทำให้เรารู้ว่าผู้กำกับต้องหนักขนาดไหน
Q คิดว่าคนดูจะได้อะไรกลับไป
พี่คาดหวังว่าคนดูจะได้ในแบบที่เราได้ ก็คือเรารู้สึกว่าตอนทำ เราต้องการนำเสนอในมุมของครอบครัว พูดถึงความรัก ก็ในเมื่อไม่มีธุระที่จะต้องจากกัน ไม่มีความตายมาพราก แล้วทำไมไม่อยู่ซะด้วยกัน จะไกลไปทำไมให้คิดถึง พอตอนที่หนังกำลังจะได้ฉาย เรายิ่งรู้สึกว่านี่คือตัวเรา พี่ว่าภาพยนตร์มีความหลากหลาย หนังเรื่องนี้ก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่ไกลตัว กลับเข้าไปสู้สังคมเล็กๆ จุดเล็กๆ ความคิดเล็กๆ แต่ว่ากลับยิ่งใหญ่อยู่ในใจ