พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงาน และประทานรางวัล งาน “มหิดล-วันแม่” ประจำปี ๒๕๕๑ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๑

ข่าวทั่วไป Monday August 4, 2008 14:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--ม.มหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดงาน “มหิดล - วันแม่” เป็นปีที่ ๒๒ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา โดยในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๑ เวลา ๑๐.๓๐ น. ณ ห้องบรรยายศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ จะเสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงาน และมีการสาธิตเพลงกล่อมลูกโดยผู้ชนะการประกวดขับร้องเพลงกล่อมลูก ๔ ภาค, พิธีมอบรางวัลแก่แม่สู้ชีวิต, แม่ ๑๐๐ ปี, แม่ดี — บุคลากรเด่น, แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และนิทรรศการทางวิชาการ บริการฟรีตรวจไขมันในเส้นเลือด (งดอาหารหลัง ๒๑.๐๐ น.) ตรวจเบาหวาน ทดสอบสมรรถภาพร่ายกาย ตรวจวัดภาวะโภชนาการ ทำฟัน กายภาพบำบัด และปรึกษาปัญหาสุขภาพทั่วไป รวมทั้งมีการบริจาคโลหิต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๔.๓๐ น. ณ สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล ศาลายา
รางวัลแม่สู้ชีวิต ๔ ภาค มหาวิทยาลัยมหิดลจัดตั้งรางวัล “แม่สู้ชีวิต” ขึ้น เพื่อตอบแทนพระคุณแม่ที่ได้อุทิศชีวิตต่อสู้เพื่อลูกตลอดมา รางวัลมี ๒ ประเภท คือ แม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกปกติ และ แม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกพิการ
รางวัลแม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกปกติ ๔ ภาค
- ภาคกลาง ได้แก่ แม่มาลี ไพบูลย์ผล จังหวัดสุพรรณบุรี แม่ของลูก ๘ คน กว่าลูกจะเติบโตเลี้ยงตัวเองได้อย่างวันนี้ แม่ต้องต่อสู้กับความยากจน และเคราะห์กรรม ทั้งไฟไหม้บ้าน ถูกโจรปล้น แต่แม่ไม่ท้อ ยังทำงานหนักเยี่ยงชาย ความซื่อสัตย์ ขยัน ประหยัด อดทน และกตัญญู คือ คุณความดีที่แม่ถ่ายทอดให้ลูก
- ภาคเหนือ ได้แก่ แม่เซี่ยม วงษ์บูรณาวาทย์ จังหวัดเพชรบูรณ์ สามีเสียชีวิตตั้งแต่ลูกคนเล็กอายุ ๑ ขวบ แม่จึงต้องทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ ด้วยความบากบั่น และชาญฉลาด ลูกทุกคนจึงถูกฝึกให้ค้าขาย มีความรับผิดชอบ เกือบ ๕๐ ปีแล้วที่แม่ต่อสู้กับความเหนื่อยยาก วันนี้ร่างกายแม่จึงอ่อนล้า
- ภาคอีสาน ได้แก่ แม่ทุมมา ยมยิ่ง จังหวัดยโสธร มีฐานะยากจน อาชีพหาของป่า เห็ด หน่อไม้ ผัก แม่ต้องตื่นตั้งแต่ตี ๔ ทุกวันเพื่อหาของป่ามาขาย ต้องหาบข้ามหมู่บ้านเพื่อแลกข้าว อาหาร มาเลี้ยงลูก หนทางไกลกว่า ๑๐ — ๑๕ กิโลเมตร แม้วันนี้สุขภาพแม่จะไม่แข็งแรง เพราะแม่ทำงานหนักมาตลอดชีวิต แต่แม่ก็สามารถส่งเสียให้ลูกสำเร็จการศึกษาระดับปริญญา ซึ่งเป็นสิ่งตอบแทนที่แม่ภาคภูมิใจ
- ภาคใต้ ได้แก่ แม่ถนอม คงมาก จังหวัดสงขลา แม่ของลูกชายหญิง ๑๑ คน มีอาชีพทำนา ขายปลา ขายผักสด หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่รายได้ก็ไม่เพียงพอ จึงต้องดิ้นรนหางาน ย้ายถิ่นฐาน จนมารับปลาจากสะพานปลาขาย แสนเหนื่อยยากกว่าจะเลี้ยงลูกทั้ง ๑๑ คน ให้เติบโต กินอิ่มนอนหลับ มีการศึกษาเลี้ยงตัวเองได้ดีในวันนี้
รางวัลแม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกพิการ ๔ ภาค
- ภาคกลาง ได้แก่ แม่ศศิวัลย์ บุญชม กรุงเทพฯ แม่ของลูกฝาแฝดที่ตาบอด ๒ ข้างทั้ง ๒ คน วันนี้ลูกอายุเพียง ๑ ขวบ ๓ เดือน ทุกวันแม่เลี้ยงดูและถ่ายทอดสัมผัสรักจากหัวใจของแม่ แม่จะอดทนดูแลลูกรักไปจนกว่าลูกจะเติบใหญ่
- ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ทิฆัมพร ใจหล้า จังหวัดเชียงราย “แม่จะอดทนสู้เพื่อลูก” นี่คือปณิธานจากหัวใจรักของแม่ที่คอยเป็นพลังให้แม่ต่อสู้ ทุกครั้งที่ออกไปทำงานแม่ต้องแบกลูกไว้กับบ่า หากินด้วยความเหนื่อยยาก กว่าจะได้แต่ละบาท เพื่อเลี้ยงดูลูก ... เรา ๒ คนแม่ลูกจะต่อสู้ไปด้วยกัน
- ภาคอีสาน ได้แก่ แม่กอง ผ่านสำแดง จังหวัดร้อยเอ็ด แม่ของลูก ๑๐ คน อาชีพทำนา ฐานะยากจน การเลี้ยงลูกทั้ง ๑๐ คนให้ตลอดรอดฝั่งก็ยากยิ่ง และ ๑ ใน ๑๐ คน พิการด้วยโรคโปลิโอตั้งแต่วัยเยาว์ กว่า ๔๐ ปีแล้วที่แม่ต้องอุ้มลูกอาบน้ำ ป้อนข้าว เช็ดปัสสาวะ อุจจาระ แม้อายุแม่เกือบ ๘๐ ปีแล้ว แต่หน้าที่แม่ไม่มีวันเกษียณ วันนี้แม่ยังต้องทำหน้าที่ที่เหนื่อยยาก ห่วงแต่ว่า เมื่อวันหน้าไม่มีแม่แล้ว ชีวิตลูกจะอยู่ได้อย่างไรหนอ
- ภาคใต้ ได้แก่ แม่มิน๊ะ สังหาด จังหวัดสงขลา แม่ของ ด.ช.หร่อหยา สังหาด ซึ่งขณะอายุ ๘ ขวบ พิการจากอุบัติเหตุหกล้ม กระดูกสันหลังหัก ทำให้เป็นอัมพาตครึ่งตัว ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ แม่ต้องดูแลอุ้มอาบน้ำ ดูแลการขับถ่าย ซักผ้า หาข้าวให้รับประทาน มีอาชีพทำปลาเล็กปลาน้อย มีรายได้เพียงวันละ ๓๐ - ๓๕ บาท....๒๕ ปีแล้ว ที่แม่เหนื่อยยาก กว่าลูกจะช่วยเหลือตัวเองได้อย่างวันนี้ แม่ไม่เคยทิ้งให้ลูกต้องต่อสู้ตามลำพัง นี่คือบทพิสูจน์ หัวใจรักของแม่มิน๊ะ สังหาด
รางวัล “แม่ดี-บุคลากรเด่น” ของมหาวิทยาลัยมหิดล มอบให้แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำหน้าที่แม่ด้วยความบากบั่นอดทน และยังปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างน่ายกย่อง มหาวิทยาลัยมหิดลมอบรางวัลนี้ เพื่อตอบแทนหัวใจรักอันบริสุทธิ์ของแม่ และเป็นเสมือนผืนผ้าที่ช่วยซับเหงื่อ ซับน้ำตาในบางเวลาที่แม่ท้อแท้ ในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัล“แม่ดี-บุคลากรเด่น” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ประเภทดีเด่นจำนวน ๔ ท่าน ดังนี้
- แม่จีราภา พิศพรรณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แม่ทำงานไม่มีวันหยุด ไม่เคยขาดงาน เสร็จจากงานประจำ แม่รับจ้างขายของตามตลาดนัด ชีวิตแม่แทบไม่ได้ใช้เงินเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว เพราะทุกบาททุกสตางค์ต้องเก็บไว้ให้ลูกเล่าเรียน ใครจะรู้ซึ้งถึงความลำบากของแม่บ้าง
- แม่สุมา ชาติสิริทรัพย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แม่ผู้ขยัน อดทน และชาญฉลาด อบรมลูกได้ดีเยี่ยม แม้เงินเดือนน้อยนิด แต่แม่แบ่งปันดูแลทั้งพ่อแม่ ตัวเอง และแม่สามี สามารถส่งลูกเรียนจบปริญญาโท วันนี้แม่มีความสุขกับชีวิตที่พอเพียง
- แม่วิภาวี วิสาวะโท สำนักสัตว์ทดลอง มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยภาระที่ต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ให้กับลูก ๒ คน ความทุกข์ใจที่แม่เคยได้รับจะเป็นประสบการณ์ชีวิตที่แม่จะปกป้องและดูแลอบรมให้ลูกสาวทั้ง ๒ ให้เติบโตเข้มแข็งอยู่ในสังคมได้อย่างดี ....แม่วิภาวี วิสาวะโท
- แม่เฉลียว ตันแก้ว สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แม่ของลูกพิการทางหู รายได้จากเงินเดือนเพียงน้อยนิด ไม่เพียงพอต่อการดูแล และซื้ออุปกรณ์ช่วยฟัง แม่จึงบากบั่นทำงานทุกอย่างเป็นรายได้เสริม วันนี้ลูกสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติ ผลการเรียน เป็นที่น่าพอใจ นี่คือรางวัลจากความบากบั่นอดทนของแม่ เฉลียว ตันแก้ว
รางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดลจัดตั้งรางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อตอบแทน ๒ มือของแม่ที่นอกจากจะโอบอุ้มเลี้ยงดูลูกแล้ว ยังเอื้อเฟื้อ ดูแลสิ่งแวดล้อม...ด้วยเชื่อว่า “สิ่งแวดล้อมดี เริ่มต้นที่แม่” โดยในปีนี้มีผู้เข้ารับประทานรางวัล ๑ ท่าน ดังนี้
แม่อุแมกรือซง สะระมุติ จังหวัดยะลา มีบทบาทชัดเจนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมศึกษาวิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมร่วมกับสถาบัน การศึกษาและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ เป็นผลให้แหล่งทรัพยากรทั้ง ๓ ของบ้านกือเม็ง คือ บึงโต๊ะแนแว พื้นที่ทุ่งหญ้า และพื้นที่วังปลา อำเภอรามัญจังหวัดยะลายังคงมีสภาพสมบูรณ์เป็นแหล่งพึ่งพิงทั้งด้านอาหารและการประกอบอาชีพให้ชาวบ้านจวบจนปัจจุบัน การใช้สอยทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าของแม่อุแมกรือซง เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในท้องถิ่นเสมอ และได้สร้างคุณูปการต่อขาวบ้านในละแวกนี้ไว้อย่างมหาศาล บทบาทและค่านิยมเหล่านี้ถูกถ่ายทอดให้ลูกชาย การได้รับยกย่องให้เป็นแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่นของแม่อุแมกรือซง จึงสามารถสะท้อนความหมายของคำว่า “สิ่งแวดล้อมที่ดี เริ่มต้นที่แม่”
รางวัลแม่ ๑๐๐ ปี แม่เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ ร่มไทร ให้ความอบอุ่นแก่ลูก...ชีวิตที่ยืนยาวของแม่ จึงเป็นพลังให้ลูกกล้าเผชิญกับทุกสิ่ง รางวัลแม่ ๑๐๐ ปี จึงจัดขึ้นเพื่อประกาศเกียรติคุณแก่แม่ที่มีอายุยืนยาวถึง ๕ แผ่นดิน โดยในปีนี้มีผู้เข้ารับประทานรางวัล จำนวน ๕ ท่าน ดังนี้
- รางวัลแม่ ๑๐๐ ปี กรุงเทพฯ แม่ผ่อง ยุทธารักษ์ อายุ ๑๐๒ ปี อาชีพทำสวน พายเรือขนของจากสวนไปขายตั้งแต่สาว ๆ มีลูก ๕ คน คนโต อายุ ๘๐ ปี คนเล็ก อายุ ๕๖ ปี มีสุขภาพแข็งแรง เดินเองได้ รับประทานอาหารได้เอง ชอบรับประทานขนมจีนซาวน้ำ ต้องพูดเสียงดังจึงจะได้ยิน อารมณ์ดี มีครอบครัวที่อบอุ่นอยู่พร้อมหน้าลูกหลานเหลน สามารถร้องเพลงฝนเดือนหกได้ไพเราะมาก
- รางวัลแม่ ๑๐๐ ปี ภาคกลาง นางพยอม จุ้ยน่วม อายุ ๑๐๒ ปี จังหวัดปทุมธานี ลูกคนโตอายุ ๗๓ ปี คนเล็กอายุ ๕๘ ปี อาชีพชาวสวนและค้าขาย ปัจจุบันสุขภาพแข็งแรง ได้ยินชัด ยิ้มแย้มแจ่มใส
- รางวัลแม่ ๑๐๐ ปี ภาคเหนือ คุณแม่ผัน ลินนวล อายุ ๑๐๔ ปี จังหวัดลำพูน มีลูก ๓ คน ลูกคนโตอายุ ๗๙ ปี คนสุดท้องอายุ ๖๓ ปี อาชีพทำนา และทอผ้า สุขภาพแข็งแรงกว่าวัย หูได้ยินชัดเจน ความจำดี เดินเองได้ หาอาหารรับประทานเองได้ ปลูกต้นไม้เป็นงานอดิเรก ชอบรับประทานอาหารทุกชนิด ยกเว้นเนื้อสัตว์ที่เป็นชิ้นโตๆ นิยมรับประทานปลามากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ไม่ดื่มน้ำอัดลมและไม่รับประทานขนมหวาน รับประทานกล้วยน้ำว้าทุกวัน
- รางวัลแม่ ๑๐๐ ปี ภาคอีสาน คุณแม่หนุ่ม เปรี่ยมสติ อายุ ๑๐๕ ปี จังหวัดอุบลราชธานี อาชีพทำนาและสวนยาง สุขภาพแข็งแรง สายตาดี หูได้ยินชัด รับประทานอาหารเอง เข้าห้องน้ำเองได้ น่าแปลกที่มีฟันงอกใหม่อีก ๒ ซี่
- รางวัลแม่ ๑๐๐ ปี ภาคใต้ คุณแม่เกี้ยว สุทธิเสริม อายุ ๑๐๒ ปี จังหวัดชุมพร มีลูก ๙ คน ลูกคนโตอายุ ๗๙ ปี คนเล็กอายุ ๕๓ ปี สุขภาพแข็งแรง ความจำดีเยี่ยม ตาดี ได้ยินชัด เดินเองได้ หาข้าวรับประทานเองได้ มีอารมณ์ขัน ชอบรับประทานผักลวก เช่นผักเหลียงลวกจิ้มน้ำพริก แกงส้ม แกงเรียง ไม่กินเผ็ด ยังช่วยลูกหลานทำงาน เช่นเด็ดพริก ดายหญ้า ปลูกต้นไม้ ยังร้องเพลงกล่อมลูกภาคใต้ได้ไพเราะ
สอบถามรายละเอียดได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี โทร.๐—๒๘๔๙—๖๒๐๘—๑๐

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ