กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับภัยหนาว ในปีนี้ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เฝ้าระวังและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ในการป้องกันโรคที่มาพร้อมกับความหนาว ได้แก่ โรคปอดบวม ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคอุจจาระร่วง โดย ให้มุ่งเน้นการสร้างพฤติกรรมหลัก ๒ ประการ คือการล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร หรือภายหลัง หยิบจับสิ่งของและใช้ช้อนกลางตักอาหาร ปฏิบัติให้เป็นนิสัย ซึ่งจะเป็นการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพและง่ายที่สุด
สำหรับพฤติกรรมของประชาชนไทยที่น่าห่วงในหน้าหนาว ก็คือ ความเชื่อในเรื่อง การคลายหนาวด้วยการดื่มเหล้า เพราะเชื่อว่าฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้ร่างกายอบอุ่น คลายหนาวได้ เป็นความเชื่อที่อันตราย โดยขณะนี้มีคนไทยอายุ ๑๕ ปี ขึ้นไปดื่มเหล้ามากถึง ๑๖ ล้านกว่าคน ในจำนวนนี้ดื่มประจำ คือ มากกว่า ๒๐ วัน ใน ๑ เดือน จำนวน ๘.๘ ล้านคน ที่เหลืออีก ๗.๓ ล้านคน ดื่มนานๆ ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบทั่วโลก คนไทยดื่มเหล้ามากเป็นอันดับ ๓ ของโลก เฉลี่ยคนละ ๑๒.๔๕ ลิตรต่อปี โดยความเชื่อดังกล่าวใช้ไม่ได้ผล ไม่ได้แก้ความหนาวเย็นได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น หรือนักท่องเที่ยวที่ขึ้นดอยไปสัมผัสบรรยากาศ และมักจัดแคมป์ไฟปาร์ตี้สังสรรค์ มักจะมีการดื่มเหล้าด้วย อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต
นายแพทย์ ปราชญ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โดยทั่วไปเหล้าจะมีเอทิลแอลกอฮอล์ที่กินได้ผสมอยู่ในปริมาณไม่เกิน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ หากดื่มมากๆ และนานๆ เข้า แอลกอฮอล์จะกดประสาทส่วนกลาง จะทำให้ง่วง งง ซึม และหมดสติได้ หากอยู่ในที่มีอากาศหนาวเย็น ยิ่งอันตราย เนื่องจากความเย็นจะทำให้ร่างกายมีความหนืดมากขึ้น การไหลเวียนของโลหิต ยากลำบาก อวัยวะต่าง ๆ ขาดออกซิเจน หัวใจต้องทำงานเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้ช็อก และ เสียชีวิตได้ง่ายขึ้น จึงขอย้ำเตือนอย่ามองข้ามเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะมีผู้เสียชีวิตจากความหนาวทุกปี
(ที่มา :http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03edu01281248&day=2005/12/28)--จบ--