กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--กทม.
วางใจกรุงเทพฯ ไม่น่าเกิดคลื่นยักษ์ Storm Surge ตามที่นักวิชาการพยากรณ์ หลังพบข้อเท็จจริงจากกรมอุทกศาสตร์ไม่มีปัจจัยบ่งชี้ และไม่ส่งผลต่อน้ำประปา แต่กทม. ก็ไม่ประมาทมีเหตุการณ์ได้เตรียมป้องกัน รับมือ และพร้อมแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าได้อย่างปลอดภัย
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เข้าพบ พลเรือโท คงวัฒน์ นีละศรี เจ้ากรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิด ภาวะน้ำเอ่อล้นฝั่งและคลื่นซัดฝั่ง Storm Surge ตามที่มีนักวิชาการได้พยากรณ์และแสดงความคิดเห็นว่าอาจเกิดในเดือน ส.ค. - ต.ค. ปีนี้
จากการรายงานของกรมอุทกศาสตร์ ปัจจัยที่ทำให้เกิด Storm Surge มี 2 กรณี คือ พายุที่ทำให้เกิดลมแรง คลื่นสูง น้ำทะเลยกตัวมากกว่าปกติ และกรณีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูฝนต่อช่วงฤดูหนาว ซึ่งหากเกิดจริงจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชายฝั่งทะเล เกิดการกัดเซาะ เกิดการรุกตัวของน้ำทะเลหนุนตัวทะลักเข้าแม่น้ำลำคลอง เกิดน้ำท่วมในที่ลุ่มติดทะเล เกิดการชะลอการระบายน้ำ แต่จากความคิดเห็นของเจ้ากรมฯ มีความมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุดังกล่าวตามที่นักวิชาการพยากรณ์ เนื่องจากไม่มีปัจจัยที่จะบ่งชี้ให้เกิด เช่น จากการเก็บสถิติปริมาณฝนตก น้ำทะเลขึ้นลงตามแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ สภาพอากาศทั่วไปมีความปกติ ซึ่งหากจะมีพายุก่อตัวนั้นต้องมีปัจจัยที่ทำให้เกิด เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นมากกว่า 27 องศาเซลเซียสเป็นระยะเวลาหนึ่ง เกิดไอน้ำมากๆ บริเวณที่เป็นมหาสมุทร ซึ่งแนวโน้มในปัจจุบันไม่มี อีกทั้งยังไม่มีความต่อเนื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเกิดขึ้น จึงไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ Storm Surge
ทั้งนี้หากเกิดการก่อตัวของพายุอันจะนำไปสู่การเกิด Storm Surge ได้นั้นจะมีการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา การติดตามสภาวะลมฟ้าอากาศในทะเลของกรมอุทกศาสตร์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลจากต่างประเทศ รวมถึงการพยากรณ์โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ อีกทั้งการก่อตัวของพายุที่จะใช้เวลาประมาณ 4-6 วัน ซึ่งจะสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทันเวลา และหากเกิดฝนตกในพื้นที่ไม่เกิน 200 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง กทม.สามารถระบายน้ำทั้งหมดได้ภายใน 49 ชั่วโมง
จากนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่การประปานครหลวง โดยมีนายบัณฑูร ชื่นกุล รองผู้ว่าการการประปานครหลวงให้ข้อมูลถึงการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ Storm Surge ซึ่งการประปามีแนวเขื่อนป้องกันคลองตลอดแนวสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 3 เมตร และมั่นใจว่าน้ำทะเลจะไหลไม่ถึงจุดรับน้ำดิบของการประปาอย่างแน่นอน โดยยังประสานงานกรมชลประทานให้ผันน้ำจากเขื่อนลงมาผลักดันไม่ให้น้ำเค็มถึงจุดรับน้ำดิบ อีกทั้งกรุงเทพมหานครได้ประสานงานกับการประปานครหลวงในการป้องกันระบบผลิตและจ่ายน้ำประปาทั้งโรงงานผลิตน้ำ และสถานีสูบจ่ายน้ำต่างๆ ที่ตั้งอยู่ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ประชาชนสามารถมั่นใจว่าจะมีน้ำประปาอุปโภคบริโภคเพียงพอต่อความต้องการ และมีมาตรฐาน