กรีนพีซ พร้อมยื่นอุทธรณ์หลังศาลยกฟ้องกรมวิชาการเกษตรคดีมะละกอจีเอ็มโอ

ข่าวทั่วไป Thursday July 31, 2008 15:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--กรีนพีซ
กรีนพีซย้ำจุดยืนต่อสู้เพื่อปกป้องมะละกอไทยจากจีเอ็มโอ หลังศาลปกครองพิจารณายกฟ้องกรมวิชาการเกษตรจากกรณีการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอเมื่อ 4 ปีก่อน
กรีนพีซยืนยันว่ากรมวิชาการเกษตรยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการกรณีการหลุดรอดของมะละกอจีเอ็มโอ เป็นเหตุให้มะละกอไทยปนเปื้อนจีเอ็มโอ นางสาวณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ยังไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่พิพากษายกฟ้องกรมวิชาการเกษตร และกรมวิชาการเกษตรไม่ต้องดำเนินการใดๆ อีกต่อกรณีที่เกิดการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอไปสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่กรมวิชาการเกษตรไม่สามารถแสดงข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่าได้จัดการการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอจากแปลงทดลองและแปลงเกษตรกรเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และกรีนพีซยืนยันว่าการตรวจสอบการจัดการการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ จะต้องดำเนินการโดยโปร่งใสมีข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากมะละกอจีเอ็มโอเป็นสิ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และพืชจีเอ็มโอยังไม่มีการรับรองว่ามีความปลอดภัยต่อสุขภาพในระยะยาว นอกจากนี้ผู้ที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนดังกล่าวควรเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นต่ออาหารและสิ่งแวดล้อม มิเช่นนั้น เราอาจตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะหมดสิ้นซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ และอาจนำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยทางอาหารได้”
เมื่อปี 2549 กรีนพีซยื่นฟ้องกรมวิชาการเกษตรที่ทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอในพื้นที่เปิด จนทำให้เกิดการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอไปสู่มะละกอแขกดำท่าพระที่ปลูกอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยในเดือนกรกฎาคม 2547 กรีนพีซเปิดโปงการกรมวิชาการเกษตรว่าเป็นสาเหตุทำให้มะละกอไทยปนเปื้อนจีเอ็มโอ โดยการทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 ส่วนแยกพืชสวน จ.ขอนแก่น เป็นการทดลองในพื้นที่เปิด แปลงทดลองดังกล่าวนั้นมีเพียงลวดหนามล้อมไว้เท่านั้น นอกจากนี้ มะละกอจีเอ็มโอที่กรมวิชาการเกษตรทำการทดลองนั้นเป็นสิทธิบัตรของสถาบันวิจัยคอร์แนล นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และบริษัทเคมีเกษตรแห่งใหญ่ของโลกชื่อมอนซานโต ที่สำคัญมะละกอจีเอ็มโอดังกล่าวยังมียีนต้านทานยาปฏิชีวนะซึ่งตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและยาแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศห้ามไม่ให้มียีนดังกล่าวอยู่ในอาหาร
จากการตรวจพบครั้งนี้ประกอบกับแรงกดดันจากเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ได้เรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตรชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว จนกระทั่งกรมวิชาการเกษตรต้องออกมายอมรับว่าสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 ส่วนแยกพืชสวน จ.ขอนแก่น เป็นต้นเหตุของการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ โดยการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์มะละกอปนเปื้อนจีเอ็มโอให้กับเกษตกรและประชาชนทั่วไปกว่า 2,600 ราย และให้ข้อมูลเพียงว่าพบมะละกอ 329 ตัวอย่างที่ได้จากเกษตรกร 85 รายปนเปื้อนจีเอ็มโอจริง ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างมะละกอร่วมกับกรีนพีซ ที่จังหวัดระยอง กำแพงเพชร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม และอุบลราชธานี พร้อมยืนยันว่ายังคงพบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอออกสู่แปลงของเกษตรกรอยู่แม้ว่ากรมวิชาการเกษตรได้แจ้งว่าได้ทำการจัดการการปนเปื้อนเรียบร้อยแล้วก็ตาม
เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กระทรวงเกษตรฯ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการกำหนดมาตรการทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอ และวิธีการควบคุมการแพร่กระจายของพืชจีเอ็มโอ สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรไทย จนเป็นที่มาให้กรมวิชาการเกษตรต้องจัดการการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ
“การที่กรมวิชาการเกษตร ไม่ได้มีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่ามีการติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ จากเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับการจำหน่าย จ่าย แจก มะละกอจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 ส่วนแยกพืชสวน จ.ขอนแก่น ทำให้กรีนพีซจะต้องดำเนินการในเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด เนื่องจากการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอเป็นมลพิษทางพันธุกรรมที่สร้างปัญหาให้กับเกษตรกรรมไทย และเพื่อปกป้องมะละกอไทยให้ปลอดจากจีเอ็มโอ” นางสาวณัฐวิภา กล่าวเพิ่มเติม
กรีนพีซ ทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และสันติภาพ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน โทร. 085-843-7300
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร. 089-487-0678 หรือ 02-357-1921 ต่อ 115

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ