สำนักงาน ก.พ. ยืนยันกระบวนการสอบเข้ารับราชการ เน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้

ข่าวทั่วไป Monday July 28, 2008 16:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--สำนักงาน ก.พ.
สำนักงาน ก.พ. เผยมาตรการป้องกันการทุจริตสอบเข้ารับราชการ ย้ำตระหนักถึงความสำคัญของการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการ เน้นจุดยืนมุ่งสรรหากำลังคนที่มีคุณภาพ และคุณธรรมเข้ารับราชการเพื่อพัฒนาชาติ
นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ ก.พ. เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.พ. ในฐานะที่เป็น ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ซึ่งมีบทบาทในการดำเนิน การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นพลเรือนสามัญในระดับแรกบรรจุ ซึ่งกำหนดให้สอบ 3 ภาค คือ ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข) และภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค)
โดยปกติ ก.พ. จะเป็นผู้ดำเนินการสอบภาค ก. เพื่อกลั่นกรองผู้สมัครในเบื้องต้นให้กับส่วนราชการต่างๆ และมอบหมายให้ส่วนราชการรับผิดชอบในการดำเนินการสอบภาค ข. และภาค ค. อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ส่วนราชการได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการสอบเองทั้ง 3 ภาค ต้องใช้ข้อสอบภาค ก. ของ ก.พ. และมีผู้แทน ก.พ. เป็นกรรมการร่วมในคณะกรรมการดำเนินการสอบแข่งขัน เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ และร่วมในการวางแผนการดำเนินการสอบ ในทุกขั้นตอน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการรักษามาตรฐานในการสอบของส่วนราชการประการหนึ่ง นอกจากนี้ ก.พ. ยังได้จัดทำคู่มือในการดำเนินการสอบ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับส่วนราชการต่างๆ อีกด้วย
ในกรณีที่สำนักงาน ก.พ. เป็นผู้ดำเนินการสอบเอง จะมีแนวทางป้องกันการทุจริตสอบในทุกขั้นตอนตั้งแต่การรับสมัครสอบ ซึ่งจะเปิดให้สมัครสอบทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้สมัครต้องใช้เลขประจำตัวประชาชนในการสมัคร และไม่สามารถแก้ข้อมูลที่กรอกไปแล้วได้ โดยผู้สมัครจะได้รับเลขประจำตัวสอบ เมื่อชำระค่าธรรมเนียมการสอบ ณ ธนาคารที่ ก.พ. กำหนดแล้ว โดยสามารถชำระได้ทุกสาขาในประเทศไทย การดำเนินการเช่นนี้จะมีผลดี ช่วยป้องกันการวางแผนทุจริตได้อีกทางหนึ่ง
ในเรื่องการจัดสถานที่สอบและกำหนดห้องสอบ สำนักงาน ก.พ. จะประกาศรายชื่อสถานที่สอบของผู้สมัครโดยไม่ระบุรายละเอียดห้องที่สอบ แต่จะประกาศรายละเอียดห้องสอบในช่วงเช้าของวันสอบ และได้ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ตรวจตราและเฝ้าระวัง การทุจริตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในสถานที่สอบ
ในส่วนของแบบทดสอบนั้นมีการรักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุมทั้งก่อนและหลัง วันสอบ เช่น การจำกัดบุคคลที่รับรู้ การตรวจระบบในการรักษาความปลอดภัยในการจัดพิมพ์ และทันทีที่ผลิตแบบทดสอบเสร็จ จะถูกนำส่งยังสนามสอบทันที โดยถือเป็นเอกสารลับมาก ห้ามเปิดเผยทั้งก่อนและหลังวันสอบ และห้ามผู้เข้าสอบคัดลอกข้อสอบ และนำแบบทดสอบ และกระดาษคำตอบออกจากห้องสอบ
โดยในวันสอบผู้เข้าสอบต้องนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่ทางราชการออกให้ซึ่งมีรูปถ่าย ลายมือชื่อ และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักชัดเจนไปแสดงตน ในวันสอบ หากไม่มีบัตรดังกล่าว จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องสอบโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ เลขประจำตัวประชาชนในบัตรต้องตรงกับเลขในบัตรติดโต๊ะที่นั่งสอบ หากไม่ตรงกันจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องสอบ เพื่อป้องกันการปลอมตัวเข้าสอบแทน และห้ามนำเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดเข้าห้องสอบโดยเด็ดขาดอาทิ โทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) วิทยุติดตามตัว วิทยุสื่อสาร เครื่องคำนวณ อุปกรณ์ที่ใช้คำนวณได้ เครื่องบันทึกภาพ หรือเครื่องบันทึกเสียง หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบ จะถือว่ามีเจตนาทำการทุจริตสอบและจะให้ยุติการสอบสำหรับบุคคลนั้น และกำหนดให้ผู้เข้าสอบนั่งอยู่ในห้องสอบจนหมดเวลาสอบ เพื่อป้องกันการส่งสัญญาณบอกคำตอบทั้งจากภายในและภายนอกห้องสอบ
ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการสอบ ผู้ทุจริต หรือพยายามทุจริตจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบหรือให้ยุติการสอบ และผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ หรือสอบเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ถือเป็นลักษณะต้องห้ามในการเข้ารับราชการตามมาตรา 36 ข. (11) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และหากผู้ใดได้รับบรรจุเข้ารับราชการแล้ว ภายหลังพบว่าขาดคุณสมบัติเพราะทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ ผู้บังคับบัญชาจะมีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการโดยพลัน
เลขาธิการ ก.พ. กล่าวในท้ายที่สุดว่า การดำเนินการสอบแข่งขันของสำนักงาน ก.พ. มี กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการที่รัดกุม โปร่งใส เป็นธรรมทุกขั้นตอน ดังนั้น หากมีผู้หนึ่งผู้ใดแอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือท่านให้สอบแข่งขันได้ด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม โปรดแจ้งให้สำนักงาน ก.พ. ทราบทันที ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1786 เพื่อดำเนินการกับผู้นั้น ตามกฎหมายต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ