กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--กรมพัฒนาที่ดิน
กรมพัฒนาที่ดินไฮเทศออกโปรแกรมตัวใหม่ “ThaiFERTILIZER” แนะนำวิธีการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับพืชเศรษฐกิจ 12 ชนิด ในทุกพื้นที่ลงลึกถึงระดับตำบล ครอบคลุมทั่วประเทศ ระบุความถูกต้องไม่น้อยกว่า 70%
นายยุทธชัย อนุรักติพันธุ์ นักวิชาการเกษตร 8 ว กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่กรมพัฒนาที่ดินได้รับมอบนโยบายจากนายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เร่งศึกษาถึงวิธีการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับดิน ดงนดงดดังนั้น กรมพัฒนาที่ดินและกรมวิชาการเกษตรจึงได้ร่วมกันจัดทำโปรแกรมที่ชื่อว่า โปรแกรมคำแนะนำการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม และประหยัด (ThaiFERTILIZER) ขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะแจกจ่ายไปยังสำนักงานเขตพัฒนาที่ดินทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรต่อไป
ทั้งนี้ โปรแกรมดังกล่าวสามารถให้คำแนะนำในการใช้ปุ๋ย ทั้งปุ๋ยสูตรเดี่ยว และสูตรผสม รวม 13 สูตร โดยจัดทำเป็นตารางอัตราส่วนในการใช้ต่อไร่ที่เหมาะสมกับดินในแต่ละพื้นที่ลงลึกถึงระดับตำบลจำนวน 7,255 ตำบล โดยเน้นในกลุ่มพืชเศรษฐกิจ 12 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ถั่วเหลือง กาแฟ ส้ม สับปะรด ลำไย และทุเรียน
นายยุทธชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรมักจะไม่รู้ว่าดินในพื้นที่ของตนเองมีแร่ธาตุในดินอะไรบ้าง และมีความอุดมสมบูรณ์หรือไม่ จึงต้องนำดินมาตรวจวิเคราะห์ก่อน แต่มักเกิดปัญหายุ่งยากเพราะต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์อย่างน้อย 3-7 วัน อีกทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางนำตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ ส่วนการใส่ปุ๋ยก็จะใช้ตามความเคยชินที่ได้รับคำแนะนำมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า โดยไม่รู้ว่าพืชมีความต้องการมากน้อยเพียงใด ทำให้สิ้นเปลืองทั้งเวลาและเพิ่มภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ โปรแกรมดังกล่าวจะช่วยเกษตรกรประหยัดเวลาในการนำดินมาวิเคราะห์ เพราะมีต้นแบบของดินในประเทศไทย ซึ่งกองแผนที่ได้จัดทำขึ้นและรวบรวมไว้ถึง 30,000 จุด ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมกับวิเคราะห์การใช้ปุ๋ยในรูปแบบตารางที่เกษตรกรสามารถอ่านได้ง่ายถึง 5 ตาราง โดยมีทั้งปุ๋ยเดี่ยวและปุ๋ยสูตรผสม ที่นิยมใช้ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม โดยมีค่าความถูกต้องไม่ต่ำกว่า 70% และสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ไม่น้อยกว่า 10-30%
“ขณะนี้โปรแกรมดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว และกรมพัฒนาที่ดินจะแจกจ่ายไปยังสำนักงานพัฒนาที่ดินทั้ง 12 เขต และศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับพืชและดิน ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งเท่ากับเกษตรกรจะช่วยรัฐประหยัดค่าใช่จ่าย ในการสั่งซื้อปุ๋ยเคมีลดลงกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งการแนะนำดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ควบคู่ไปกับ 9 มหัศจรรย์ของกรมพัฒนาที่ดิน”นายยุทธชัยกล่าว--จบ--