กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัดประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของบริษัทอิออน ธนสินทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (อิออน) ที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่าจะให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (expected rating) ที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แก่หุ้นกู้ค้ำประกันของอิออน มูลค่าไม่เกิน 1 พันล้านบาท ครั้งที่ 1/2551 ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2553 และหุ้นกู้ค้ำประกันมูลค่าไม่เกิน 1 พันล้านบาท ครั้งที่ 1/2551 ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2555 โดยอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้สะท้อนถึงการค้ำประกันในลักษณะเต็มจำนวน ไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถยกเลิกได้จาก Mizuho Corporate Bank (MHCB) แก่หุ้นกู้ทั้ง 2 ชุด โดย MHCB มีอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Foreign Currency Issuer Default Rating) ที่ระดับ ‘A+’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ทั้งนี้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ยังพิจารณาถึงการค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถยกเลิกได้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) แก่หุ้นกู้ซึ่งมีระยะเวลายาวกว่าชุดที่ 2 โดย JBIC มีรัฐบาลญี่ปุ่นถือหุ้น 100 % และมีฐานะเป็นธนาคารที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งฟิทช์ได้จัดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศญี่ปุ่นไว้ที่ระดับ ‘AA’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้รับเอกสารประกอบการวิเคราะห์ต่างๆฉบับจริงครบถ้วน
เนื่องจากอันดับเครดิตของผู้ค้ำประกันทั้งสองสูงกว่าอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Local Currency Rating) ของประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ ‘A’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ค้ำประกันดังกล่าว จึงมีอันดับเท่ากับอันดับเครดิตภายในประเทศของรัฐบาลไทยที่ระดับ ‘AAA(tha)’ ในการเรียกร้องการชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน ผู้ถือหุ้นกู้สามารถเรียกร้องเงินต้นและดอกเบี้ยจาก MHCB ได้เป็นอันดับแรก เมื่อมีเหตุที่ทำให้ MHCB ไม่สามารถชำระคืนหนี้ในหุ้นกู้ชุดที่ 2 ได้ JBIC จะรับผิดชอบชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยที่ผิดนัดชำระในส่วนของเงินต้นดังกล่าว การค้ำประกันของ JBIC ถือเป็นส่วนสนับสนุนอันดับเครดิตเพิ่มเติมของหุ้นกู้ชุดที่ 2 ความแตกต่างที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างอันดับเครดิตของผู้ค้ำประกัน และประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ค้ำประกันดังกล่าว
อันดับเครดิตของ MHCB สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเครือข่ายธนาคารทั้งในญี่ปุ่นและในต่างประเทศ คุณภาพของสินทรัพย์ที่ดีและเงินทุนที่แข็งแกร่ง ในปีประกอบการสิ้นสุด มีนาคม 2551 MHCB รายงานผลขาดทุน 5.57 หมื่นล้านเยน ลดลงจากผลกำไร 3.9 แสนล้านเยนในปีก่อนหน้า ซึ่งมีเหตุผลหลักมาจากการตั้งหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติม ขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทย่อย (Mizuho Securities) และขาดทุนในเงินลงทุนประเภทโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitisation) อย่างไรก็ตาม MHCB ยังคงขยายฐานธุรกิจของธนาคารอย่างต่อเนื่องทั้งด้านธุรกิจวาณิชธนกิจ และธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และยังได้ขยายฐานธุรกิจไปยังต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา คุณภาพสินทรัพย์ของ MHCB จัดว่าอยู่ในกลุ่มที่ดีที่สุดของกลุ่มธนาคารภายในประเทศและในภูมิภาคเดียวกัน โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 1.6 % ของสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นมีนาคม 2551
JBIC ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2542 โดยการควบรวมระหว่างธนาคารนำเข้าและส่งออกของญี่ปุ่นกับกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่น โดย JBIC ดำเนินการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการนำเข้าและส่งออกของประเทศญี่ปุ่นและสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ JBIC ยังให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ณ สิ้นมีนาคม 2551 JBIC มียอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 18 ล้านล้านเยน และส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 9.5 ล้านล้านเยน
ในปีประกอบการ 2550 อิออนรายงานผลกำไรสุทธิ 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7% จาก 1.1 พันล้านบาทในปีประกอบการ 2549 ผลกำไรสุทธิในไตรมาสแรกในปีประกอบการ 2551 อยู่ที่ 293.5 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.7 % จากกำไรสุทธิจำนวน 283.1 ล้านบาทในไตรมาสแรกในปีประกอบการ 2550 เนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลและการควบคุมค่าใช้จ่าย ณ สิ้นปีประกอบการ 2550 อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของอิออนยังคงอยู่ในระดับเดียวกันกับปีก่อนหน้าที่ประมาณ 10% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด โดยแนวโน้มของผลการดำเนินงานในปี 2551 ยังคงอ่อนแอเนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและอัตราการเติบโตของการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง รวมถึงการกลับมาของปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อผลการดำเนินงานในปีหน้าได้
อิออนก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยในปี 2535 โดย AEON Credit Service (AEON) แห่งประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทมีสาขาในกรุงเทพและสาขาในต่างจังหวัดทั้งสิ้น 81 สาขา และมีเครื่อง ATM จำนวน 337 เครื่องโดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัด AEON มีสัดส่วนการถือหุ้นในอิออนอยู่ที่ 35.1% โดยบริษัทอื่น ๆ ในเครือ AEON ถือหุ้นอีก 28% อิออนทำธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อยสำหรับลูกค้ารายได้ต่ำซึ่งรวมถึง สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ ดรุณี เพียรมานะกิจ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4752/4759
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน