รายการแดนสนธยา ตอน โลกของสัตว์เลือดเย็น ออกอากาศ วันที่ 4 - 8 สิงหาคม 2551

ข่าวบันเทิง Monday August 4, 2008 10:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
รายการแดนสนธยา เสนอสารคดีชุดพิเศษ
ตอน โลกของสัตว์เลือดเย็น (LIFE IN COLD BLOOD)
วันที่ 4 - 8 สิงหาคม 2551 ตั้งแต่เวลา 18.00 — 18.30 น. ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี
โมเดิร์นไนน์ ทีวี และ BBC ภูมิใจเสนอสุดยอดสารคดี ผลงานการถ่ายทำเกรด A ที่หาชมที่ไหนไม่ได้...สุดยอดสารคดีจาก BBC ที่ติดตามถ่ายทำอย่างยากลำบากตลอดระยะเวลา 3 ปี ร่วมเดินทางไปกับ David Attenborough ผู้เชี่ยวชาญด้านวิวัฒนาการ และพันธุกรรมของสัตว์ มือ 1 ของโลก เพื่อร่วมไขความกระจ่างการใช้ชีวิตที่ผิดแปลกพิสดารของสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำตั้งแต่เกิดขึ้นมาบนโลกกระทั่งอยู่รอดจนประสบความสำเร็จตลอด 200 ล้านปี พบหลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์ ที่เผยให้เห็นโลกของ สัตว์เลือดเย็นทุกชนิด วิวัฒนาการตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีการถ่ายทำใหม่ล่าสุด ลิขสิทธิ์เฉพาะจาก BBC ติดตามการจับภาพโดยละเอียด กล้องชนิดพิเศษที่ตามเก็บภาพภายในรังของสัตว์ชนิดต่างๆ ถึงในถ้ำ อิริยาบถ และการใช้ชีวิตส่วนตัวที่ไม่เคยเผยให้เห็นที่ไหน การพิสูจน์วิวัฒนาการของ การเคลื่อนไหวร่างกายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสำรวจการดำรงชีพ การล่า และสังคมในโลกของสัตว์เลือดเย็น ที่เปลี่ยนถ่ายสู่รุ่นต่อรุ่นได้อย่างน่ามหัศจรรย์
วันจันทร์ที่ 4 ส.ค. 51 พบงูตัวแรกที่เกิดขึ้นบนโลก งูดินที่มีลักษณะคล้ายไส้เดือน ซึ่งมีตาบอดสนิท และร่วมระทึกใจไปกับวินาทีการจับเหยื่อของงูหางกระดิ่ง ที่มีโอกาสเห็นได้ยากมากจากการติดตาม จับภาพด้วยกล้องสอดแนมรุ่นใหม่ล่าสุด ที่ควบคุมการทำงานระยะไกล และสามารถตรวจจับความร้อน ได้โดยละเอียด สัมผัสนักฆ่าหฤโหดงูหางกระดิ่ง นักซุ่มโจมตีที่จับหนู ด้วยวิธีตรวจจับความร้อนในตัวหนู และโจมตีด้วยการยืดส่วนโค้งบนลำคอให้ตรงขึ้นอย่างกะทันหัน โดยที่งูฉกหนูเพียงครั้งเดียว และกระตุกเหยื่ออย่างรุนแรงเพียง 3 ครั้งเท่านั้น
วันอังคารที่ 5 ส.ค. 51 พบวิธีการจับเหยื่อของงูตาบอดสนิท งูไทเกอร์สเนค กับพิษสงร้ายกาจในการใช้ลิ้นแฉก เป็นเครื่องค้นหาทิศทางเหยื่อที่ยอดเยี่ยม และวิธีการใช้พิษขับไล่ศัตรูโดยไม่จำเป็นต้องกัดของ งูเห่าโมซัมบิก ที่พ่นพิษส่ายหัวไปมา เพื่อให้พิษกระจายโดนเหยื่อมากที่สุด ร่วมวิเคราะห์ และ เทียบความแตกต่างของงูคิงสเนค และงูปล้องหวาย ที่สามารถบ่งบอกว่างูชนิดไหนมีพิษรุนแรง ด้วยหลัก การสังเกตแบบ “แดงดำไม่มีพิษ แดงเหลืองฆ่าคุณได้”
วันพุธที่ 6 ส.ค. 51 พบวิธีการจัดการกับเหยื่อของงูชนิดต่างๆ งูแอฟริกาใต้ ที่มีกระบวนการย่อยไข่นกกระจาบขนาดใหญ่ได้อย่างง่ายดาย เมื่อถูกกลืนผ่านขากรรไกรไหลลงในลำคอจนถึงกระดูกสันหลัง จากนั้นจึงเกิดการบีบตัวให้เปลือกไข่แตก ส่วนที่เป็นสารอาหารจะไหลเข้าสู่ลำไส้งู และส่วนที่เหลือจะถูกสำรอกออกมา ขณะที่งูหลามแอฟริกา สามารถกลืนกวางได้ทั้งตัว โดยแค่มันเพียงขยับขากรรไกร เป็นแนวทแยงมุมไปด้านหน้าด้านหลัง และวิธีการจัดการปูที่มีกระดองแข็งของงูอย่างชาญฉลาด ด้วยการแยกชิ้นส่วนปูออกอย่างช้าๆ
วันพฤหัสบดีที่ 7 ส.ค. 51 พบปริศนาการมีกระดองของเต่า ที่เกิดจากวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ซี่โครงขยายโค้งขึ้นแล้วแผ่ออกกว้างจนเชื่อมติดกันกลายเป็นกระดองบนหลังเต่า ร่วมไขความลับของสาเหตุที่เต่าบกยักษ์กาลาปากอสต้องปีนขึ้นไปบนปากปล่องภูเขาไฟ เมื่อมันต้องคอยอบอุ่นร่างกาย โดยใช้ความร้อนจากภายนอกเข้ามาทดแทน เพราะมันไม่สามารถสร้างความร้อนจากในร่างกายได้เอง และวิธีรักษาความเย็นของเต่าโกเฟอร์ ที่ขุดอุโมงค์ค์ลึกลงไปใต้ดินกว่า 50 ฟุต เพื่อหลบร้อน
วันศุกร์ที่ 8 ส.ค. 51 พบประโยชน์จากชุดเกราะของจระเข้ ที่ใช้ผิวหนังหุ้มเกล็ดแข็งเป็นแผงรับแสงอาทิตย์ เพื่อนำความอบอุ่นไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ร่วมติดตามพฤติกรรมการรวมตัวกัน โดยบังเอิญของจระเข้กว่า 40 ตัวในยามค่ำคืน เพื่อรออาหารจานใหญ่ ปลากระบอกที่ไหลมาพร้อมกับ น้ำทะเลที่เอ่อล้นในยามน้ำขึ้น และวิธีการประกาศความเป็นเจ้าของเขตแดนของจระเข้ ด้วยการส่งเสียงจากการตีน้ำผุดกระจายข่มขู่จระเข้ตัวอื่น
ติดตามชม “โลกของสัตว์เลือดเย็น” ในรายการแดนสนธยา
วันที่ 4 - 8 สิงหาคม 2551 ตั้งแต่เวลา 18.00 — 18.30 น.ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทร. 0-2434-8300 / 0-2434-8547
คุณสุจินดา, คุณแสงนภา และคุณวิภาวัลย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ