ปภ. แนะวิธีเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในครอบครัว

ข่าวทั่วไป Thursday July 24, 2008 17:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะหลักการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ในระดับครอบครัว จัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภค ของใช้จำเป็นให้เพียงพอ วางแผนรับมือภัยพิบัติฉุกเฉินล่วงหน้า หมั่นฝึกซ้อมแผนเตรียมรับมือและอพยพหนีภัยพิบัติต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ กำหนดเส้นทางอพยพ จุดนัดพบ ที่ปลอดภัย รวมทั้งสอนให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นอย่างปลอดภัย
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลให้เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีแนวโน้มทวีความรุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้นเรื่อยๆ สร้างความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมหาศาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะหลักในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือภัยพิบัติในระดับครอบครัว ดังนี้ เตรียมเครื่องอุปโภคบริโภค อุปกรณ์หรือของใช้ที่จำเป็น เช่น มีด เชือก ยารักษาโรค ไฟฉาย ให้พอใช้อย่างน้อย ๓ วัน พกกระเป๋าที่บรรจุเอกสารสำคัญ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน สูติบัตร ติดตัวไว้ตลอดเวลา จัดเตรียมถุงอุปกรณ์ฉุกเฉินให้พร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดภัยพิบัติ และถ่ายสำเนาเอกสารเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต บัตรประกันสังคม ฯลฯ ไว้หลายๆชุดและเก็บไว้ในที่ปลอดภัยตามจุดต่างๆของบ้าน เรียนรู้ตำแหน่งและศึกษาวิธีการเปิดปิดของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ตำแหน่งประตูน้ำ (Valve) และคัตเอาท์ไฟฟ้า วาว์ลถังก๊าซ อีกทั้งควรศึกษาสถานที่ตั้งของสถานีตำรวจและสถานีดับเพลิงในพื้นที่ รวมทั้งสำรองเงินสดไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากถ้าไม่มีไฟฟ้า เครื่องบริการเงินด่วน (ATM) จะไม่สามารถทำงานได้ อีกทั้งควรจดชื่อ — นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ของสมาชิกในครอบครัว หรือญาติที่อยู่ต่างจังหวัด เพื่อใช้สำหรับติดต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น เสียชีวิต สูญหาย เป็นต้น หากมีเด็กอาศัยอยู่ ให้เขียนชื่อ — นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ผู้ปกครอง ติดไว้กับเสื้อผ้าของเด็ก เพื่อป้องกันการพลัดหลงจากการอพยพหนีภัย กรณีสมาชิกในครอบครัวพูดภาษาไทยไม่ได้ ให้เตรียมแผ่นการ์ดเขียนเป็นภาษาไทยระบุชื่อบุคคล ที่อยู่ และความต้องการพิเศษ เช่น โรคประจำตัว อาการแพ้ยา พกติดตัวไว้ตลอดเวลา สำหรับหัวหน้าครอบครัวควรวางแผนรับมือภัยพิบัติ และสอนให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวเรียนรู้เส้นทางหนีภัย พื้นที่ปลอดภัย และการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นอย่างปลอดภัย หมั่นฝึกซ้อมการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติและการอพยพหลบภัยตามเส้นทางที่ปลอดภัยอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง รวมทั้งกำหนดสถานที่ปลอดภัยภายในที่อยู่อาศัยเผื่อไว้หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งกำหนดเส้นทางอพยพหรือจุดนัดพบที่ปลอดภัยภายหลังภัยพิบัติสิ้นสุดลง จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้มีความปลอดภัย ด้วยการหมั่นซ่อมแซมโครงสร้างอาคารบ้านเรือนให้มีความมั่นคงแข็งแรง มีประตูทางออกหลายด้าน และจัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบไม่กีดขวางเส้นทางออกบริเวณประตู บันได หรือระเบียงบ้าน ในกรณี ที่เกิดภัยพิบัติ ควรให้ความช่วยเหลือเด็กและผู้สูงอายุก่อน รวมทั้งรีบอพยพออกจากพื้นที่เกิดภัยอย่างเร่งด่วน อย่ามัวแต่ห่วงทรัพย์สิน เพราะชีวิตมีความสำคัญมากกว่า จะเห็นได้ว่า ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น การเตรียม ความพร้อมรับมือภัยพิบัติในระดับครอบครัว จึงถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ