แนวโน้มทางธุรกิจกับการเติบโตของคลาวด์ คอมพิวติ้ง โดย ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจคอมพิวเตอร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday August 6, 2008 13:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ด้วยแนวโน้มการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้านไอทีที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้นวัตกรรมและแนวคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หนึ่งในนั้น คือ เทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) หลายคนอาจสงสัยว่า คลาวด์ คอมพิวติ้ง คืออะไร คำจำกัดความสั้น ๆ เกี่ยวกับคลาวด์ คอมพิวติ้ง ก็คือ แนวคิดด้านบริการโดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ทำงานเชื่อมโยงกัน โดยคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันนั้น อาจตั้งอยู่ในห้องเดียวกัน หรือห่างไกลกันคนละซีกโลกก็ได้ โดยระบบจะทำงานสอดประสานกันแบบรวมศูนย์ มีข้อดีคือ ลดความซับซ้อน ยุ่งยาก อีกทั้งยังช่วยประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นแล้ว คลาวด์ คอมพิวติ้งยังมีข้อดีอีกคือ สามารถรองรับความต้องการที่หลากหลายกว่า ซึ่งแตกต่างกับเทคโนโลยีกริด คอมพิวติ้ง (Grid Computing) ที่ค่อนข้างเน้นการทำงานเฉพาะด้าน เนื่องจากคลาวด์ คอมพิวติ้ง ทำงานผ่านเทคโนโลยีเสมือน (Virtualization) ระบบจึงไม่ได้ถูกจำกัดในเรื่องของสมรรถนะและขีดความสามารถของคอมพิวเตอร์จากระบบต่าง ๆ จึงถือได้ว่า คลาวด์ คอมพิวติ้ง เป็นนวัตกรรมทางด้านดาต้าเซ็นเตอร์รูปแบบใหม่แห่งอนาคตนั่นเอง
จากผลการวิจัยล่าสุด ไอบีเอ็ม คาดว่าคลาวด์ คอมพิวติ้งจะถูกใช้งานเพิ่มมากขึ้นในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า สืบเนื่องจากแนวโน้มต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจและผู้บริโภคในวงกว้าง 5 ประการคือ
1. แนวโน้มการใช้งานเว็บ 2.0 ซึ่งมีลักษณะเป็นแบบอินเตอร์แอคทีฟมากขึ้น
ปัจจุบัน ด้วยแนวโน้มของเทคโนโลยีเว็บ 2.0 ซึ่งเนื้อหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล รูปภาพ วีดิโอคลิป หรือ ไฟล์เสียงภายในเว็บมีการเปลี่ยนแปลงโดยผู้ใช้ทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น Wikipedia และ YouTube หรือ เว็บพวกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค เช่น Facebook หรือ Hi5 เป็นต้น แนวโน้มการใช้งานเว็บ 2.0 ปัจจุบันเป็นที่นิยมทั้งระดับผู้ใช้ทั่วไปและพนักงานองค์กรซึ่งต้องใช้เว็บ 2.0 ในการประสานงานร่วมกันสำหรับโครงการต่าง ๆ
ด้วยแนวโน้มด้านเทคโนโลยีเว็บ 2.0 นี้เอง ระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง จึงเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นเทคโนโลยีที่มีสมรรถนะและประสิทธิภาพสูงแล้ว ยังตอบสนองความต้องการของทำงานของเว็บไซท์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาหรือข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีของคลาวด์ คอมพิวติ้งในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลภายในเวลาเพียงเศษเสี้ยววินาที ตัวอย่างองค์กรที่ใช้ประโยชน์จากคลาวด์ คอมพิวติ้งในปัจจุบัน ได้แก่ ไชน่า เทเลคอม (China Telecom) และโซเกตี้ (Sogeti) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการระดับผู้เชี่ยวชาญในยุโรป โดยเฉพาะโซเกตี้ ได้มีการใช้คลาวด์ คอมพิวติ้งภายในองค์กร เพื่อระดมความคิดของพนักงานผ่านระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์ ซึ่งคลาวด์ คอมพิวติ้งจะช่วยรวบรวมข้อเสนอแนะและไอเดียจากพนักงานของโซเกตี้ 18,000 คน และจัดเรียง วิเคราะห์ข้อมูลในแบบเรียลไทม์เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวที่ได้ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจ
2. ความต้องการประสิทธิภาพทางด้านการประหยัดพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น
สืบเนื่องจากวิกฤติการณ์ด้านพลังงานและกระแสความตระหนักเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน องค์กรหลายแห่งจึงหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องไอทีประหยัดพลังงาน เนื่องจาก ความสามารถในการประหยัดพลังงานโดยเฉพาะการจัดการพลังงานในระบบดาต้าเซ็นเตอร์ เทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง จึงเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมในระดับต้น ๆ จากข้อมูลล่าสุดของอินโฟ-เทค รีเสิร์ช กรุ๊ป (Info-Tech Research Group) ระบุว่า เซิร์ฟเวอร์ส่วนใหญ่ที่มีการทำงานตลอดเวลา โดยมากใช้ทรัพยากรในระบบเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ด้วยการจัดการระบบด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง ทรัพยากรทางด้านไอทีจะถูกผนวกรวมศูนย์เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยองค์กรประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยเทคโนโลยีจะช่วยองค์กรเพิ่มหรือลดขนาดของระบบได้ตามต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้เพื่อให้สิ้นเปลืองพลังงานแต่อย่างใด
3. แนวโน้มความต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ในภาคธุรกิจ
ปัจจุบัน นอกจากการแข่งขันในเชิงธุรกิจแล้ว บริษัทต่างๆ ยังจำเป็นที่จะต้องนำเสนอสินค้า บริการ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอยู่ตลอดเวลา โดยบริษัทเหล่านี้มองว่าเทคโนโลยีจะมีส่วนช่วยให้ได้การคิดค้นต่าง ๆ ทำได้เร็วยิ่งขึ้น และด้วยความต้องการในการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องนี้เอง มีส่วนทำให้องค์กรหลายแห่งจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งให้พลังการประมวลผลสมรรถนะสูงกว่า แต่เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
ตัวอย่างล่าสุดที่มีการนำคลาวด์ คอมพิวติ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ คือ เขตอุตสาหกรรมของจีนในเมืองอู๋ซี ผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มกิจการ แต่บริษัทต่าง ๆ นั้นสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานไอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง เนื่องจากเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ร่วมมือกับไอบีเอ็มในการสร้างศูนย์ประมวลผลแบบคลาวด์ คอมพิวติ้งขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานของบริษัทต่าง ๆ ภายในเขตอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่ทำงานผ่านคลาวด์ คอมพิวติ้งนี้ช่วยประหยัดบริษัทเล็ก ๆ เหล่านี้ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการคิดค้นพัฒนานวัตกรรม เพราะไม่จำเป็นต้องลงทุนจัดซื้อและเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลเครื่องเซิร์ฟเวอร์ แอปพลิเคชั่น หรือเครื่องมือของตนเองแต่อย่างใด เพียงแต่เสียค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าบริการไอทีตามที่ใช้งานจริงเท่านั้น อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้งานคลาวด์ คอมพิวติ้งล่าสุด คือที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติ (National University) ในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเสริมสร้างทักษะด้านไอทีให้แก่บุคลากรของสถาบัน เป็นต้น
4. ความต้องการใช้งานเทคโนโลยีให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
ในปัจจุบัน ยิ่งเทคโนโลยีมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเท่าใด ผู้ใช้งานก็ต้องการใช้งานเทคโนโลยีให้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น ด้วยแนวโน้มการใช้ซอฟต์แวร์ในรูปแบบของบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ตนับเป็นตัวอย่างหนึ่งของแนวโน้มที่ช่วยตอบสนองความต้องการใช้งานง่ายของผุ้ใช้ อีกทั้งยังเป็นการบุกเบิกการใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งไปในตัวด้วย ด้วยแนวโน้มดัวกล่าวนี้เอง ทำให้องค์กรหลายแห่งเลือกที่จะซื้อบริการ แทนการซื้อซอฟต์แวร์มาใช้โดยตรง (Software as a service) ซึ่งข้อดีคือ องค์กรจะได้มีโอกาสใช้ซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยอยู่เสมอ ไม่ต้องรับมือกับความยุ่งยากซับซ้อนและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการหรือการอัพเกรดซอฟต์แวร์ที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลา
ด้วยความสามารถของคลาวด์ คอมพิวติ้งที่นำมาใช้ในการให้บริการทางด้านซอฟท์แวร์ มีผลช่วยลดความยุ่งยากซับซ้อนให้กับระบบไอทีทั้งหมด เพราะองค์กรอาจใช้บริการจากคลาวด์ คอมพิวติ้งที่ถูกโฮสต์ไว้ภายนอกและซื้อใช้ในรูปแบบของบริการแทนที่จะต้องลงทุนซื้อซอฟท์แวร์มาใช้เอง ซึ่งวิธีการดังกล่าวถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับบริษัทขนาดเล็กที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย และมีพนักงานฝ่ายเทคนิคอยู่อย่างจำกัด
5. ปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา
เนื่องจากข้อมูลมหาศาลที่มีอยู่ในเว็บไซต์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน การจัดการข้อมูลในเว็บถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง แต่ด้วยความสำเร็จของเทคโนโลยีการค้นหาข้อมูล เช่น กูเกิ้ล ทำให้โลกได้เห็นถึงความสำคัญในการจัดระเบียบและการกำหนดโครงสร้างเว็บที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากปริมาณข้อมูลต่าง ๆ ในเว็บเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกทุกวินาที
ในแต่ละวัน ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายล้านคนแลกเปลี่ยน ค้นหาข้อมูล รูปภาพ และเสียงผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งหากการค้นหาข้อมูลที่ต้องการไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำแล้ว ประโยชน์ของเว็บในฐานะเครื่องมือสำคัญในการทำงานก็อาจลดน้อยลง แต่ด้วยประโยชน์จากเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งนี้เอง ทำให้มาตรฐานและการจัดการข้อมูลอันมากมายและหลากหลายในเว็บทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะระบบใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพการประมวลผลที่เหนือกว่าของคลาวด์ คอมพิวติ้ง เพื่อบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมาก รวมทั้งใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นเพื่อจัดการความซับซ้อนของข้อมูลในเว็บให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น
ในทศวรรษหน้า เทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งจะมีพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวนี้เองจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเทคโนโลยีอื่น ๆ ในอนาคตอย่างแน่นอน
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งของไอบีเอ็ม สามารถเข้าไปที่ http://www- 03.ibm.com/press/us/en/pressrelease/22613.wss
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
วีระกิจ โล่ทองเพชร
โทร 0-2274-4117
อีเมล์ Werakit@th.ibm.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ