ไอบีเอ็มเผย ผลโพลล์ชี้ ซีไอโอมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นในธุรกิจอาเซียน ผู้นำจำเป็นต้องก้าวทันเทคโนโลยี

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday August 5, 2008 10:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ไอบีเอ็มเผย ผลโพลล์ชี้ ซีไอโอมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นในธุรกิจอาเซียน ผู้นำจำเป็นต้องก้าวทันเทคโนโลยี ด้วยการจัดการความสามารถของบุคลากรและความเปลี่ยนแปลง
จากผลการสำรวจความคิดเห็นที่สถาบันอินซีแอด (INSEAD) และไอบีเอ็มเปิดเผยเร็วๆ นี้ พบว่า 94% ของประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ (ซีไอโอ) ในอาเซียนระบุว่า บทบาทของซีไอโอในอาเซียนมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในภาคธุรกิจ โดยหากวัดความเป็นผู้นำขององค์กรจากความสามารถของบุคลากรและทักษะความเป็นผู้นำแล้ว พบว่า ยังคงตามหลังการจัดการและทักษะทางเทคโนโลยีของประเทศต่างๆ ในอาเซียน
ในการสำรวจความเป็นผู้นำของซีไอโอในอาเซียนประจำปี 2008 มีการสอบถามผู้บริหารระดับซีไอโอกว่า 160 คนจากบริษัทท้องถิ่นและบริษัทข้ามชาติในประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2008
ผลการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ชี้ว่า การจัดการความสามารถของบุคลากร ความเปลี่ยนแปลงและลูกค้า และความหลากหลาย ถือเป็นงานสำคัญสำหรับซีไอโอในภูมิภาคอาเซียน
การจัดการความสามารถของบุคลากร: ซีไอโอมองว่าบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเป็นปัจจัยหลักในการเสริมสร้างองค์กร ทั้งนี้ซีไอโอในอาเซียนเชื่อว่านอกเหนือจากการบริหารจัดการและดูแลพนักงานฝ่ายไอทีโดยรวมแล้ว ตนเองยังมีบทบาทในการระบุและบ่มเพาะความสามารถของบุคลากรอีกด้วย 80.4% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นด้วยว่าการระบุและการพัฒนาบุคลากรฝ่ายไอทีถือเป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติงานในฐานะซีไอโอ นอกจากนี้ ซีไอโอ 81.2% คิดว่าการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่พนักงานด้วยการมอบหมายงานอย่างมีประสิทธิภาพ การขยายโอกาสให้แก่พนักงาน และการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำ
การจัดการความเปลี่ยนแปลงและลูกค้า: ซีไอโอตระหนักว่าควรมีการจัดการการเปลี่ยนแปลงในฝ่ายไอทีภายในกรอบโครงสร้างที่เหมาะสมสำหรับการบริหารองค์กรและงานไอทีอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับซีไอโอในอาเซียนยังชี้ว่าการจัดการการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมโดยรวมและทำให้องค์กรต่างๆ มีลักษณะเป็นองค์กรระดับภูมิภาคและองค์กรระดับโลกเพิ่มมากขึ้น การปรับปรุงประสบการณ์และความพึงพอใจของลูกค้าทั้งภายในและภายนอกองค์กรถือเป็นหนึ่งในงานสำคัญที่สุดของซีไอโอ นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่มีเสถียรภาพและประหยัดค่าใช้จ่าย และการบริหารจัดการและส่งมอบโครงการไอทีสำคัญๆ
การจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรม: บรรดาซีไอโอต่างยอมรับว่าไอทีเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะรองรับการสื่อสารแบบข้ามวัฒนธรรมระหว่างพนักงานจากส่วนต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนั้น ผู้บริหารซีไอโอในภูมิภาคนี้ยังรับรู้ถึงความจำเป็นของระดับความเป็นผู้นำในเชิงคุณภาพ กล่าวคือ คุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งของผู้นำแบบ “e-leader” ในระบบเศรษฐกิจแห่งองค์ความรู้ (Knowledge Economy) ก็คือ ความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับผลกระทบของเครือข่ายสารสนเทศที่มีต่อองค์กร สังคม และวัฒนธรรม
ความตระหนักรู้ (Recognition) ที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้ทำให้บทบาทของซีไอโอมีความซับซ้อนน้อยลง
โดยรวมแล้ว ซีไอโอในภูมิภาคอาเซียนมองว่าตนเองเป็นหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงที่มีความสำคัญ (88.5%) แต่กระนั้น บางคนกลับมองว่าพัฒนาการดังกล่าวถือเป็นการเพิ่ม ‘ภาระการทำงานตามปกติ’ ให้แก่ซีไอโอ นอกจากนี้ ซีไอโอที่ได้รับการสัมภาษณ์ยังแสดงความกังวลใจอย่างต่อเนื่องในเรื่องอนาคตของตนเองหลังจากที่โครงการไอทีสำคัญๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้ ทั้งในส่วนของระบบงานธุรกิจและการจัดการการเปลี่ยนแปลง ได้เสร็จสมบูรณ์ลง
ซีไอโอที่ตอบแบบสำรวจยังระบุด้วยว่า ความเข้าใจในระบบงานธุรกิจถือเป็นเรื่องดี แต่ไม่เพียงพออีกต่อไป ปัจจุบัน ซีไอโอจำเป็นที่จะต้องเข้าใจกระบวนการทางธุรกิจ ทั้งยังสามารถกำหนดมาตรฐานและลดความยุ่งยากซับซ้อนในระบบงานดังกล่าว ทั้งนี้ 76.7% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ประสบการณ์ทางด้านการดำเนินธุรกิจถือเป็นเกณฑ์สำคัญในการรับสมัครซีไอโอในปัจจุบัน นอกจากนั้น 81.2% ยังชี้ว่า ความพร้อมทางด้านทรัพยากรถือเป็นจุดแข็งประการหนึ่งในแนวทางการพัฒนาความเป็นผู้นำ
ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของซีไอโอในอาเซียน — ความตระหนักรู้ (awareness) ความคล่องตัว (agility) และทักษะใหม่ๆ (new skills)
ผลการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้เผยให้เห็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับบริษัทต่างๆ และซีไอโอในภูมิภาคอาเซียน ในเรื่องของการพัฒนาความตระหนักรู้เกี่ยวกับองค์กร ความคล่องตัว และทักษะใหม่ๆ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในธุรกิจและอาชีพการงานของซีไอโอ
ความตระหนักรู้ (Awareness): โดยทั่วไปแล้ว ซีไอโอในอาเซียนตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาบทบาทของตนเองจากผู้นำทางด้านไอทีไปสู่บทบาทผู้นำทางด้านธุรกิจซึ่งมีความชำนาญในการบริหารจัดการ การกำหนดกลยุทธ์ และการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา แต่กระนั้น บรรดาผู้บริหารคนอื่นๆ รวมถึงคู่ค้าและลูกค้าของบริษัท มักจะละเลยความสำคัญดังกล่าว รวมทั้งประเด็นเรื่องประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาบทบาทนี้ เช่น การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และความสำเร็จโดยรวมขององค์กร
ความคล่องตัว (Agility): เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีวงจรการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการผลิตที่สั้นลง ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงลำดับชั้นของผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้ซื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นหมายความว่าองค์กรต่างๆ จำเป็นที่จะต้องตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวข้องภายในเวลาอันรวดเร็ว และดังนั้นจึงเพิ่มแรงกดดันให้แก่ซีไอโอมากยิ่งขึ้น การระบุโอกาสใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ตลาด รูปแบบธุรกิจ และโครงสร้างบริษัท เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันในองค์กรทั่วโลกที่มีความคล่องตัวสูงและประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน และซีไอโอก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้
ทักษะใหม่ๆ (New Skills): วิธีหนึ่งในการพัฒนา ‘ซีไอโอที่ดี’ สำหรับภูมิภาคอาเซียนก็คือ การเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ ให้แก่ซีไอโอ ทั้งนี้ผลการสำรวจชี้ว่า ซีไอโอในอาเซียนได้ขยายขอบเขตทักษะทางวิชาชีพและความสนใจในด้านต่างๆ ซึ่งช่วยปรับปรุงขีดความสามารถในการสื่อสารกับบุคลากรในแผนกอื่นๆ ภายในองค์กร รวมถึงคู่ค้า ลูกค้า และซัพพลายเออร์
คุณธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “หลายๆ องค์กรจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติและมุมมองในเรื่องบทบาทของไอที จากเดิมที่มองว่าไอทีเป็นแหล่งที่มาของค่าใช้จ่าย แต่ในปัจจุบัน หลายๆ ฝ่ายเริ่มตระหนักว่าไอทีคือกลจักรสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งยังช่วยกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจ ไอบีเอ็มมีประวัติที่ยาวนานในเรื่องของการประสานงานร่วมกับซีไอโอจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยี และเรายังมีส่วนผลักดันบทบาทของซีไอโอให้ก้าวขึ้นสู่สถานะของผู้บริหารระดับสูงเพื่อความสำเร็จในอนาคตอีกด้วย”
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถาบันอินซีแอด โปรดเยี่ยมชม www.insead.edu
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไอบีเอ็ม โปรดเยี่ยมชม www.ibm.com.
ข้อมูลติดต่อ:
กุลวดี เกษมล้นนภา บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
โทร. 02 2734013 อีเมล์: kulwade@th.ibm.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ