ก.ตาชั่ง หนุนเติมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน พัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย

ข่าวทั่วไป Friday July 25, 2008 10:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--กรมสอบสวนคดีพิเศษ
กระทรวงยุติธรรม จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะการเพิ่มพูนความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมขณะเดียวกันก็ต้องให้ความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากที่สุด ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องตามปฎิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้เมื่อ 60 ปีที่แล้ว และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ในการสัมมนาโครงการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 กรกฎาคม 2551 ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ฯ โดยมีผู้บริหารและข้าราชการจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และผู้สังเกตการณ์จากสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ ประจำประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานโครงการความร่วมมือสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จำนวนกว่า 160 คน เข้าร่วมงาน
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การส่งเสริมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันในเวทีโลกนั้นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการแก้ไข สำหรับประเทศไทยความเจริญทางด้านวัตถุที่ก้าวไปไกลในเมืองไทย ทำให้การสรรหาสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมจริง ๆ ในวงการกระบวนการยุติธรรมยังมีปัญหา กล่าวคือ สิ่งที่ควรจะได้รับก็ไม่ได้รับในทางปฏิบัติ เช่น เรื่องสิทธิของผู้ต้องหาที่ควรมีการบอกกล่าวให้รู้ถึงสิทธิของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง การออกหมายจับและเมื่อจับมาแล้วก็มีการปฏิบัติดูแลที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องเข้าใจ และตระหนัก ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง และปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ ไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมมี 3 กรมที่เกี่ยวข้อง คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำหรับดีเอสไอเป็นหน่วยงานใหม่ซึ่งเราอยากให้มีความพร้อมในการปรับตัวเองเข้ากับแนวยุติธรรมใหม่ที่กว้างกว่าระดับภายในประเทศซึ่งในสองวันนี้จะมีการคุยกันอย่างกว้างขวาง และจะนำไปสู่การกำหนดหลักสูตรการจัดอบรม หรือ workshop เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
“เราถูกถามบ่อยๆ เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องโน้นเรื่องนี้ซึ่งก็อาจเป็นข้อเท็จจริงอยู่บางส่วน และในเวทีนี้ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้ชี้แจงกับต่างประเทศได้รู้ว่าเรากำลังทำอยู่และทำอย่างจริงจัง” รมว.ยุติธรรมกล่าวพร้อมเผยด้วยว่า ในช่วงที่มารับงานก.ยุติธรรมใหม่ ๆ ได้คุยกับ Dr.Friedrich Hamburger Ambassador Head of Delegation, EU Delegation ซึ่งให้ความสนใจในเรื่องนี้ และตนได้ยืนยันไปว่าไม่จริง เพราะเราก็มีความพร้อมที่จะทำและทำมาอย่างต่อเนื่อง และในส่วนของกระทรวงยุติธรรมเราก็ได้เริ่มแล้ว ซึ่งสถานเอกอัคราชทูตหลายประเทศก็ให้ความสนใจและเข้าร่วมสังเกตการณ์ เนื่องจากชื่นชมในแนวทางที่กระทรวงยุติธรรมทำ
นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และได้ให้สัตยาบันปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2491 และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตามพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่จะก่อให้เกิดสันติภาพในประเทศสมาชิกร่วมองค์การและสังคมระหว่างประเทศ ประกอบกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญกับการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสิทธิมนุษยชน ดังนั้นการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน ที่เป็นมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลของสหประชาชาติ และการสร้างจิตสำนึกให้เกิดความตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิมนุษยชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีภารกิจหน้าที่ในด้านการบังคับใช้กฎหมาย และการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนของกระทรวงยุติธรรม โครงการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย จึงเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลของสหประชาชาติ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยไม่เกิดการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายกับสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษในฐานะเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ในการสืบสวนสอบสวน ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมคดีพิเศษต่าง ๆ เป็นการปฏิบัติงานใกล้ชิดกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ผ่านมาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ในฐานะเป็นพนักงานสอบสวน ก็มีความรู้ความเข้าใจตามกฎหมายไทย ซึ่งก็ให้ผลในระดับหนึ่ง แต่หากได้เรียนรู้ไปถึงรากเหง้าของกระบวนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในมุมมองที่เป็นสากล ก็จะทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง อีกทั้งการได้เรียนรู้ Best Practice วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด ของหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล จะทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอมีประสิทธิภาพ และด้วยวิธีการที่ถูกต้องทั้งตามกฎหมายและตามหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากล
ทั้งนี้ ดีเอสไอมีความมุ่งมั่นตั้งใจเต็มที่ว่าจะต้องควบคุมอาชญากรรมที่มีลักษณะคดีพิเศษให้ได้ แต่ขณะเดียวกันก็เคารพเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย ขณะนี้มีคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ดีเอสไอรับผิดชอบ แยกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1)กลุ่มคดีนักสิทธิมนุษยชนถูกทำร้าย เช่น คดีนายเจริญ วัดอักษร และ คดีพระสุพจน์ 2)กลุ่มคดีเจ้าหน้าที่รัฐอ้างการปฏิบัติตามนโยบายแล้วเกิดผลกระทบ เช่น การปราบปรามยาเสพติด การฆ่าตัดตอน หรือกรณีปัญหาก่อการร้ายภาคใต้ 3) กลุ่มคดีเกี่ยวกับเด็ก ผู้หญิง และคนด้อยโอกาสถูกกระทำหรือหลอกลวงหรือการค้ามนุษย์ 4) กลุ่มคดีกรณีเจ้าหน้าที่รัฐไปละเมิดสิทธิหรือลุแก่อำนาจ เป็นต้น ถึงเวลาที่ดีเอสไอจะต้องสร้างความชัดเจนทั้งในเชิงนโยบายและวิธีการปฏิบัติที่ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ