iTAP กระตุ้นผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทย รักษามาตรฐาน GMP เพื่อธุรกิจยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Thursday July 24, 2008 12:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--สวทช.
โครงการ iTAP (สวทช.) จัดสัมมนาเชิงวิชาการการพัฒนาต่อยอดเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจเครื่องสำอางไทย หวังกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรักษามาตรฐานวิธีการผลิตที่ดี ( GMP ) ได้อย่างต่อเนื่อง หลังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจ GMP โรงงานผลิตเครื่องสำอางซ้ำ พบว่า ส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดความเข้มงวดในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ฯ สาเหตุหลักเกิดจาก “บุคลากร และเจ้าของกิจการ ”ปล่อยปละละเลย แนะ เร่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง เกรงจะส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจเครื่องสำอางโดยรวมของไทย
หลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี หรือ GMP เป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เพราะนอกจากส่งผลให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้คุณภาพมาตรฐานสม่ำเสมอ และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าและผู้บริโภค แต่การจะรักษามาตรฐานให้คงอยู่ตลอดไปนั้น นับเป็นสิ่งที่ยาก ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะรักษาวิธีการผลิตที่ดีหรือมาตรฐาน GMP ให้มีความยั่งยืนแก่ธุรกิจต่อไปได้
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. ) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและระบบการจัดการสู่มาตรฐานวิธีการผลิตที่ดี( GMP )มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาต่อยอดเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ” ขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการเครื่องสำอางที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นางสาวสนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า เนื่องจากปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) กับบริษัทที่ผ่านการรับรองก่อนหน้า เพื่อประเมินว่าบริษัทจะสามารถรักษาระบบการผลิตที่ดีได้หรือไม่ เพื่อการต่ออายุใบรับรอง ( มีระยะเวลา 1 - 2 ปี ) และ การตรวจเพื่อให้ใบรับรอง
จากการตรวจซ้ำของ อย. พบปัญหาว่า มาตรฐานการผลิตของบริษัทเหล่านั้นถูกปล่อยปละละเลย ลดความเข้มงวดในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จึงต้องพิจารณาทบทวนถึงสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นว่าสาเหตุใดที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถรักษามาตรฐานได้ เพื่อนำมาวิเคราะห์ และเร่งหาวิธีการแก้ไขต่อไป ทางโครงการ iTAP จึงได้จัดสัมมนาดังกล่าวขึ้นเพื่อรับฟังความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการยังคงสามารถรักษามาตรฐานที่ดีอย่างต่อเนื่องได้ย่างยั่งยืน
“ ปัญหาส่วนใหญ่มาจากบุคลากรของบริษัท และวัฒนธรรมองค์กร รวมถึงสาเหตุที่มาจากผู้บริหาร หรือ เจ้าของกิจการซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการตัดสินใจในการวางแผน หรือ ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพ โครงการ iTAP จึงหวังที่จะจุดประกายให้กับผู้บริหารและเจ้าของกิจการได้หันมาทบทวนและเปรียบเทียบธุรกิจของตนเองกับสถานการณ์การแข่งขันของโลกในปัจจุบันว่าธุรกิจของเรายังต้องมีการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีอะไรเพิ่มเติม เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจต่อไปได้ อาทิ การนำเอาหลักวิชาการด้านวิศวอุตสาหการ ซึ่งถือเป็นเทคนิคที่ดีในการจัดการโรงงานไปประยุกต์ใช้มากขึ้น , การนำข้อมูลหรือสถิติมาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อการตัดสินใจดีขึ้น ฯลฯ ” ผอ.โครงการ iTAP กล่าว
ด้าน ภก.มนตรี ถนอมเกียรติ ที่ปรึกษาอิสระด้าน GMP ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำข้อมูลต่างๆ ที่มีการจดบันทึกไว้มาใช้วิเคราะห์ จะทำให้รู้ถึงสาเหตุหลักที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละกระบวนการผลิตซึ่งสามารถนำมาวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ถูกจุด และเพื่อไม่ให้ปัญหานั้นกลับมาเกิดขึ้นอีก แต่ที่ผ่านมาโรงงานส่วนใหญ่มักไม่ค่อยนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ประโยชน์มากนัก
“ ยืนยันว่าการวิเคราะห์ข้อมูลจะสามารถนำไปแก้ไขปัญหาได้จริง และผลที่ได้จะช่วยลดความเสียหายในกระบวนการผลิตทั้งระบบลงได้ โดยเฉพาะความเสียหายที่มองไม่เห็น อาทิ ความพึงพอใจของลูกค้า หากสินค้าที่ผลิตไม่ตรงความต้องการอาจต้องเสียลูกค้าให้กับคู่แข่งที่ปัจจุบันมีอยู่มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ หากผู้ประกอบการไม่เร่งทบทวนหาสาเหตุ และนำไปสู่วิธีการแก้ไขโดยเร็วที่สุด”
สำหรับเครื่องมือที่ใช้สำหรับวิเคราะห์ระบบคุณภาพกระบวนการผลิต อาทิ การประเมินความเสี่ยง หรือ การทำ Quality Risk Management , Qualification and Validation และ Quality Management Review แม้ไม่ใช่ความรู้หรือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงแต่เป็นรายละเอียดเชิงลึกในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการผลิตตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ แหล่งที่มา กระบวนการผลิตแต่ละขั้นตอน จนถึงการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการกระบวนการผลิตได้อย่างมีสติที่ดีมากขึ้น แม้อาจต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่เป็นต้นทุนเชิงป้องกัน ส่งผลให้ธุรกิจยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
“ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ทุกคนเริ่มหันมารัดเข็มขัดอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่ไม่หวือหวาเหมือนในอดีต แต่ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะหันมาทบทวนการทำมาตรฐาน GMP และรักษามาตรฐานเอาไว้ให้ได้ เพื่อจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้จริง แม้ว่าการทำ GMP จะมีต้นทุนสูงขึ้นบ้างในระยะแรก แต่จะช่วยลดต้นทุนที่เกิดจากความสูญเสียลงได้ในระยะยาว ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นถือต้นทุนเชิงปัองกันการล้มเหลวหรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตได้ ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนภายใน 1-2 ปี ” ภก.มนตรี กล่าว
นางอธิชา ฉันทวานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมมิตรมงคล จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องสำอางรายใหญ่ และเจ้าของผลิตภัณฑ์สปา “Prann” กล่าวยอมรับว่า จากสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้คนหันมาใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทอยู่บ้าง และเพื่อให้บริษัทยังคงประคองธุรกิจต่อไปได้ บริษัทจึงพยายามหาวิธีที่จะช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นลง ทั้งการลดต้นทุนการผลิตในทุกส่วน การรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น และเน้นการควบคุมคุณภาพการผลิตที่ดี
“ต้องยอมรับว่าขณะนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กำลังประสบ โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมคุณภาพ(QC) หากสามารถควบคุมคุณภาพได้ดี จะทำให้ลดต้นทุนการตรวจสอบ และลดขั้นตอนการตรวจซ้ำลงได้ ทำให้มั่นใจในคุณภาพเพิ่มขึ้น แม้ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นแต่ไม่เป็นภาระกับบริษัทมากนัก เพราะเป็นต้นทุนที่ถูกกว่าต้นทุนด้านอื่นๆ เมื่อเทียบกับสิ่งที่จะได้รับกลับมา จึงนับเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอย่างมาก ”
ผู้ประกอบการที่สนใจต้องการขอรับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณน้ำทิพย์ เจริญอนงค์ และคุณภัคจิรา สุขสว่าง โทรศัพท์หมายเลข 0-2564 -7000 ต่อ 1365 และ 1363 หรือที่อีเมล์ numtip@tmc.nstda.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ