กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--กรมสอบสวนคดีพิเศษ
เพราะภาพลักษณ์ที่ดีของ "ทองคำ" และ "น้ำมัน" ทั้งในแง่คุณค่าและมูลค่า จึงเป็นสินค้าที่ใครก็อยากเป็นเจ้าของ ด้วยเชื่อว่าในภาวะเช่นนี้ราคาไม่มีตกแน่นอน หากมีทองคำเก็บไว้ นำออกมาขายเมื่อไหร่ไม่มีขาดทุน เช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่ผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาฟันธงว่า จะคงราคาสูงไปอีกนาน
สำหรับคนที่มีฐานะทางการเงินดี มีเงินเก็บฝากธนาคารหาดอกผลจากอัตราดอกเบี้ย แต่การฝากเงินในปัจจุบันดูเหมือนว่าระดับอัตราดอกเบี้ยไม่คุ้มค่าจากยอดเงินที่มี การลงทุนใน "ทองคำ" และ "น้ำมัน" ซึ่งเป็นสินค้าความเสี่ยงน้อยที่นักลงทุนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ จึงเลือกที่จะเสี่ยง แม้ผลลัพธ์ออกมาจะมีหลายคนตกเป็นเหยื่อแก๊งหลอกลวงเก็งกำไรจากการซื้อขายล่วงหน้าทองคำและน้ำมัน ที่อาศัยช่องว่างความต้องการ "เงินต่อเงิน" ของคนกลุ่มนี้มาหลอกลวง "ผลตอบแทนสูง ในระยะเวลาสั้น"
ย้อนดูเฉพาะคดีสำคัญที่ผู้เสียหายจำนวนมาก และมีมูลค่าความเสียหายสูง และได้เข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีตัวอย่างชัด ๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่
กรณีการหลอกลวงเก็งกำไรจากการซื้อขายทองคำรูปพรรณ ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนต่อเนื่องปลายปี 2549 ในขณะที่ราคาทองคำรูปพรรณซื้อขายในท้องตลาดอยู่ระหว่างบาทละ 10,200 -12,000 บาท ก็มีกลุ่มคนที่อ้างว่าสามารถซื้อทองคำรูปพรรณได้ในราคาถูกกว่าทั่วไป และไม่ต้องเสียค่ากำเหน็จ ในราคาเพียงบาทละ7,500-9,000 บาท หากนำไปขายก็จะได้กำไรบาทละ 1,500-2,500 บาท และสร้างความน่าเชื่อถือโดยอ้างว่าเป็นหุ้นส่วนร้านขายทอง ชักชวนให้คนมาลงทุนซื้อขายทองคำรูปพรรณกับตนแต่ต้องจ่ายเป็นเงินสด แล้วใช้วิธีการเอาเงินจากผู้สั่งซื้อรายเก่ามาหมุนเวียนซื้อทองคำรูปพรรณให้กับลูกค้ารายใหม่ ซึ่งแรก ๆ ที่กลุ่มผู้สั่งซื้อไม่มากก็ยังสามารถส่งมอบทองคำให้ได้จริง ภายในระยะเวลา 7-20 วัน แต่เมื่อมีผู้สั่งซื้อมากขึ้นจนไม่สามารถส่งมอบได้ตามกำหนดและอ้างเหตุร้านทองผลิตไม่ทันมาโกหกกับผู้สั่งซื้อ และในที่สุดก็หลบหนีไป ซึ่งในกรณีนี้กลุ่มผู้กระทำผิดใช้ช่วงเวลาเพียงไม่เกิน 2 เดือน หลอกลวงนักเก็งกำไรทองคำรูปพรรณจำนวน 89 ราย รวมเงินที่ถูกหลอกลวงจำนวน 39,439,750 บาท
จากพฤติการณ์ดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า ผู้กระทำผิดมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่แรกด้วยการแสดงข้อความเป็นเท็จแก่ประชาชน ที่น่าสนใจคือ การชักชวนประชาชนให้นำเงินไปลงทุนซื้อทองคำรูปพรรณในราคาบาทละ 7,500 บาท หากนำไปขายต่อจะได้กำไรบาทละประมาณ 1,500 บาท คิดเป็นผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 20 ต่อ 10 วัน หรือ ร้อยละ 730 ต่อปี ซึ่งสูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ เข้าข่ายเป็นความผิดแชร์ลูกโซ่ และฉ้อโกงประชาชน
ขณะที่กรณีการหลอกลวงเก็งกำไรซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า ก็มีลักษณะไม่ต่างกันเพียงแต่เปลี่ยนสินค้ามาเป็น "น้ำมัน" ที่อิงราคาซื้อขายจากตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มราคาอยู่ในระดับสูง มีการระดมทุนในวงกว้าง และแสดงข้อมูลราคาน้ำมันในตลาดโลกอันเป็นเท็จ ผู้กระทำผิดอ้างว่า ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ทำธุรกิจซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า หลอกลวงด้วยการโทรศัพท์ไปชักชวนคนที่มีฐานะทางการเงินค่อนข้างดี เพราะต้องลงทุนด้วยการเปิดบัญชีขั้นต่ำ 3 แสนบาท คนที่ตกเป็น "เหยื่อ" ผู้กระทำผิดน่าจะได้ข้อมูลมาจากฐานข้อมูลประวัติลูกค้าบัตรเครดิต การซื้อขายต้องซื้อขายขั้นต่ำครั้งละ 2 ยูนิต (ยูนิตละ 100,000 บาท) การชำระเงินต้องจ่ายเป็นเงินสด เช็คธนาคาร หรือโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัท ฯ ตามธนาคารที่กำหนดไว้ แท้ที่จริงแล้ว บริษัท ฯ มิได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.ให้ประกอบธุรกิจซื้อขายล่วงหน้า มิได้มีการทำธุรกิจซื้อขายล่วงหน้าตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด นอกจากนั้น ข้อมูลราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทางบริษัท ฯ จัดเตรียมไว้ให้ผู้ลงทุนดูที่บริษัท ฯ ก็เป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งผู้ลงทุนที่ถูกหลอกลวงไม่ทราบข้อมูลดังกล่าวจึงหลงเชื่อนำเงินไปลงทุนและต้องหมดตัวไปตาม ๆ กัน นับเป็นมหันตภัยของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงอีกประเภทหนึ่ง
พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ในภาวะค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน คนที่พอมีเงินเก็บอยู่บ้างอย่างข้าราชการเกษียณอายุ หรือคนที่มีฐานะดี ล้วนต้องการสร้างรายได้เพิ่มจากเงินทุนของชีวิตที่เก็บออมไว้นำมาลงทุน จึงเป็นช่องทางให้กลุ่มมิจฉาชีพคิดแผนการตลาดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ที่ให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันสั้น ซึ่งหากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าไม่มีทางเป็นไปได้เลยในการทำการค้าในระบบปกติที่ถูกต้องตามกฎหมาย
กรณีแชร์ทองคำรูปพรรณเป็นการใช้ระบบสร้างสมาชิกจากปากต่อปากจึงมีกลุ่มผู้เสียหายจำนวนไม่มากนัก แต่การลงทุนในแชร์น้ำมันโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นลิบลิ่วในปัจจุบัน ทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก และมีมูลค่าความเสียหายมากกว่าหลายเท่า เบื้องต้นประมาณการความเสียหายหลายร้อยล้านบาท และปัจจุบันมีประมาณ 5-10 บริษัทที่ประกอบธุรกิจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งดีเอสไอกำลังติดตามและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเตรียมเข้าจับกุมในเร็ว ๆ วันนี้ เพราะมีหลักฐานเพียงพอเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนและแชร์ลูกโซ่
พ.อ.ปิยะวัฒก์ กล่าวว่า จะเห็นว่าไม่ว่าในยุคสมัยใด การเสนอให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้นก็ยังเป็นจุดอ่อนของผู้บริโภค ที่กลุ่มมิจฉาชีพเอามาใช้ล่อใจ และล่อลวงให้คนเข้าไปเป็นเหยื่อ ซึ่งการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การใช้วิจารณญาณในการลงทุน และไม่หลงเชื่อใครที่โทรศัพท์มาชักชวนง่าย ๆ ควรไตร่ตรองให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนใดๆ อย่างน้อยควรศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ให้ถ่องแท้เสียก่อน หากไม่รู้ก็สามารถสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็น สำนักงาน ก.ล.ต., กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กลุ่มป้องปรามการเงินนอกระบบ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และ ดีเอสไอ
ดังนั้น ข้อมูลจากความร่วมมือของประชาชน คือเบาะแสของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ทั้งดีเอสไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยการบูรณาการทำงานในเชิงรุก เพื่อตัดวงจรแก๊งมิจฉาชีพที่ประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้ให้ได้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด การแจ้งข้อมูลเบาะแสแชร์ลูกโซ่ที่ง่ายที่สุด คือการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น หากตำรวจสอบสวนผู้เสียหายได้ตั้งแต่ 50 คน ขึ้นไปหรือมีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 20 ล้านบาท ก็จะส่งเรื่องต่อให้ดีเอสไอดำเนินการต่อโดยอัตโนมัติ ส่วนบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 คือ จำคุก 5-10 ปี ปรับ 5 แสน- 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เนื่องจากเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระในคดีที่มีโทษอัตราจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ศาลเรียงกระทงลงโทษได้ แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี.
งานเผยแพร่-ประชาสัมพันธ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
กระทรวงยุติธรรม โทร.0-22701350-4 ต่อ 113