DSI ย้อนรอยบทเรียน 7 คดีพิเศษ....รู้ทันเล่ห์อาชญากร

ข่าวทั่วไป Monday July 28, 2008 11:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--กรมสอบสวนคดีพิเศษ
ดีเอสไอยึดหลัก “ทำไปเรียนรู้ไป” ใช้การจัดการความรู้สร้างบทเรียนจากการปฏิบัติพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะของบุคลากรดีเอสไอและหน่วยงานเกี่ยวข้อง ด้วยการยก 7 กรณีศึกษาการสอบสวนคดีพิเศษที่ทำได้ดีในปี 2550 ศึกษาเชิงลึกถึงรูปแบบและวิธีการกระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นคดีพิเศษ เพื่อรู้ทันเล่ห์อาชญากรร้ายและสามารถวางแผนจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คลี่คลายคดีสำคัญให้สำเร็จ
เมื่อเร็ว ๆ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ได้จัดให้มีการสัมมนารายงานการศึกษารูปแบบและวิธีการกระทำผิดที่มีลักษณะเป็นคดีพิเศษ โดยมีการนำเสนอผลการศึกษา 7 คดีพิเศษ คือ 1) กรณีการใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อสนับสนุนคดีพิเศษเกี่ยวกับการกระทำความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ 2) คดีเครดิตฟองซิเอร์กับผลกระทบในการเงินนอกระบบ 3) คดีการทุจริตขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออก 4) คดีการโจรกรรมโดเมนเนมของ บริษัทพี จำกัด และบริษัท อี จำกัด 5) คดีการทุจริตบัตรเครดิต 6) คดีการหลอกลวงให้ซื้อขายทองคำรูปพรรณ และ 7) คดีการละเมิดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยในครั้งนี้มีบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในระดับผู้บริหาร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กว่า 130 คน
ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวในการเป็นประธานเปิดการสัมมนาว่า การทำงานวิจัยเพื่อการพัฒนา ที่เป็นการค้นหาความรู้ ความจริงที่นำไปใช้ในการแก้ปัญหาได้ จะทำให้ดีเอสไอสามารถพัฒนาบุคลากรให้มีความเป็นเลิศด้านการสืบสวนสอบสวนในแต่ละด้านได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาให้ความรู้เหมือนในอดีต และหากนำเรื่องการจัดการความรู้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถใช้วีธีการได้หลากหลาย เช่น การนำประสบการณ์ทำคดีสำคัญ ๆ มาสังเคราะห์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในทีมหรือข้ามทีม จะเป็นการสร้างและพัฒนาความรู้จากการปฏิบัติ เป็นกระบวนการพัฒนาความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์กร สร้างความเป็นเลิศทางการสอบสวน และสร้างความเข้มแข็งให้กับดีเอสไอได้ในที่สุด
ในครั้งนี้ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้บรรยายพิเศษ เรื่องแนวโน้มรูปแบบและวิธีการกระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นคดีพิเศษ : กลยุทธ์การสืบสวนสอบสวน โดยกล่าวว่า การการพัฒนาบุคลากรของดีเอสไอสู่ความเชี่ยวชาญการสอบสวนคดีพิเศษ และมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ใน 2 ระดับ คือ 1) องค์ความรู้ที่ใช้ในงานกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะเรื่อง การสืบสวนสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งการทำงานของดีเอสไอในปัจจุบันไม่ใช่เสร็จแค่จับดำเนินคดีแต่ต้องมีการหาองค์องค์ความรู้จากการทำคดีนั้น ๆ ด้วย การทำงานสืบสวนของดีเอสไอต้องนำไปสู่ผู้อยู่เบื้องหลักหรือองค์กรใหญ่ให้ได้ 2) องค์ความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนา/ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ดีเอสไอจึงมีการปรับโครงสร้างเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายนั้น ซึ่งการศึกษารูปแบบและวิธีการกระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นคดีพิเศษจะทำให้ไปสู่ความสำเร็จได้
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนอยากให้บุคลากรดีเอสไอทุกคนช่วยกันสร้างนวัตกรรมองค์ความรู้ของดีเอสไอสู่ความเป็นเลิศ ด้วยการส่งผลงานที่ทำนำเสนอเข้ามาได้โดยตรง เยอะ ๆ ยิ่งดี ซึ่งผลงานและองค์ความรู้เหล่านี้จะมาช่วยเติมให้ห้องสมุดดีเอสไอเต็มไปด้วยผลงานและองค์ความรู้ที่มาจากความเชี่ยวชาญเฉพาะของคนดีเอสไอที่มีการพัฒนาต่อยอดกันไปเรื่อย ๆ เมื่อคนมาอ่านต่อก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้ ซึ่งมาตรการเรื่องนี้จะทำให้กรมไปข้างหน้า ทุกคนมีความสุขกับการทำงานและพัฒนาดีเอสไอให้ก้าวหน้าต่อไป
อย่างไรก็ตามในการนำเสนอผลการศึกษา 7 คดีพิเศษดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นรูปแบบและวิธีการกระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นคดีพิเศษ บทบาทการดำเนินงานของดีเอสไอ รวมทั้งปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไข ซึ่งเป็นบทเรียนรู้ต่อการปฏิบัติงานของดีเอสไอได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป อาทิ เช่น
สำนักเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ นำเสนอเรื่องการใช้เครื่องมือเพื่อสนับสนุนคดีพิเศษเกี่ยวกับการกระทำความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ การฮั้วประมูล โดยชี้ให้เห็นว่าในการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อมูลและพยานหลักฐานมากพอจะเอาผิดผู้กระทำความผิดได้นั้น บางครั้งจำเป็นต้องมีการนำเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ เช่น การดักฟังการสนทนา การสะกดรอย การบันทึกภาพและเสียง กรณี หรืออื่น ๆ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายให้อำนาจดำเนินการได้ โดยปัจจุบันสำนักงานเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ ได้มีการจัดหาและพัฒนาอุปกรณ์หรือเครื่องมือพิเศษในการสนับสนุนคดีพิเศษให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการปฏิบัติงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำไปสู่การดำเนินคดีให้ประสบผลสำเร็จได้
สำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ นำเสนอกรณีศึกษาเฉพาะ การทุจริตขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออก ซึ่งเป็นคดีพิเศษประเภทคดี ความผิดทางภาษีศุลกากร โดยเป็นการ นำพยานหลักฐานเท็จ(สำแดงเท็จ)มาแสดงเพื่อให้มีการจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออก มีมูลค่าความเสียหายทางคดีกว่า 1 พันล้านบาท ทั้งนี้จากการศึกษาทำให้ทราบถึงมาตรการ วิธีการ ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายส่งเสริมการส่งออกโดยหน่วยงานภาครัฐ ในกระบวนการส่งออกเพื่อขอรับเงินชดเชยตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรฯ พ.ศ.2524 รู้ถึงรูปแบบ ขั้นตอน และพิธีการศุลกากรในกระบวนการส่งออกเพื่อขอรับเงินชดเชย พ.ร.บ.ชดเชยค่าภาษีอากรฯ พ.ศ.2524 เห็นช่องว่างของกฎหมาย ตลอดจนประมวลระเบียบ ข้อบังคับต่างๆในกระบวนการส่งออกเพื่อขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร รู้ถึงเทคนิค วิธีการสืบสวนสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดนำสู่การกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปราม สามารถกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อการป้องกันปราบปรามการทุจริตส่งออกในเชิงบูรณาการได้
สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ นำเสนอกรณีการโจรกรรมโดเมนเนม ของ บริษัท พี จำกัด และบริษัท อี จำกัด (ทั้งสองบริษัทเป็นชื่อสมมติ) โดยเข้าไปใช้ Username และ Password ของบุคคลอื่นไปใช้โดยมิได้รับอนุญาต และในกรณีนี้ผู้กระทำผิดก็คือพนักงานหรือลูกจ้างที่ทำหน้าที่ดูแลโดเมนเนมของบริษัท จึงเป็นอุทาหรณ์ให้กับบริษัทอื่น ๆ พึงระวัง ส่วนในการสืบสวนจำเป็นต้องใช้เทคนิคทางคอมพิวเตอร์ร่วมด้วย เนื่องจากมีการกระทำความผิดที่สลับซับซ้อน มีบุคคลหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้อง มีความยุ่งยากในการเก็บรักษาพยานหลักฐาน ซึ่งหลักฐานส่วนใหญ่เป็นหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ และการตรวจพิสูจน์หลักฐานต้องใช้เทคนิคทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
สำนักคดีการเงินและการธนาคาร นำเสนอคดีความผิดการประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ กับผลกระทบในทางการเงินนอกระบบ โดยระบุว่า การกระทำความผิดอันเนื่องมาจากการกู้ยืมเงินนอกระบบ โดยใช้วิธีการดำเนินธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ เป็นปัญหาสำคัญของระบบเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง จากการที่ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งกู้ยืมเงินในระบบจึงต้องพึ่งพิงแหล่งกู้ยืมเงินนอกระบบ ซึ่งก็มีคนจำนวนหนึ่ง หาช่องทางในการเอาเปรียบโดยคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปยากที่ภาครัฐจะควบคุมได้หมด การดำเนินคดีโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ก็ต้องร่วมมือกันด้วย ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ เช่น ประชาสัมพันธ์สร้างความรุ้ความเข้าใจเรื่องธุรกิจการเงินนอกระบบ ทั้งความเสียหาย การถูกเอารัดเอาเปรียบให้แก่ประชาชน หรือการดึงธุรกิจการเงินนอกระบบเข้าสู่ระบบ การขอสินเชื่อการเงินในระบบให้ง่ายขึ้น เป็นต้น
ด้านนายภิญโญ ทองชัย รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า การยกประเด็นปัญหา ประสบการณ์ทำงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแบบนี้เป็นประโยชน์มาก อยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน สรุปบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และต่อยอดการทำงานเพื่อทำความหวังของประชาชนให้บรรลุผล ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการวางแผนและพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมในรูปแบบลักษณะคดีพิเศษ จึงไม่ใช่ปัญหาของบุคคลเฉพาะกลุ่ม หากแต่เป็นสิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อนำไปสู่กระบวนการหาสาเหตุ วิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ