6 หน่วยงานพันธมิตรผนึกกำลัง จุดประกายสร้างผู้ประกอบการใหม่

ข่าวทั่วไป Friday March 4, 2005 16:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--สถาบันพัฒนาSMEs
จัดงานสัมมนาธุรกิจคนเมืองครบวงจร สนองนโยบายรัฐเร่งสร้างผู้ประกอบการใหม่ เพื่อพัฒนา
สังคมไทยให้เป็นสังคมผู้ประกอบการ นำความรู้และสิ่งที่ได้จากการสัมมนาไปสร้างแนวคิดธุรกิจของ ตนเองเตรียมเป็นเจ้าของกิจการที่มีคุณภาพ อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดร.วัชระ พรรณเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า งานมหสัมมนา “การเริ่มต้นธุรกิจคนเมือง” ครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมมือกันสนองตอบ ต่อนโยบายของรัฐบาลในการสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรุ่นใหม่
“วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ถือเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจขนาดเล็กสามารถก่อให้เกิดการจ้างงานเฉลี่ยประมาณ 20 รายต่อ 1 กิจการ ดังนั้น การสร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น จึงเป็นการสร้างเซลล์เศรษฐกิจที่จะเป็นแหล่งการจ้างงาน เป็นแหล่งการลงทุนใหม่ และทำให้สังคมไทยมุ่งไปสู่การเป็นสังคมผู้ประกอบการ ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทย และสังคมไทยเป็นสังคมผู้ประกอบการมากขึ้น มีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีคุณภาพ มีความเป็นสากล เข้มแข็งและมั่นคง อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐกิจชุมชน” ดร.วัชระ กล่าว
ภายใต้แผนแม่บทดังกล่าว การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่จำเป็นต้องอาศัยมาตรการต่าง ๆ ประกอบด้วย
1) การพัฒนาเชื่อมโยงงานวิจัย และพัฒนานวัตกรรมสู่การผลิตเชิงพาณิชย์
2) การสร้างและปลูกจิตสำนึกในการเป็นผู้ประกอบการ
3) การสร้าง บ่มเพาะ และการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการใหม่
4) การเสริมสร้างบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งทั้ง 4 มาตรการที่กล่าวมาจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยมีคุณภาพ มีการเริ่มต้นธุรกิจด้วย ความมั่นใจ และสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว“งานในวันนี้ ถือเป็นตัวอย่างของการสนับสนุนมาตรการในการสร้างและปลูกจิตสำนึกความเป็น ผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมการสัมมนาเห็นว่าการเป็นผู้ประกอบการเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของชีวิต การเริ่มต้นธุรกิจของตนเองนั้นทำได้ไม่ลำบาก ไม่ต้อง “ลองผิด ลองถูก” เหมือนแต่ก่อน เพราะการเริ่มต้นธุรกิจของตนเองในปัจจุบัน มีหน่วยงานสนับสนุนส่งเสริมอยู่มากมาย ประกอบกับรูปแบบของเศรษฐกิจสมัยใหม่ ทำให้เกิดช่องว่างของความต้องการ ซึ่งช่องว่างนี้ก็พร้อมที่จะให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่นำมาประยุกต์เป็นธุรกิจใหม่ได้” ดร.วัชระ กล่าว
ด้าน นายดำริ สุโขธนัง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า การสร้างผู้ประกอบการใหม่เป็นสิ่งที่ทำได้หากมีกระบวนการสนับสนุนที่ดี หากเรามีความเข้าใจในปัญหาความยากลำบากของผู้ที่จะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ก็จะสามารถสร้างเครื่องมือหรือเตรียมข้อมูลความรู้ที่จำเป็น ซึ่งรวมถึงการให้การสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น ด้านการเงิน เป็นต้น
“จากประสบการณ์ในการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่ผ่านมา พบว่าผู้คิดเริ่มต้นธุรกิจของตนเองจำนวนมากจะขาดข้อมูลพื้นฐานที่จะใช้ตัดสินใจ การทำธุรกิจจึงมักเริ่มต้นด้วยการ “ลองผิด ลองถูก” และดำเนินธุรกิจไปตามพื้นฐานความคิดและประสบการณ์ที่มีอยู่ กว่าธุรกิจจะเข้าที่เข้าทางก็ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน มีความยากลำบากและความเสี่ยงที่จะล้มเหลว ทำให้ผู้ที่คิดจะมีธุรกิจเป็นของตนเองต้องเสียโอกาสกับความกลัวที่เกิดขึ้น” นายดำริ กล่าว
สถาบันได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงเร่งจัดทำข้อมูลความรู้การประกอบธุรกิจประเภทต่างๆ อย่าง ต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลที่จำเป็นในการทำธุรกิจประเภทต่างๆ อย่างครบวงจร ผู้ใช้ข้อมูลสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบในการเริ่มต้นธุรกิจได้ และเพื่อให้ข้อมูลความรู้นี้ขยายออกไปในวงกว้าง ตลอดจนกระตุ้นความสนใจ ในการเป็นผู้ประกอบการ สถาบันจึงได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน อันได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารออมสิน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิล แอ็กเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จัดงานมหสัมมนา “การเริ่มต้นธุกิจคนเมือง” ขึ้น
“งานมหสัมมนานี้ จะให้ความรู้แก่ผู้สนใจในการทำธุรกิจประเภทต่างๆ ที่ลงทุนไม่สูง อยู่ในกระแส และยังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตต่อไปในอนาคต อาทิ ธุรกิจไอศกรีมโฮมเมด เบเกอรี่ ร้านกาแฟสด น้ำดื่ม ซักอบรีด เครื่องสำอาง และสมุนไพร สัตว์เลี้ยง เสริมสวยสุนัข ดอกไม้สด ขนมไทย ร้านขายหนังสือ ซ่อมเครื่องปรับอากาศ อพาร์ทเมนท์ ที่พักแบบประหยัด Homestay เดย์สปา นวดแผนไทย ร้านอาหารและก๋วยเตี๋ยว และธุรกิจเกี่ยวกับต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งผู้สนใจสามารถนำไปประยุกต์สร้างแนวคิดธุรกิจของตนเอง ทั้งนี้ เพื่อพัฒนา สังคมไทยให้เป็นสังคมผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งต่อไปในอนาคต” นายดำริ กล่าวในที่สุด--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ