กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ประกาศผลการแข่งขันออกแบบแอพพลิเคชั่นในหัวข้อเปิดกว้างที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขและสุขภาพ ในโครงการ “JavaTM Jive Regional Challenge 2008” รอบชิงชนะเลิศระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาค โดย 3 นักศึกษาจากประเทศไทยโชว์ผลงานเหนือชั้นเฉือนตัวแทนจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย คว้าตำแหน่งชนะเลิศไปครองพร้อมรับรางวัลเงินสด 3,000 ดอลล่าร์สิงคโปร์ และเครื่องเกมส์ Nintendo Wii เป็นรางวัลพิเศษอีกคนละ 1 เครื่อง เพิ่มเติมจากรางวัลชนะเลิศที่ได้รับในการแข่งขันในเประเทศ
ซันได้จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของโครงการ JavaTM Jive Regional Challenge 2008 ภายใต้แนวคิด ‘Keeping IT Real’ ในงาน Sun Developer Days ซึ่งเป็นศูนย์รวมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ครั้งใหญ่ที่สุดประจำปีในประเทศสิงคโปร์ การแข่งขันดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม National Infocomm Competition (NIC) ที่จัดโดย Infocomm Development Authority (IDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศสิงคโปร์อีกด้วย โดยผู้ชนะจากการแข่งขันออกแบบแอพพลิเคชั่นในโครงการ JavaTM Jive Regional Challenge 2008 ในระดับประเทศจาก ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ได้เดินทางมาแข่งขันกันต่อหน้าผู้ชมที่เป็นทั้งนักพัฒนาซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์และผู้ที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งมาร่วมงานอย่างคับคั่ง
สำหรับแอพพลิเคชั่นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือผลงาน ‘Calories Assistant’ ที่ได้รับการพัฒนาโดยสามนักศึกษาไทยทีม “Snooze Monkey” จากคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเป็นแอพพลิเคชั่นเพื่อลดปัญหาภาวะโรคอ้วนที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมปริมาณแคลอรีจากการรับประทานอาหาร ด้วยการให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์หรือโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ผู้ใช้ทราบปริมาณแคลอรีที่ได้รับในแบบเรียลไทม์ ผู้ใช้ยังสามารถเข้าไปดูปริมาณแคลอรีของอาหารแต่ละชนิด เลือกสรรเมนูที่ต้องการรับประทานจากการกำหนดจำนวนแคลอรีที่ต้องการบริโภค และเข้าถึงฐานข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพได้ด้วย
ทีมรองชนะเลิศจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียก็ได้สร้างสรรค์ผลงานแอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจเช่นกัน โดยทีมนักศึกษาสิงคโปร์จากสถาบัน ITE West ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้แพทย์สามารถอัพเดตข้อมูลและการวินิจฉัยโรคแบบเรียลไทม์ผ่านโทรศัพท์มือถือและเว็บไซต์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหาข้อมูลของผู้ป่วยในโรงพยาบาลและการแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ป่วยระหว่างแพทย์หลายคน ตลอดจนทำให้ผู้ป่วยสามารถดูวิดีโอการวินิจฉัยโรคจากอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ได้ นำไปสู่การให้บริการโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองกระดาษในที่สุด ส่วนทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Technologi Mara มาเลเซีย ได้ออกแบบอินเทอร์เฟสสำหรับแพทย์เพื่อใช้บันทึกข้อมูลการวินิจฉัยโรคตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่สามารถใช้งานง่าย เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานของบุคคลากรทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ศิริศิลป์ คงศิลป์ จากทีม “Snooze Monkey” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในทีมนักศึกษาไทยที่คว้ารางวัลชนะเลิศในครั้งนี้กล่าวว่า “การแข่งขัน Java Jive ทำให้พวกเราเข้าใจโลกของการทำงานจริงว่าเป็นอย่างไร เริ่มตั้งแต่การก่อร่างแนวคิดจนกลายเป็นผลงานต้นแบบที่ใช้งานได้ ไปจนถึงการนำเสนอผลงานต่อหน้าผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์และคนในแวดวงไอที การที่พวกเราได้มาแสดงผลงานแอพพลิเคชั่นในงานที่เป็นแหล่งรวมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุด รวมทั้งชนะการแข่งขันมาได้เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมจริงๆ ครับ”
โครงการ JavaTM Jive Regional Challenge 2008 รอบชิงชนะเลิศ จัดโดยซัน ไมโครซิสเต็มส์ ร่วมกับ Infocomm Development Authority (IDA) และ Institute of Technical Education (ITE) เป็นเวทีของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในการพัฒนาและนำเสนอแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์แก่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ เพื่อค้นหาผลงานที่มีศักยภาพและอาจกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต การแข่งขันจัดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ด้วยแนวคิด ‘Keeping IT Real’ โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีความสำคัญต่อการให้บริการสาธารณสุข หรือยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพ ซึ่งมีผลต่อชีวิตของผู้คนมากมาย
ในปีนี้มีทีมเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 36 ทีม แต่ละทีมได้รับคำแนะนำในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นจากองค์กรที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศ คือ National Healthcare Group ประเทศสิงคโปร์ Multimedia Development Corporation ประเทศมาเลเซีย และสมาคมเวชสารสนเทศไทย (TMI)
เกณฑ์ในการตัดสินประกอบด้วย มูลค่าเชิงพาณิชย์ ความเกี่ยวข้องกับการสาธารณสุข ความคิดสร้างสรรค์ การส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ออนไลน์ และทักษะการนำเสนอผลงาน โดยมีคณะกรรมการทั้งหมด 6 ท่าน ได้แก่
- ดร. สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการบริหาร สมาคมเวชสารสนเทศไทย
- แฮริน เอส. เกรวัล รองผู้อำนวยการ NGN Programme Office, IDA
- แคธริน เงอ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาตลาด SingHealth
- แมทท์ ทอมป์สัน ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานโอเพ่นซอร์สและการกระจายเทคโนโลยี ซัน ไมโครซิสเต็มส์
- เรจินัลด์ ฮัทเชอร์สัน หัวหน้าฝ่ายการกระจายเทคโนโลยี ซัน ไมโครซิสเต็มส์
- ชอง ซุน เชิง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ภูมิภาคเอเชียตอนใต้
นาวีน อัสรานิ หัวหน้าฝ่ายผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สัมพันธ์ ซัน ไมโครซิสเต็มส์ กล่าวว่า “ผลงานที่มาถึงรอบชิงชนะเลิศแสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นก็สามารถคิดเผื่อวันข้างหน้าและกำหนดทิศทางของอนาคตได้ การพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบเปิด (Open source) จะเป็นอย่างไรต่อไปขึ้นอยู่กับการกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เช่นในโครงการ JavaTM Jive โดยเข้าใจถึงความสำคัญของยุคแห่งการมีส่วนร่วมและการสร้างชุมชนบนเครือข่ายออนไลน์”
คริสตินา กัน ผู้อำนวยการอาวุโสของ InfoComm Security & Manpower Development, IDA ซึ่งเป็นแขกรับเชิญในงานนี้ กล่าวว่า “ปีนี้โครงการ Java Jive ได้ขยายขอบเขตการแข่งขันจากสิงคโปร์ไปถึงไทยและมาเลเซีย ดิฉันมั่นใจว่าผู้เข้าร่วมโครงการไม่เพียงแต่ได้เรียนรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมเท่านั้น แต่จะเกิดความเข้าใจงานด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลของทั้งสามประเทศในการเสริมสร้างบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสามารถนำความรู้เชิงธุรกิจมาใช้ออกแบบโซลูชั่นใหม่ๆ แก่ภาคธุรกิจได้”
เกี่ยวกับ ซัน ไมโครซิสเต็มส์
ภายใต้วิสัยทัศน์ “The Network Is The Computer” ผลักดันให้ซันมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสำคัญๆ ของโลกอย่างต่อเนื่อง และปรัชญาสำคัญของซัน คือ การเชื่อมโยงนวัตกรรมใหม่และสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ซึ่งถือเป็นกระแสนำในโลกเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แห่งอนาคต หรือที่เรียกว่า ยุคแห่งการมีส่วนร่วม (The Participation Age) ปัจจุบัน ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (สัญลักษณ์หุ้นในตลาดหุ้นแนสแดก: SUNW) มีเครือข่ายครอบคลุมอยู่ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับซันได้ที่ http://sun.com หรือ http://sun.com.sg
เกี่ยวกับสมาคมเวชสารสนเทศไทย
สมาคมเวชสารสนเทศไทย Thai Medical Informatics Association (TMI) หรือ ชมรมข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มีชื่อย่อว่า ชขพ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2534 โดยความริเริ่มของ อาจารย์แพทย์ผู้มองเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ทางการแพทย์ นำโดย
ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ศ.นพ.พิศิษฎ์ สัณหพิทักษ์ โดยแนะให้ตั้งเป็นชมรมขึ้นมาก่อน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานงานและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์ และเพื่อเสนอแนะการพัฒนางานข้อมูลข่าวสารทางแพทย์แก่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณภัทรา จาตนิลพันธ์ / คุณบุญยรัตน์ ยศเมธา
ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
โทร. 0-2610-2362, 2392
อีเมล์:
คุณจันทพร นิยมปีติกุล
บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 0-2344-6811
อีเมล์: Chantaporn.niyompeetikul@Sun.COM