ไอบีเอ็มเผยสุดยอดเทคโนโลยี ช่วยแพทย์รักษาทารกคลอดก่อนกำหนด

ข่าวเทคโนโลยี Monday July 28, 2008 12:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--ไอบีเอ็ม
ไอบีเอ็มเผยสุดยอดเทคโนโลยี ช่วยแพทย์รักษาทารกคลอดก่อนกำหนด ไอบีเอ็มจับมือสถาบันเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยออนตาริโอ พร้อมโรงพยาบาลในแคนาดา คิดค้นระบบประมวลข้อมูล เพื่อคาดการณ์สภาวะที่เปลี่ยนแปลงของทารก
ไอบีเอ็มและสถาบันเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยออนตาริโอ (University of Ontario Institute of Technology - UOIT) ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับโครงการวิจัยที่ก้าวล้ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบสภาวะที่เปลี่ยนแปลงของทารกที่คลอดก่อนกำหนดและมีอาการเจ็บป่วยขั้นรุนแรง
โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงความสามารถในการตัดสินใจของแพทย์ โดยอาศัยซอฟต์แวร์สตรีมคอมพิวติ้ง (Stream Computing) ที่ก้าวล้ำ ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาของศูนย์พัฒนาไอบีเอ็ม (IBM Research) ซอฟต์แวร์ดังกล่าวทำหน้าที่ประมวลผลสายข้อมูลด้านชีวการแพทย์ที่ต่อเนื่อง เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ และอัตราการหายใจ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ตรวจจับได้จากเซนเซอร์ที่ทันสมัยและอุปกรณ์ตรวจสอบทั่วไปที่ติดตั้งไว้ที่ตัวทารกและในบริเวณรอบๆ
คณะนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ภายใต้การนำของ ดร. แคโรลีน แมคเกรเกอร์ รองศาสตราจารย์แห่งสถาบัน UOIT และประธานสถาบันวิจัยด้านระบบข้อมูลสุขภาพของแคนาดา จะใช้ซอฟต์แวร์นี้เพื่อนำเอาข้อมูลการค้นพบจากหน่วยงานวิจัยของ ดร. แมคเกรเกอร์ ไปปรับใช้ เพื่อทำให้ข้อมูลต่างๆ มีลักษณะ “สมเหตุสมผล” และในอนาคตอันใกล้ ทางคณะนักวิจัยจะส่งผลการวิเคราะห์ที่ได้ไปให้แก่แพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นต่อสภาวะของทารกได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และดำเนินการรักษาได้รวดเร็วขึ้น
แพทย์ในหอผู้ป่วยหนักสำหรับทารกแรกเกิด (NICU) ที่โรงพยาบาลเด็กโตรอนโต และโรงพยาบาลระดับสากลอีก 2 แห่ง เข้าร่วมโครงการวิจัยในครั้งนี้
การตรวจสอบดูแลกลุ่มผู้ป่วยทารกที่คลอดก่อนกำหนดนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสภาวะบางอย่างที่คุกคามต่อชีวิต เช่น การติดเชื้อ จะสามารถตรวจพบได้ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง โดยใช้วิธีสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสายข้อมูลทางสรีรศาสตร์
ข้อมูลที่จะได้รับจากโครงการวิจัยนี้นับเป็นข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน ปัจจุบันแพทย์ที่ตรวจวินิจฉัยทารกคลอดก่อนกำหนดต้องพึ่งพากระบวนการที่ใช้เอกสารที่เป็นกระดาษ โดยต้องอ่านค่าจากจอแสดงผลของอุปกรณ์ต่างๆ และสอบถามข้อมูลจากพยาบาลที่คอยเฝ้าดูแลผู้ป่วย
“งานวิจัยนี้จะช่วยปรับปรุงการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นทารกได้อย่างมาก โดยจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความเจ็บป่วย และลดค่าใช้จ่ายโดยรวมในการรักษาพยาบาล” ดร. แมคเกรเกอร์ กล่าว “การผสานรวมงานวิจัยของเราเข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้เราสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยได้อย่างละเอียดและเป็นระบบ ทั้งยังสามารถทำการวิเคราะห์สุขภาพและสนับสนุนการตัดสินใจผ่านทางระบบออนไลน์ และรับการแจ้งเตือนล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ เกี่ยวกับรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจใช้ในการทำนายเหตุการณ์ทางการแพทย์”
ซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็มสามารถประมวลผลค่าต่างๆ ที่ได้รับจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยอัตราความเร็วที่สูงถึง 512 ค่าต่อวินาที และคณะนักวิจัยจาก UOIT จะทำการทดสอบเพิ่มเติมและพัฒนาปรับปรุงความสามารถของซอฟต์แวร์ดังกล่าวในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลในแบบเรียลไทม์
ในเบื้องต้น นักวิจัยจะใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ของหอผู้ป่วยหนัก NICU ภายในห้องปฏิบัติการระบบข้อมูลสุขภาพที่ทันสมัยของสถาบัน UOIT เพื่อทดสอบซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็มโดยใช้ข้อมูลผู้ป่วยแบบจำลอง หลังจากนั้น ซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะได้รับการทดสอบโดยใช้ข้อมูลจากผู้ป่วยจริง ซึ่งไม่มีการระบุตัวตนของผู้ป่วย ข้อมูลดังกล่าวได้รับการเก็บบันทึกในลักษณะที่เหมาะสมเพื่อให้นักวิจัยสามารถปรับเปลี่ยนตัวแปรบางอย่าง แสดงผลซ้ำ และรันแบบจำลองสำหรับการศึกษาเพิ่มเติม
ไอบีเอ็มเปิดโอกาสให้ ดร. แมคเกรเกอร์ เข้าใช้ซอฟต์แวร์ต้นแบบที่ได้รับการจดสิทธิบัตรโดยคณะนักวิจัยที่ศูนย์วิจัยที.เจ. วัตสันของไอบีเอ็มในนิวยอร์ก ภายใต้โครงการสิ่งประดิษฐ์ที่แปลกใหม่ (First of a Kind) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมสำหรับตลาด และเชื่อมโยงงานวิจัยของไอบีเอ็มเข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง
คุณธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบัน มีข้อมูลสำคัญๆ จำนวนมหาศาลที่ต้องอาศัยอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบดูแลอาการของผู้ป่วย ซึ่งนับเป็นปัญหาท้าทายอย่างหนึ่งในด้านการรักษาพยาบาล ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวและการตัดสินใจโดยอ้างอิงข้อมูลที่เหมาะสมจะช่วยปรับปรุงคุณภาพโดยรวมในการรักษาพยาบาล”
เกี่ยวกับไอบีเอ็ม
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไอบีเอ็ม โปรดเยี่ยมชม www.ibm.com
เกี่ยวกับ UOIT
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถาบัน UOIT โปรดเยี่ยมชม www.uoit.ca
ข้อมูลติดต่อ:
กุลวดี เกษมล้นนภา บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
โทร. 02 2734013 อีเมล์: kulwade@th.ibm.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ