ฐานะการคลังตามระบบ สศค. ไตรมาสที่ 3 (เมษายน — มิถุนายน 2551) และในช่วง 9 เดือนแรก (ตุลาคม 2550 — มิถุนายน 2551) ปีงบประมาณ 2551

ข่าวทั่วไป Monday August 4, 2008 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยฐานะการคลังเบื้องต้นตามระบบ สศค. (ระบบ Government Finance Statistics: GFS) สรุปได้ว่า ในไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2551 ดุลการคลังภาครัฐบาลเกินดุลสูงถึง 161,936 ล้านบาท โดยเป็นการเกินดุลของรัฐบาลเป็นสาเหตุหลัก เนื่องจากเป็นช่วงของการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบสิ้นปีบัญชี 2550 และได้ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุลเพียง 38 ล้านบาท โดยดุลการคลังของรัฐบาลยังคงขาดดุลอยู่ 12,606 ล้านบาท (ขณะที่ อปท. เกินดุล 12,568 ล้านบาท) ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตได้ในระดับร้อยละ 5.0 — 6.0 ในปี 2551 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานของภาครัฐบาลในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2551 ดุลการคลังภาครัฐบาลเกินดุล 161,936 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.7 ของ GDP ) โดยเป็นการเกินดุลของรัฐบาล 143,977 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.5 ของ GDP) ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เกินดุล 17,959 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.2 ของ GDP)
1.1 ด้านรายได้ รัฐบาลมีรายได้ 518,860 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 5.5 ของ GDP) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.8 โดยภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนในอัตราสูงที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสุรา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8) เป็นต้น
1.2 ด้านรายจ่าย รัฐบาลมีการใช้จ่ายทั้งสิ้น 412,951 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 4.4 ของ GDP) ลดลง 12,549 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มีรายจ่ายทั้งสิ้น 425,500 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 5.0 ของ GDP) ทั้งนี้ เนื่องจากในปีที่ผ่านมา พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้ล่าช้า ดังนั้น หลังจากเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2550 จึงทำให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นมา
1.3 ดุลงบประมาณ ผลจากการที่รายได้รัฐบาลสูงกว่ารายจ่ายส่งผลให้ดุลงบประมาณในช่วงไตรมาสที่ 3 เกินดุล 105,909 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.1 ของ GDP) เกินดุลสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวนที่เกินดุล 34,293 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP) ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
1.4 รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ ประกอบด้วย Project Loans และ Structural Adjustment Loans (SAL) มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 378 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วเล็กน้อย(ปีที่แล้วมีจำนวน 322 ล้านบาท) โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของการเบิกจ่ายเงิน SAL ที่เร่งตัวขึ้น
1.5 ดุลบัญชีนอกงบประมาณ (ประกอบด้วยกองทุนนอกงบประมาณและเงินฝากนอกงบประมาณ) เกินดุล 38,446 ล้านบาท (เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่เกินดุล 46,608 ล้านบาท) เนื่องจากได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนให้แก่กองทุน ฯ ค่อนข้างมากในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ที่ผ่านมา จึงทำให้การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนในช่วงไตรมาสที่ 3 ลดลง นอกจากนั้นยังมีการให้กู้ยืมกับนักเรียนและนักศึกษาของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น
1.6 ดุลการคลังของรัฐบาล เมื่อรวมดุลงบประมาณและดุลบัญชีนอกงบประมาณและหักรายจ่ายจากเงินกู้ต่างประเทศออกแล้ว ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐบาลเกินดุลทั้งสิ้น 143,977 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.5 ของ GDP) ในขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วเกินดุล 80,580 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.0 ของ GDP) สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance) ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2551 เกินดุลทั้งสิ้น 160,789 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.7 ของ GDP) เกินดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่เกินดุล 97,228 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.1 ของ GDP) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.4
1.7 ดุลการคลังของ อปท. คาดว่าจะมีรายได้ทั้งสิ้น 97,042 ล้านบาท และมีการใช้จ่ายทั้งสิ้น 79,083 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลการคลัง อปท. เกินดุล 17,959 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.2 ของ GDP) ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วเกินดุล 34,446 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP)
2. ผลการดำเนินงานของภาครัฐบาลในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551
ผลจากการที่รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นมากในไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 ภาครัฐบาลขาดดุลเพียง 38 ล้านบาท เทียบกับปีที่แล้วที่เกินดุล 13,641 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลของรัฐบาลจำนวน 12,606 ล้านบาท ในขณะที่ อปท. เกินดุล 12,568 ล้านบาท
2.1 ดุลงบประมาณขาดดุลทั้งสิ้น 47,940 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของ GDP)โดยรัฐบาลมีรายได้ 1,181,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.4 โดยรายได้ภาษีที่จัดเก็บได้ในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล (เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9) ในขณะที่มีการใช้จ่ายทั้งสิ้น 1,229,762 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.9
2.2 รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ ประกอบด้วย Project Loans และ Structural Adjustment Loans มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 640 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 34.7
2.3 ดุลบัญชีนอกงบประมาณ เกินดุล 35,974 ล้านบาท เกินดุลลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่เกินดุล 52,039 ล้านบาท
2.4 ดุลการคลังของรัฐบาล จากดุลงบประมาณที่ขาดดุลและดุลบัญชีนอกงบประมาณที่เกินดุล เมื่อหักรายจ่ายจากเงินกู้ต่างประเทศแล้ว ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐบาลขาดดุลทั้งสิ้น 12,606 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP)
สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 เกินดุล 55,195 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของ GDP) โดยเกินดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา 7,071 ล้านบาท
2.5 ดุลการคลังของ อปท. คาดว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 อปท. มีรายได้ทั้งสิ้น 253,314 ล้านบาท และรายจ่ายจำนวน 240,746 ล้านบาท ส่งผลให้เกินดุลการคลังจำนวน 12,568 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP) โดยเกินดุลลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งเกินดุล 31,746 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ