กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๘ ด๊อกเตอร์ ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในงานแถลงข่าว เรื่อง ปรากฏการณ์ดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุด ณ ห้องจัดนิทรรศการ ชั้น ๑ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงเทพมหานครว่า ชาวโลกจะมีโอกาสได้เห็นดาวอังคารได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๘ ที่ดาวอังคารจะโคจรเข้ามาใกล้โลกมากที่สุด คือมีระยะห่างจากโลกเพียง ๖๙ ล้านกิโลเมตรเท่านั้น
โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสมาคมดาราศาสตร์ไทย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และหอดูดาวสิรินธร ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยา-ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะจัดนิทรรศการปรากฏการณ์ดาวอังคารเข้าใกล้โลกและเปิดให้ประชาชนชมดาวอังคารผ่านกล้องดูดาว ในคืนวันที่ ๒๙ และ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๘ นี้ ๓ แห่ง ด้วยกัน คือ
๑. ที่หอดูดาว สิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
๒. ที่ท้องสนามหลวง โดยสมาคมดารา-ศาสตร์ไทย
๓. ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ รังสิตคลอง ๕
รองศาสตราจารย์ บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ดาวอังคารจะโคจรเข้ามาใกล้โลกมากที่สุด ณ ระยะห่างจากโลกเพียง ๖๙ ล้านกิโลเมตร ดาวอังคารจะมีความสุกสว่างมาก โดยมีค่าลำดับความสว่าง -๒.๓ ซึ่งค่าความสว่างดังกล่าวใกล้เคียงกับความสว่างของดาวพฤหัสบดี ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงข้างแรมและดาวอังคารจะปรากฏ บนท้องฟ้าเกือบตลอดทั้งคืน ดังนั้นหากในคืนวันที่ ๓๐ ตุลาคม ท้องฟ้าปลอดโปร่งปราศจากเมฆ และฝนแล้ว ชาวโลกก็จะมีโอกาสได้ชมความสวยงามของดาวอังคารที่สว่างสดใสอย่างเต็มตา ในช่วงหัวค่ำของวันที่ ๓๐ ตุลาคม จะเห็นดาวอังคารเป็นดาวดวงที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าปรากฏทางขอบฟ้าด้านทิศ ตะวันออกบริเวณกลุ่มดาวราศีพฤษภ หรือกลุ่มดาววัว มีตำแหน่งอยู่ห่างจากกระจุกดาวลูกไก่ ประมาณ ๑๓ องศา หากส่องด้วยกล้องดูดาวก็จะสามารถสังเกตเห็นขั้วน้ำแข็งด้านใต้ของดาวอังคาร และรอยแยก พื้นผิวของดาวอังคารซึ่งโครงสร้างเหล่านี้จะสังเกตเห็นได้ยากหากดาวอังคารไม่อยู่ใกล้โลกมากพอ พ.ศ. ๒๕๔๖ ดาวอังคารเคยโคจรเข้าใกล้โลกมาก โดยมีระยะทางห่างจากโลกเพียง ๕๖ ล้านกิโลเมตรซึ่งใกล้กว่าปีนี้ ๑๓ ล้านกิโลเมตร ซึ่งหลังจากปีนี้ไปแล้ว ดาวอังคารจะห่างจากโลกออกไปและมีขนาด ปรากฏเล็กลง แต่จะกลับเข้ามาใกล้โลกและมีขนาดใหญ่มากอีกครั้งหนึ่งในอีก ๑๕ ปีถัดจากนี้
(ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ โทร 0-2246-0064 ต่อ 146)--จบ--