กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--กระทรวงพลังงาน
วิกฤตพลังงานเป็นปัญหาที่คนทั่วโลกต่างพากันขบคิดเพื่อหาทางแก้ไข บ้างหาพลังงานทางเลือก บ้างหาพลังงานทางเลี่ยงเพื่อไม่ต้องรับภาระจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้ใช้รถที่ต้องรับภาระค่าน้ำมันเท่านั้น แต่ปัจจุบันแม่บ้านและแม่ค้าขายอาหารยังจะต้องได้รับข่าวร้ายเกี่ยวกับการลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มอีกเช่นเดียวกัน อีกทั้งการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยิ่งมีความสะดวกสบายมากขึ้นค่าไฟฟ้าก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเรื่องพลังงานเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน เพราะเราต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ตามแต่พฤติกรรมการใช้พลังงานของแต่ละคน
วิธีการรับมือกับวิกฤตพลังงานแบบง่ายๆ เริ่มได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอนโยบายต่างๆจากรัฐบาล นั่นคือ การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงาน ทั้งการประหยัด การลดละความสะดวกสบายบางประการ ซึ่งเป็นการวางแผนการใช้พลังงานอย่างมีระบบ
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การวางแผนการใช้พลังงานเป็นความมุ่งเน้นของกระทรวงพลังงานซึ่งต้องการให้ทุกชุมชนทั่วประเทศปฏิบัติ เพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตพลังงาน โดยมีวิธีการง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ 3 ขั้นตอน คือ รู้เรา รู้เขา และการสื่อสาร
“ขั้นตอนที่ 1 รู้เรา คือก่อนที่จะวางแผนพลังงาน เพื่อจะหาทางแก้ปัญหาพลังงานในครัวเรือน ต้องเริ่มจากการสำรวจการใช้พลังงานภายในครัวเรือนก่อน เช่น เก็บบิลค่าไฟฟ้า และบิลน้ำมัน ให้รู้ว่าแต่ละเดือนบ้านมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งหมดเท่าไหร่ จากนั้นขั้นตอนที่ 2 คือ รู้เขา โดยการสืบหาข้อมูลด้านพลังงาน หาทางออก ทางเลือกต่างๆ ที่เราสามารถทำได้ เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟที่ใช้ภายในบ้าน จากหลอดไส้เปลี่ยนเป็นหลอดตะเกียบ หรือทดลองปิดไฟที่ไม่ใช้ ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส และเมื่อผ่านไป 1 เดือนให้นำบิลค่าไฟฟ้ามาเปรียบเทียบกับของเดือนก่อน หากมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ให้เข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 สื่อสาร บอกต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบ้านของเราให้คนรอบข้างได้รับรู้และนำไปใช้ต่อไป เพื่อให้เกิดการแพร่กระจายของการแก้ไขปัญหาพลังงาน”
นักวางแผนพลังงาน ขับเคลื่อนชุมชนสู่สังคมประหยัดพลังงาน
กระทรวงพลังงานได้ดำเนินโครงการแผนพลังงานชุมชน ในชุมชนต่างๆทั่วประเทศ ตลอดช่วงเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา จาก 24 ชุมชน สู่ 80 ชุมชน และสู่ 162 ชุมชนในปี 2551 นี้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ชุมชนรู้จักวางแผนพลังงาน รู้จักหาทางออกด้านพลังงานที่เหมาะสมกับชุมชน และรู้จักการใช้พลังงานอย่างพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า การขยายโครงการแผนพลังงานชุมชน เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนรู้จักการวางแผนพลังงาน โดยใช้หลัก 3 ขั้นตอนดังกล่าว ในชุมชนจะเริ่มจากการทำบัญชีครัวเรือนพลังงาน เก็บข้อมูลการใช้พลังงานทุกประเภท ทั้งไฟฟ้า น้ำมัน ฟืน ถ่าน เพื่อหารอยรั่วด้านพลังงานที่ดูดเงินของจากกระเป๋าชาวบ้าน จากนั้นจึงให้ชุมชนศึกษาสถานการณ์พลังงาน พร้อมวิเคราะห์หายุทธวิธีในการแก้ไขปัญหา โดยกระทรวงฯ จะมีบทบาทช่วยเหลือ หาทางออกด้านต่างๆ ให้กับชาวบ้าน เช่น พาไปดูงาน ศึกษาเทคโนโลยีพลังงานอย่างง่ายที่ชุมชนสามารถทำได้เอง สำหรับนำไปใช้แก้ปัญหาชุมชนที่เหมาะสมและตรงจุดประสงค์ ซึ่งจากประสบการณ์ทำงาน 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าหลายชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลังงาน มีการหาทางออก และมีการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานที่หลากหลาย ซึ่งกลุ่มคนที่มีบทบาทมากในการผลักดันชุมชนให้กับการเปลี่ยนแปลง และเป็นบุคคลที่มีความสำคัญมาก คือ นักวางแผนพลังงาน
นักวางแผนพลังงาน คือผู้ที่มีความรู้ด้านพลังงาน อาจไม่ต้องมีความรู้ลึกซึ้งแต่ต้องรู้สิ่งที่อยู่ในบริบทของชุมชน และสามารถหาแบบแผนการใช้พลังงานที่เหมาะสมกับชุมชน เช่น หากเป็นพื้นที่เกษตรกรรม นักวางแผนพลังงานที่ดีจะสามารถหาทางออกด้านพลังงานที่เหมาะสมกับพื้นที่เกษตรกรรมได้ โดยที่ตัวเองต้องเป็นผู้ปฏิบัติให้คนรอบข้างเห็นเป็นตัวอย่าง สามารถสื่อสาร โน้มน้าวจิตใจ ชี้แจงข้อดี ข้อด้อยของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานดังกล่าว จนเกิดการปฏิรูปการใช้พลังงานในท้องถิ่นนั้น ดังนั้นไม่ว่าใครก็สามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นนักวางแผนพลังงานได้ ตัวอย่างเช่น ในโรงเรียนแห่งหนึ่งมีการจัดโครงการเศษอาหาร เพื่อนำเศษอาหารไปใส่ในถังหมักแก๊ส โดยมีคุณครูเป็นผู้ริเริ่ม และเชิญชวนให้เด็กทิ้งเศษอาหารลงในถังหมักแก๊ส ผลที่ได้คือโรงเรียนสามารถผลิตแก๊สชีวภาพที่นำไปใช้ทดแทนแก๊สหุงต้มในโรงเรียน และเกิดการนำไปใช้ต่อๆ ไปในชุมชน คุณครูของโรงเรียนนี้จึงมีบทบาทเป็นนักวางแผนพลังงานสังคมนักวางแผนพลังงาน สังคมแห่งการแลกเปลี่ยนความมุ่งหวังของกระทรวงพลังงานต่อจากนี้คือ การสร้างสังคมนักวางแผนพลังงานให้กระจายไปทั่วประเทศไทย อาจจะเป็นผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน หรือนักปฏิบัติธรรมดาๆ คนหนึ่งในชุมชน ที่มีคุณสมบัติของนักวางแผนพลังงาน โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้สร้างนักวางแผนพลังงานโดยการให้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ผ่านโครงการแผนพลังงานชุมชน ซึ่งทำให้ขณะนี้มีจำนวนนักวางแผนพลังงานแล้วกว่า 200 คน หรือเฉลี่ยประมาณ 3-4 คน ต่อ 1 ชุมชน
“แผนการขยายสังคมนักวางแผนพลังงานในช่วงต่อไป คือการพัฒนาหลักสูตรการสร้างนักวางแผนพลังงาน โดยกระทรวงพลังงานจะร่วมมือกับสถาบันราชภัฏหรือวิทยาลัยเทคนิคทั่วประเทศ จัดทำหลักสูตรพิเศษเพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับนักวางแผนพลังงาน โดยจัดเป็นหลักสูตรอบรมระยะสั้น พร้อมรับประกาศนียบัตรเมื่อเสร็จสิ้นการอบรม สำหรับผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์การวางแผนพลังงานในชุมชน และสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยร่วมโครงการสามารถเข้าอบรมในหลักสูตรและนำโครงการไปปฏิบัติในชุมชน หากสามารถปฏิบัติได้เห็นผลจึงจะได้รับประกาศนียบัตร ทั้งนี้หลักสูตรจะเน้นการอบรมเรื่องความหมายของนักวางแผนพลังงาน การจัดทำข้อมูลการใช้พลังงานในชุมชน การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ แนะนำเทคโนโลยีที่จะนำไปแก้ไขปัญหาพลังงาน และรู้จักการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม หรือพลังกลุ่ม ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับการขับเคลื่อนชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ จึงเป็นการผสมรวมระหว่างศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และด้านสังคมเข้าด้วยกัน ซึ่งยังไม่เคยมีที่ไหนทำมาก่อน” ดร.ทวารัฐ กล่าว
การขยายสังคมนักวางแผนพลังงานให้กว้างขวางขึ้น จนนำไปสู่การสร้างเครือข่ายนักวางแผนพลังงาน เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างชุมชน ชุมชนที่มีพื้นฐานทรัพยากรหรือพื้นฐานของปัญหาคล้ายๆกัน สามารถแลกเปลี่ยนบทเรียนซึ่งกันและกันได้ เช่น นักวางแผนพลังงานที่จังหวัดนราธิวาสสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับนักวางแผนพลังงานที่จังหวัดเชียงรายได้ จะเป็นหนทางที่ทำให้ชุมชนไทยอยู่รอดจากวิกฤตการณ์พลังงานได้ โดยที่กระทรวงพลังงานยินดีที่จะสนับสนุนและเป็นสื่อกลางของการสร้างเครือข่ายดังกล่าว ทั้งนี้กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่า 2 ปีต่อจากนี้จะพัฒนาให้เกิดเครือข่ายนักวางแผนพลังงานให้ขยายวงกว้างออกไปมากที่สุด ซึ่งคุณเองก็สามารถพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นนักวางแผนพลังงานได้ สามารถหาทางออก ทางรอดด้านพลังงานได้ด้วยมือของคุณเอง