แพทย์วิตกเชื้อนิวโมคอคคัสที่ทำให้เกิดโรคปอดบวมมีอัตราดื้อยาทวีคูณ หวั่นเด็กไทยเสี่ยงติดเชื้อสูง แนะฉีดวัคซีนไอพีดีลดอัตราเสี่ยง

ข่าวทั่วไป Monday August 4, 2008 17:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ มอร์
ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อวิตกสถานการณ์เชื้อโรคต่างๆ มีอัตราดื้อยาสูงในปัจจุบัน โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดบวมในเด็กเล็กและกลุ่มโรคไอพีดี พบอัตราการดื้อยาสูงกว่าอดีตหลายเท่า หน่วยงานชั้นนำด้านสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ร่วมประชุมเพื่อหามาตรการป้องกันเร่งด่วน พร้อมเสนอผลงานวิจัยที่สนับสนุนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการบรรจุวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสหรือวัคซีนไอพีดี เข้าไปในบัญชีวัคซีนหลักแห่งชาติในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสำหรับเด็กเล็กทุกคน
นพ.พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ รพ.กรุงเทพ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม และมลภาวะเป็นพิษเกิดขึ้นมากมาย ประกอบกับภัยธรรมชาติต่างๆ การเกิดภาวะโลกร้อน ทำให้เชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆมีการกลายพันธุ์ และผ่าเหล่ามากขึ้น โรคบางโรคที่เคยหายไปจากระบบสาธารณสุขกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง และเชื้อโรคบางตัวที่เคยรักษาได้ผลในอดีตเกิดภาวะเชื้อดื้อยา การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร
“เชื้อที่พบว่าในระยะหลังมีอัตราการดื้อยาสูงจนน่าตกใจคือ เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคปอดบวมในเด็กเล็ก และกลุ่มโรคไอพีดี ในปัจจุบันพบว่าเด็กไทย และเด็กในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการติดเชื้อนิวโมคอคคัส เนื่องจากเชื้อดื้อยามากขึ้น ทำให้การรักษายากขึ้นหลายเท่า ตลอดจนการที่เชื้อไข้หวัดใหญ่มีการระบาดร่วมด้วย ทำให้เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคแทรกซ้อนจากเชื้อนิวโมคอคคัสได้มากขึ้น ดังนั้นการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนไอพีดีในเด็กเล็ก จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญในการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อนิวโมคอคคัสหรือกลุ่มโรคไอพีดีได้ทางหนึ่ง ขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครองต้องรักษาสุขอนามัยของตนเอง และลูกหลานอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อระหว่างกันอีกด้วย”
นพ.พรเทพ กล่าวว่า “จากการร่วมสัมมนาโรคติดเชื้อนานาชาติครั้งที่ 13 (13th International Congress on Infectious Diseases, ICID) ที่จัดขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีกุมารแพทย์ทั่วโลกกว่า 3,000 คนเข้าร่วมประชุม ได้มีการนำเสนอผลการวิจัยถึงความคุ้มค่าและประสิทธิผลของมาตรการการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ และจากสถิติการเสียชีวิตของเด็กที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ นาที เป็นสิ่งยืนยันถึงความจำเป็นในการผนวกวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเข้าไปในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติของประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งปัจจุบันวัคซีนไอพีดีได้รับการบรรจุเข้าในบัญชีวัคซีนหลักแห่งชาติตัวหนึ่งในแผนงานการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่เด็กเล็กในประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศทั่วโลก1 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เวลล์ ฝรั่งเศส เยอรมัน นอรเวย์ ออสเตรเลีย และเม็กซิโก เป็นต้น
นอกจากนี้ในงานประชุมวิชาการเรื่องเชื้อนิวโมคอคคัสและโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสระดับนานาชาติครั้งที่ 6 (6th International Symposium on Pneumococci & Pneumococcal Disease; ISPPD) เมื่อกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ณ กรุงเรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์ ก็มีการเปิดเผยข้อมูลว่าการให้วัคซีนไอพีดีในเด็กเล็กนอกจากจะสามารถป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กเล็กได้ดีแล้ว ยังช่วยลดการติดเชื้อนิวโมคอคคัสให้กับกลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนไอพีดี2 ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเด็กที่ได้รับวัคซีนด้วย ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้ระบุว่าผลการศึกษาในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดียังแสดงให้เห็นว่าการให้วัคซีนนี้แก่เด็กเล็กเป็นมาตรการทางสาธารณสุขที่มีความคุ้มค่าอย่างสูงเมื่อเทียบกับประสิทธิผลและค่าใช้จ่ายในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขตามเกณฑ์การประเมินขององค์การอนามัยโลก1,2
ผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาถึงปัญหาการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในประเทศแถบเอเชียพบว่า อุบัติการณ์การเกิดโรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease; IPD) ในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ พบได้ตั้งแต่ 30.9 ราย ต่อประชากร 100,000 รายในประเทศญี่ปุ่น จนถึง 276 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย ในประเทศบังกลาเทศ3
นพ.พรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากตัวเลขอุบัติการณ์ข้างต้น ทำให้เห็นความเร่งด่วนและความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการแก้ไขปัญหานี้ และที่สำคัญผลการวิจัยดังกล่าวยังชี้ชัดว่า การให้วัคซีนป้องกันไอพีดีสามารถป้องกันการเกิดโรคในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ได้ตั้งแต่ 57—91%4 และคาดว่าวัคซีนสามารถป้องกันการเกิดโรคปอดบวมในแต่ละปีได้มากถึง 15.8 ล้านรายในประเทศแถบแปซิฟิกตะวันตก และป้องกันการเกิดโรคปอดบวมในแต่ละปีได้มากกว่า 28 ล้านรายในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้5
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บุษบา (บุษ) / พิธิมา (ก้อย)
โทร. 0-2718-3800 ต่อ 133 / 138
เอกสารอ้างอิง
1. World Health Organization (WHO). Pneumococcal conjugate vaccine for childhood immunization - WHO position paper. Weekly Epidemiologocal Record 2007;12:93-104.
2. Grijalva C, Nuorti JP, et al. Decline in pneumonia admissions after routine childhood immunization with pneumococcal conjugate vaccine in the USA: a time-series analysis. Lancet 2007;369:1179-86.
3. Lee K, Rinaldi F, Lee V, et al. Economic evaluation of universal infant vaccination with 7vPCV in Hong Kong. Abstract presented at the 6th International Symposium on Pneumococci & Pneumococcal Diseases (ISPPD).
4. Garcia C, Center K and Herrera G. Burden of pneumococcal disease (PD) in the Asia-Pacific (AP) region: importance of inclusion of pneumococcal conjugate vaccine (PCV) into national immunization programs (NIPs). Abstract presented at the 6th International Symposium on Pneumococci & Pneumococcal Diseases (ISPPD).
5. Kim Soonae, Nyambat B, Kilgore P, et al. Assessment of Vaccine-Preventable Invasive Pneumococcal Disease Burden Among Children aged < 5 years in the Asia-Pacific Region. Abstract presented at the 6th International Symposium on Pneumococci & Pneumococcal Diseases (ISPPD).

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ