ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ “บ. การบินไทย” เป็น “A+” จากเดิม “AA-” และจัดอันดับหุ้นกู้ใหม่ที่ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 25, 2008 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทเป็น “A+” จากเดิมที่ระดับ “AA-” ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 9,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A+” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนตัวลงเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในขณะที่ภาวะการแข่งขันยังคงรุนแรง โดยคาดว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลง ปัจจุบันต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงมีสัดส่วนประมาณ 40% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในขณะที่บริษัทมีการประกันความเสี่ยงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงไว้เพียง 20%-30% ของปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในหนึ่งปี นอกจากนี้ ฝูงบินของบริษัทก็มีอายุการใช้งานค่อนข้างมาก ดังนั้น บริษัทจึงต้องมีการลงทุนค่อนข้างสูงในแต่ละปีเพื่อจัดหาเครื่องบินใหม่มาใช้ทดแทน จึงคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงต่อไป อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทยังคงสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจการบินระหว่างประเทศในเส้นทางที่บินเข้าและออกจากประเทศไทยและการได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิก Star Alliance ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรสายการบินที่ใหญ่ที่สุด รวมถึงการที่บริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจและมีสถานภาพเป็นสายการบินแห่งชาติและได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงานจากรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ปัจจุบันรัฐบาลไทยถือหุ้นโดยตรงในบริษัทในสัดส่วน 51.0% และธนาคารออมสินถือ 2.7% นอกจากนี้ยังมีกองทุนวายุภักษ์ซึ่งจัดตั้งโดยกระทรวงการคลังเพื่อลงทุนในรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญในสัดส่วน 17.2%
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทการบินไทยจะสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจการบินระหว่างประเทศเอาไว้ได้และยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ต่อไปโดยเฉพาะในช่วงที่บริษัทเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติ นอกจากนี้ ยังคาดว่าการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะช่วยดำรงระดับกระแสเงินสดของบริษัทไว้ที่ระดับปัจจุบัน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทขึ้นอยู่กับความสามารถในการเพิ่มรายได้ ความสำเร็จในการลดต้นทุน และการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานเป็นสำคัญ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทการบินไทยเป็นหนึ่งในสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเซีย ณ เดือนมีนาคม 2551 บริษัทให้บริการเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ณ สนามบินปลายทาง 63 แห่งทั่วโลก ด้วยเที่ยวบินจำนวนกว่า 567 เที่ยวต่อสัปดาห์ บริษัทได้รับประโยชน์จากการมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในเส้นทางการบินระหว่างประเทศมาเป็นเวลายาวนานด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 40% ของจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติของไทย แม้ส่วนแบ่งทางการตลาดดังกล่าวของบริษัท จะลดลงจาก 45% ในปี 2546 มาอยู่ที่ประมาณ 40% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงสูงกว่าสายการบินอันดับสองเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะผู้นำในเส้นทางการบินระหว่างประเทศที่มีประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้น ในฐานะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง Star Alliance บริษัทได้รับประโยชน์จากการขยายเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมและกว้างขวางยิ่งขึ้นผ่านระบบ Code Sharing กับสายการบินพันธมิตร รวมทั้งการได้รับสิทธิ์ในการใช้ตราสัญลักษณ์ Star Alliance ทั่วโลก การใช้โปรแกรมบินประจำ (Frequent Flyer Program) และการร่วมกิจกรรมด้านการตลาดและด้านการประหยัดต้นทุน เป็นต้น
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทการบินไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงของเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรง และต้นทุนในการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น ในเดือนกรกฎาคม 2551 บริษัทระงับการให้บริการในเส้นทางการบินระหว่างกรุงเทพฯ-นิวยอร์คเนื่องจากภาวะขาดทุนอย่างมากจากค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งบริษัทไม่สามารถผลักภาระดังกล่าวไปยังผู้โดยสารได้ทั้งหมดแม้บริษัทจะมีการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นระยะก็ตาม ทั้งนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท โดยเส้นทางการบินระยะไกลนั้นได้รับผลกระทบมากสุด ดังนั้น บริษัทจึงต้องบริหารจัดการจำนวนเที่ยวบินในแต่ละเส้นทางให้เหมาะสมเพื่อควบคุมต้นทุน
อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทการบินไทยลดลงจาก 25% ในปี 2546-2547 เป็นประมาณ 16%-18% ในระหว่างปี 2548-2550 และคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 14%-15% หากราคาน้ำมันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอาจทำให้บริษัทขาดทุนจากการจำหน่ายเครื่องบินจำนวน 4 ลำที่ใช้ในเส้นทางกรุงเทพฯ-นิวยอร์ค ในด้านฐานะสภาพคล่องทางการเงินนั้นแม้ว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในรอบปีบัญชี 2550 แต่อัตราส่วนดังกล่าวคาดว่าจะปรับลดลงเนื่องจากผลการดำเนินงานที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ภาระหนี้ของบริษัทยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 68% เนื่องจากบริษัทจะต้องมีการลงทุนเพื่อดำรงความสามารถในการแข่งขัน จึงคาดว่าภาระหนี้ในอนาคตของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับในปัจจุบัน
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI)
อันดับเครดิตองค์กร: ลดลงเป็น A+ จาก AA-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
THAI08OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2551 ลดลงเป็น A+ จาก AA-
THAI09OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 7,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2552 ลดลงเป็น A+ จาก AA-
THAI10OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 4,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 ลดลงเป็น A+ จาก AA-
THAI10NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 ลดลงเป็น A+ จาก AA-
THAI115A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 ลดลงเป็น A+ จาก AA-
THAI11OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 4,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 ลดลงเป็น A+ จาก AA-
THAI12NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 4,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 ลดลงเป็น A+ จาก AA-
THAI14OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 ลดลงเป็น A+ จาก AA-
THAI155A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 ลดลงเป็น A+ จาก AA-
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 9,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2561 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ