กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบแก่หุ้นกู้จำนวน 2,500 ล้านบาทของหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2549 หรือหุ้นกู้ชุด A และแก่หุ้นกู้จำนวน 2,500 ล้านบาท ของหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2549 หรือหุ้นกู้ชุด B ที่ออกโดยบริษัทสยามพาณิชย์ เอสพีวี 1 จำกัด โดยหุ้นกู้ทั้งสองชุดมีอันดับเครดิตภายในประเทศที่ ‘AAA(tha)’ การประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบดังกล่าวสะท้อนความกังวลของฟิทช์เกี่ยวกับปัญหาด้านการปฏิบัติการซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระบบเรียกเก็บหนี้มาเป็นระบบของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) จากระบบของบริษัท ไทยพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (SCBL) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าฟิทช์จะคาดการณ์ไว้แล้วว่าอาจเกิดปัญหาความขัดข้องบางประการในช่วงการเปลี่ยนระบบ แต่อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมาสูงกว่าที่คาดไว้
โดยฟิทช์ระบุว่าหลังจากเปลี่ยนมาใช้ระบบการเรียกเก็บหนี้ใหม่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อัตราการผิดนัดชำระหนี้ (Delinquency Ratio - คิดจากสัดส่วนลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้สองงวด) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.6 ในเดือนมิถุนายน จากร้อยละ 5.4 ในเดือนเมษายน โดยถึงแม้ว่ายอดเงินรับชำระหนี้รายเดือนของลูกหนี้ทั้งหมดเทียบกับยอดลูกหนี้รวม ณ ต้นงวด จะไม่ลดลงมากนัก แต่อัตราการผิดนัดชำระหนี้เฉลี่ยสามเดือน เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.99 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งใกล้ระดับร้อยละ 7 ที่ตั้งไว้เป็นเกณฑ์สำหรับการนำเงินเข้าบัญชีสำรองสภาพคล่อง (Liquidity Reserve) ในขณะที่ระดับของอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่จะทำให้หุ้นกู้เข้าสู่ช่วงทยอยชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้ก่อนครบกำหนด (Early Amortisation Event) ได้ตั้งไว้ที่ระดับเกินร้อยละ 9.5
SCBL ระบุว่าปัญหาหลักเกิดจากความไม่สอดคล้องกันของข้อมูลลูกค้าบางรายเนื่องจากระบบการเรียกเก็บหนี้ที่แตกต่างกันของ SCBL และ SCB ซึ่งทำให้มีรายการจำนวนมากที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมจากระบบคอมพิวเตอร์ และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของรายการรับชำระหนี้ที่ยังไม่สามารถบันทึกเพื่อตัดยอดหนี้ของลูกหนี้ รายการคงค้างในระบบดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการจัดชั้นหนี้ของลูกหนี้และทำให้ยอดการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น นอกจากนี้แล้ว อัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้นบางส่วนยังเป็นผลมาจากนโยบายที่แตกต่างกันของ SCB และ SCBL ในการตัดยอดหนี้จากเงินรับชำระหนี้รายเดือนของลูกค้า โดยนโยบายของ SCB เงินรับชำระหนี้รายเดือนจะถูกนำไปชำระยอดค่าธรรมเนียมค้างจ่าย (ส่วนใหญ่เป็นค่าปรับจากการจ่ายค่างวดล่าช้า) ก่อนจะนำมาชำระเงินค่างวด ในขณะที่ SCBL เงินรับชำระหนี้จะถูกนำไปชำระเงินค่างวดก่อนค่าธรรมเนียมค้างจ่าย ดังนั้นลูกค้าที่มีค่าธรรมเนียมคงค้าง แต่ชำระเงินที่เพียงพอสำหรับเงินค่างวดเท่านั้น จะถูกจัดชั้นเป็นลูกค้าผิดนัดชำระหนี้โดย SCB ทั้งนี้ SCBL และ SCB กำลังทำการแก้ไขปัญหาจากระบบปฏิบัติการ และคาดว่าจะสามารถดำเนินการเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 นี้ ฟิทช์จะนำอันดับเครดิตออกจากเครดิตพินิจเมื่อการเปลี่ยนระบบได้สิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์และระบบการเรียกเก็บหนี้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ ฟิทช์ยังมีความกังวลต่อคุณภาพของสินทรัพย์ภายใต้โครงการในอนาคตที่อาจจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง ค่าครองชีพและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เนื่องจากลูกหนี้ภายใต้โครงการจำนวนประมาณร้อยละ 64 เป็นลูกหนี้เช่าซื้อรถกะบะ ซึ่งคาดว่าได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นและราคารถมือสองที่ลดลง นอกจากนี้แล้ว ร้อยละ 60 ของลูกหนี้ภายใต้โครงการเป็นลูกค้าในต่างจังหวัด และร้อยละ 25 ของลูกหนี้ภายใต้โครงการเป็นลูกค้าที่ซื้อรถมือสอง ซึ่งโดยทั่วไป ลูกค้าสองกลุ่มนี้จะมีความอ่อนไหวต่อสภาพการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมากกว่าเมื่อเทียบกับลูกค้ากลุ่มอื่น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอันดับเครดิตของหุ้นกู้ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ โครงการยังสามารถรักษาอัตราส่วนลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสียต่อจำนวนหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน (Overcallateralisation ratio) ที่ระดับ 1.32x นับตั้งแต่วัน closing date
โครงการนี้เป็นการออกหุ้นกู้ครั้งแรกภายใต้โครงการแปลงสินทรัพย์ประเภทเช่าซื้อรถยนต์ของ SCBL โดยในวัน Closing SCBL ได้ขายสิทธิเรียกร้องที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดให้กับบริษัท สยามพาณิชย์ เอสพีวี 1 ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ออกหุ้นกู้ โดยเงินที่ใช้ในการชำระค่าซื้อขายมาจากการออกหุ้นกู้ร้อยละ 75.6 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 24.4 เป็นการทยอยผ่อนชำระซึ่งถือเป็นส่วนสนับสนุนเครดิตสำหรับโครงการนี้ มาตรการลดทอนความเสี่ยงอื่นๆที่สนับสนุนอันดับเครดิตของโครงการรวมถึง บัญชีเงินสำรองของโครงการ เกณฑ์การคัดเลือกลูกหนี้เข้าร่วมโครงการ การกำหนดเหตุการณ์ต่างๆที่เมื่อเกิดขึ้นจะทำให้โครงการสามารถทยอยชำระคืนเงินต้นก่อนกำหนดได้ SCBL และ SCB ทำหน้าที่เป็นผู้เรียกเก็บหนี้ โดยมีธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ (อันดับเครดิตสากล ‘AA/F1+’) ทำหน้าที่ตัวแทนสำรองการเรียกเก็บหนี้
ติดต่อ : นภจักร ผาสุกวนิช, อรวรรณ การุณกรสกุล, วินเซนต์ มิลตัน +662 655 4755