กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--กทม.
ศตส.กทม. เตือนประชาชนชาวกรุงเทพฯ งดเว้นการปลูกพืชกระท่อมในบริเวณบ้าน หากตรวจสอบพบมีความผิดโทษฐานเป็นผู้ผลิต ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศตส.กทม.) เปิดเผยว่า ศตส.กทม. ร่วมกับ ศตส.บชน. เฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในกรุงเทพฯอย่างต่อเนื่อง โดยมีการติดตามและลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการแพร่ระบาดของยาเสพติดในสถานศึกษา สถานประกอบการ และชุมชนต่างๆ ซึ่งพบว่ายังมีพื้นที่บางส่วนในกรุงเทพฯ นิยมปลูกพืชกระท่อมภายในบริเวณบ้าน โดยส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นการปลูกเพื่อเป็นยารักษาโรค
ผลการดำเนินการจับกุมยาเสพติดพืชกระท่อมที่ผ่านมาปรากฏว่า มีการจับกุมข้อหาผลิตยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 (พืชกระท่อม) ทั้งหมด 14 คดี ได้ผู้ต้องหา 13 คน หลบหนี 1 คน โดยได้ของกลางเป็นต้นกระท่อม 1,026 ต้น น้ำหนัก 106,380 กิโลกรัม ใบสด 121.5 กิโลกรัม ใบแห้ง 147.8 กิโลกรัม และผง 9.2 กิโลกรัม รวมน้ำหนักทั้งหมด 106,658.5 กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นการจับกุมพืชกระท่อมครั้งใหญ่ที่สุด และในจำนวนผู้ถูกจับกุมนี้ปรากฏว่า บางรายปลูกเพียง 1 -2 ต้น ก็ถือว่ามีความผิดและถูกจับดำเนินคดีเช่นกัน
ทั้งนี้ศาลพิพากษาตัดสินให้ผู้ปลูกพืชกระท่อมมีความผิดฐานเป็นผู้ผลิต มีโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท (มาตรา 75 วรรค 2) ส่วนผู้เสพ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท (มาตรา 92 วรรค 2)
ในส่วนของพืชกระท่อมจัดเป็นพืชเสพติดชนิดหนึ่ง ในใบกระท่อมมีสารไมตราจัยนินที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง จึงทำให้ทำงานไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย หายปวดเมื่อย มีความสุข ไม่หิว ทนแดดได้นาน แต่ไม่ชอบถูกฝน สำหรับผู้เสพติดแล้วจะพบว่า ร่างกายทรุดโทรมมากจากการทำงานเกินกำลัง ผิวหนังแห้งและดำ โดยเฉพาะบริเวณแก้มจะเป็นจุดดำๆ อาจนอนไม่หลับ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีอาการทางประสาท เช่น มีสภาพจิตใจสับสนเกิดอาการประสาทหลอน สำหรับผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก ฯลฯ เมื่อร่างกายขาดยา ผู้เสพติดจะอ่อนเพลียมาก ฉุนเฉียวกระวนกระวาย มึนงง และซึมเศร้า ปวดเมื่อยตามข้อและกล้ามเนื้อ รวมทั้งอาจมีอาการทางประสาท
รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวต่อไปว่า ขอฝากเตือนถึงพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ ให้ช่วยกันตรวจสอบและประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชน รับรู้ถึงโทษภัยและความผิดตามกฎหมาย ซึ่งเดิมอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นความผิดเล็กน้อย ทั้งนี้ศาลได้ตัดสินแล้วว่า การปลูกพืชกระท่อม มีความผิดฐานเป็นผู้ผลิต จึงมีโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ดังกล่าว อย่างไรก็ตามหากพบว่าในพื้นที่ใดยังมีการปลูกพืชกระท่อมขอให้ทำลายให้หมดสิ้น ทั้งนี้หากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบอาจถูกจับดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป