คนกรุงฯ เทใจโหวต ! ซีเอสอาร์ต้องหนุนการศึกษา

ข่าวทั่วไป Thursday July 24, 2008 16:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์
- ร้อยละ 90 ยินดีจ่ายแพงกว่า หากสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้
- ที่หนึ่งในใจ เรื่อง CSR ต้อง เบียร์ช้าง
- คนไทยให้คะแนนนายจ้างตนเองเรื่องการทำ CSR แค่ “ปานกลาง”
ผู้บริโภคชาวไทยร้อยละ 90 เผยยินดีซื้อสินค้า หากสินค้าเหล่านั้นมีส่วนในการรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ผู้บริโภคกว่า 36% ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “CSR” (Corporate Social Responsibility) หรือ “ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร” ในด้านการสนับสนุนการศึกษาเพื่อเยาวชนเป็นหลัก และนี่คือ ส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยถึงทรรศนะคติของผู้บริโภคในปัจจุบันที่เปิดเผยโดย
บริษัท วีโร่ พับลิค รีเลชั่นส์ จำกัด (Vero Public Relations Co., Ltd.) บริษัทที่ปรึกษาด้านการทำประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีที่ทำการอยู่ที่ประเทศไทย และเวียดนาม (โฮจิมินฮ์) โดยมี บริษัท บีเอ็มอาร์เอส เอเชีย จำกัด (BMRS Asia Co., Ltd.) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยตลาดชั้นนำเป็นผู้ดำเนินการสำรวจ
ผลการศึกษาฉบับเต็มสามารถหาอ่านได้ที่ www.BMRS-Asia.com และ www.veropr.com.
มร. ไบรอัน กริฟฟิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีโร่ พับลิค รีเลชั่นส์ กล่าวว่า “ผลการศึกษาบอกเราว่า กิจกรรมเพื่อสังคมเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ และองค์กรต่างๆ สามารถใช้สาส์นนี้ในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้ ซึ่งหากองค์กรใดสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งที่สังคมกำลังให้ความสำคัญ องค์กรนั้นย่อมสามารถสื่อสาร และเข้าถึงจิตใจของผู้บริโภคได้มากกว่าอย่างแน่นอน”
แม้รายงานบางฉบับกล่าวว่า อาจไม่มีความสัมพันธ์กันระหว่างผลการตอบแบบสอบถาม และการตัดสินใจซื้อจริงของผู้บริโภค แต่มร. แอนดี้ โกเวอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีเอ็มอาร์เอส เอเชีย กล่าวว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ห่วงใย และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน
“จากผลสำรวจถึง 98% ของคนกรุงเทพฯ ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับกิจกรรม CSR ซึ่งในจำนวนที่เท่ากันนี้ เห็นว่า ทุกองค์กรควรตอบรับในเรื่องของการทำกิจกรรม CSR ด้วย” มร. โกเวอร์ กล่าวต่อว่า “การทำประโยชน์ให้กับสังคม เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังมากับสังคมไทย และดูเหมือนว่าได้กลายเป็นความปรารถนาที่จะเห็นองค์กรธุรกิจเข้ามามีส่วนในกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างจริงจัง”
คุณอาทิมา ตันติกุล Senior Account Director บริษัท วีโร่ พับลิค รีเลชั่นส์ กล่าวเสริมว่า “CSR ไม่ใช่เพียงคำพูดสวยหรู ที่จะใช้กล่าวกันเฉพาะในห้องประชุมกรรมการบริษัทอีกต่อไป หากแต่องค์กรจะต้องสื่อสารให้ลูกค้าได้รับทราบถึงกิจกรรม หรือวิถีทางที่สินค้าขององค์กร ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุน หรือช่วยเหลือสังคม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางบวก และเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ซึ่งเรามีความเชื่อเหลือเกินว่า ถึงแม้ว่าสินค้าเหล่านั้นจะมีราคาที่สูงกว่าปกติเล็กน้อย แต่คนไทยก็ยังยินดีที่จะซื้อ”
เยาวชนกับการศึกษา
จากผลสำรวจชี้ชัดว่า องค์กรต่างๆในสังคมไทย ควรทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยเน้นย้ำไปที่เรื่องการศึกษาของเยาวชน โดย 26% มีความเห็นว่าการให้การศึกษาเป็นรูปแบบการทำ CSR ที่ดีที่สุด และ 18% คิดว่าเป็นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ การปลูกป่า การอนุรักษ์ต้นโกงกาง เป็นลำดับถัดมา
ผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนนายจ้างของตนแค่ “ปานกลาง”
ผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่งให้คะแนนบริษัทนายจ้างของตนเพียงแค่ปานกลางเท่านั้น ในแง่ของความพยายามดำเนินกิจกรรมด้าน CSR และเนื่องจากพนักงานเป็นผู้รับสาส์นสำคัญกลุ่มหนึ่งขององค์กร คุณอาทิมาจึงมองว่านี่เป็นสิ่งที่องค์กรต้องเร่งแก้ไข
“เราเชื่อว่า ทุกองค์กรสามารถปรับเปลี่ยนสถานการณ์นี้ได้ แต่ต้องเริ่มจากการสื่อสารกันภายในองค์กรก่อน” คุณอาทิมา กล่าวเสริม “วารสารข่าวภายในองค์กร (Newsletter) อาจดูเหมือนเป็นการสื่อสารที่ล้าสมัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันกลับเป็นช่องทางการสื่อสารที่ดีที่สุด ที่จะบอกพนักงานถึงกลยุทธ์ ความสำเร็จ และแน่นอนย่อมหมายถึงการบอกกล่าวเกี่ยวกับกิจกรรม CSR ด้วย ลองคิดดูว่า หากในทุกไตรมาส คุณจัดส่งวารสารไปยังบ้านของพนักงานทุกคนในบริษัท ไม่เพียงแค่พนักงานเท่านั้นที่จะได้รับรู้ข่าวสารของคุณ แต่ยังหมายรวมถึงสมาชิกในบ้านของพนักงานที่จะได้รับรู้ถึงกิจกรรม หรือสิ่งที่คุณทำอยู่ด้วย”
เบียร์ช้าง ที่หนึ่งในใจแห่งการจดจำ
จากการศึกษา และสอบถามถึงการจดจำของการทำกิจกรรม CSR ผลสำรวจถึง 32% เห็นตรงกันว่า “เบียร์ช้าง” กับกิจกรรมบริจาคผ้าห่มให้ผู้ประสบภัยหนาวในภาคเหนือของไทย สามารถตอกย้ำ และสร้างการจดจำกับกิจกรรม CSR ได้อย่างดีที่สุด
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมเบียร์ช้างจึงสามารถสร้างความประทับใจในฐานะองค์กรที่ห่วงใยสังคมได้” มร.โกเวอร์กล่าว “แนวคิดเรื่องการบริจาคผ้าห่มไม่เพียงแต่โดนใจประชาชนเท่านั้น แต่เบียร์ช้างยังสามารถสร้างการรับรู้ถึงกิจกรรม CSR ผ่านทางสื่อมวลชนได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ซึ่งมีอำนาจในการเผยแพร่ข่าวอย่างมีประสิทธิภาพ”
“นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่าผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 50% สามารถจดจำกิจกรรม CSR ขององค์กรอื่นๆ ได้แตกต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่จะจดจำได้ถึงกิจกรรม CSR ที่ให้การสนับสนุนในเรื่องทุนการศึกษา หรือกองทุนเพื่อเด็กยากจนในชนบท และมีเพียง 16% เท่านั้นที่ไม่สามารถจดจำชื่อองค์กรใดๆ ที่ทำกิจกรรม CSR ได้เลย” มร.โกเวอร์กล่าวต่อว่า “16% นี้ถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับผลสำรวจแบบเดียวกันนี้ในประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา ที่พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามถึง 2 ใน 3 ไม่สามารถจดจำองค์กรที่ทำกิจกรรม CSR ได้”
พลังสื่อมวลชนไทย
แม้ผลสำรวจจะชี้ชัดว่าสื่อที่สามารถเผยแพร่ และนำเสนอเรื่องราวของกิจกรรม CSR ที่เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด คือ สื่อโทรทัศน์ 25% (รวมถึงรายการข่าวด้วย) แต่หนังสือพิมพ์ (20%), นิตยสาร (12%), และอินเตอร์เน็ต (12%) ก็มีอิทธิพลมากเช่นกัน
ต่างวัย ต่างความคิด
ผลสำรวจพบว่ากลุ่มคนที่มีอายุต่างกัน มีความคิดเห็นในเรื่อง CSR ต่างกัน แม้คนทุกวัยเห็นพ้องว่าองค์กรธุรกิจควรดำเนินกิจการโดยมีความรับผิดชอบต่อสังคม (ผู้ตอบแบบสอบถาม 4 ใน 5 คนตอบว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งในข้อนี้) กลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป เห็นว่าธุรกิจปัจจุบันดำเนินการเรื่องนี้ได้ดีแล้ว ในขณะที่กลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปีไม่มั่นใจนัก โดยคนกลุ่มนี้มองว่าผู้บริโภคเองก็ควรมีบทบาทในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐหรือองค์กรธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว
เกี่ยวกับการสำรวจครั้งนี้
การสำรวจนี้ จัดทำขึ้นในเดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2551 โดยการสุ่มตัวอย่างสัมภาษณ์คนกรุงเทพ จำนวน 300 คน ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18-65 ปี ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงาน ทั้งนี้จำนวน 2 ใน 3 เป็นพนักงานบริษัท ซึ่งตัวเลขจากผลสำรวจ มีค่าความคลาดเคลื่อน +/- 6%
เกี่ยวกับ บีเอ็มอาร์เอส เอเชีย
บริษัท บีเอ็มอาร์เอส เอเชีย จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านงานวิจัย และผลการศึกษาด้านการตลาดในประเทศไทย ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าในเชิงของการศึกษาพฤติกรรม และทรรศนะคติของกลุ่มเป้าหมาย
เกี่ยวกับ วีโร่ พับลิค รีเลชั่นส์
บริษัท วีโร่ พับลิค รีเลชั่นส์ จำกัด คือ บริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีที่ทำการอยู่ 3 ประเทศ คือ อเมริกา (ชิคาโก), ประเทศไทย (กรุงเทพฯ) และเวียดนาม (โฮจิมินฮ์) วีโร่มีความเชี่ยวชาญในด้านการวางแผนงานประชาสัมพันธ์, สื่อสารองค์กร, สื่อสารการตลาด รวมถึงการวางแผนงานเพื่อดำเนินกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
อาทิมา ตันติกุล
วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์
โทร 0 2684 1551
อีเมล์
สุจิตรา ยิ่งเพิ่มมงคล
วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์
โทร 0 2684 1551
อีเมล์ sujittra@veropr.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ