ทียูเอฟ โชว์ผลงานยอดเยี่ยมในไตรมาส 2 ยอดขายรูปเงินดอลลาร์และเงินบาทพุ่งขึ้น 30.7% และ 22.3%

ข่าวทั่วไป Thursday August 7, 2008 08:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์
ทียูเอฟ ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ทะลุเป้าตามคาด ยอดขายรูปเงินเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 30.7% พร้อมยอดขายรูปเงินบาทก็โตขึ้น 22.3% โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเติบโต 72% ซึ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แสดงถึงศักยภาพการเติบโตที่ต่อเนื่อง และมั่นใจเป้าหมายรายได้ปีนี้ที่ตั้งไว้ 1,800 ล้านเหรียญจะพุ่งมาขึ้นที่ 2,000 ล้านเหรียญแทนอย่างแน่นอน
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทียูเอฟ ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของไทย เผยถึง ผลการดำเนินการไตรมาส 2 ประจำปี 2551 ว่า “บริษัทสามารถทำรายได้จากการขายในรูปของเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 518.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2550 ที่เท่ากับ 396.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนรายได้จากการขายในรูปของเงินบาทก็เพิ่มขึ้น 22.3% จากยอดขาย 13,728.4 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2550 มาอยู่ที่ 16,792.3 ล้านบาทสำหรับไตรมาส 2 ปี 2551 และสำหรับรายได้รวมนั้นก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีรายได้รวมเท่ากับ 16,873.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่เท่ากับ 13,877.8 ล้านบาท และสำหรับในไตรมาส 2 นี้บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักกำไร/ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเติบโตสูงถึง 72% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว และนับเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมาของบริษัท โดยในไตรมาสนี้ทำกำไรจากการดำเนินงานได้เท่ากับ 936.9 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 2 ปี 2550 ทำได้ 544.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลงานที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับไตรมาส 2 นี้ แต่ในส่วนของกำไรสุทธิ บริษัททำกำไรสุทธิเท่ากับ 403.4 ล้านบาท โดยลดลงเพียงเล็กน้อย 6.2 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2550 ที่เท่ากับ 430.2 ล้านบาท นั่นเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่ผันผวนในไตรมาสนี้ ทำให้กระทบกับบริษัทในส่วนของกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่อย่างไรก็ดี ปัจจัยนี้จะลดน้อยลง เนื่องจากขณะนี้ค่าเงินเริ่มมีแนวโน้มที่เสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งทำให้เรามั่นใจว่า จะไม่ส่งผลกับกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีหลังอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ที่ออกมานี้ นายธีรพงศ์ ชี้แจงต่อว่า “ลักษณะของธุรกิจที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก รายได้ส่วนใหญ่จะมาจากเงินตราต่างประเทศ ดังนั้นการทำธุรกรรมเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้บริษัทมีทั้งกำไร และขาดทุนอันเกิดจากค่าเงินที่ผันผวน แต่อย่างไรก็ดี เราคิดว่า เรายังมีความสามารถในการรับมือ และรักษา Margin ของบริษัทได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี โดยภาพรวมแล้ว ค่าเงินบาทยังคงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งสำหรับการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากมีการแข็งค่าขึ้นถึง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน รวมถึงราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบปลาทูน่าที่สูงขึ้นมากจากปีก่อน แต่ด้วยความสามารถในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยรวมถึงการปรับกลยุทธ์ทางด้านการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย ทำให้บริษัทสามารถทำยอดขายในรูปของเงินเหรียญสหรัฐ ยอดขายในรูปของเงินบาท และยอดขายรวมเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น โดยเพิ่มขึ้น 30.7% 22.3% และ 21.6% ตามลำดับ นับเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของบริษัทมาตั้งแต่ในช่วงไตรมาสแรก ยอดขายของทุกผลิตภัณฑ์มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ปลาทูน่า กุ้งแช่แข็ง และอาหารกุ้ง ที่มียอดขายโตขึ้น 30% 23% และ 20.5% ตามลำดับ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ปลาซาร์ดีนบรรจุกระป๋องก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการเติบโตที่ดีมากในไตรมาสนี้ ทำให้ปริมาณขายโดยรวมเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปีก่อน”
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกนั้น บริษัทมีรายได้จากการขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 996.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.5% เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 ที่เท่ากับ 757.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่รายได้จากการขายในรูปเงินบาทก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยมีรายได้เพิ่มขึ้น 21.4% จาก 26,529.9 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปีก่อน มาอยู่ที่ 32,207.9 ล้านบาทสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ และในครึ่งปีแรกนี้ บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 32,531.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่เท่ากับ 26,905.5 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็สามารถทำกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 2.6% จาก 957.9 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 มาอยู่ที่ 982.7 ล้านบาทสำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2551 โดยคิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.11 บาท เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปีก่อนที่เท่ากับ 1.10 บาท
สำหรับสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์ในไตรมาส 2 ปี 2551 นี้ ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ามีสัดส่วนการส่งออกเท่ากับ 50% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัท รองลงมาได้แก่ กุ้งแช่แข็ง 18% อาหารแมวบรรจุกระป๋อง 8% อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 7% อาหารกุ้ง 6% ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ 6% ปลาซาร์ดีนบรรจุกระป๋อง 3% และปลาหมึกแช่แข็ง 2% โดยมีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อัฟริกา ตะวันออกกลาง เอเซีย โอเชียเนีย แคนาดา และอเมริกาใต้
นายธีรพงศ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “จากตัวเลขไตรมาส 2 และภาพรวมช่วง 6 เดือนแรกที่เติบโตสูงขึ้นนั้น นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับบริษัท เพราะแสดงให้เห็นว่า บริษัทมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง สำหรับในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีเช่นนี้ ค่อนข้างส่งผลกระทบกับบริษัทในแง่ของราคาต้นทุนการผลิต แต่ด้วยการปรับกลยุทธ์การดำเนินงานในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการตลาดที่มุ่งเน้นในเรื่องของการขยายฐานการตลาดให้กว้างขึ้น คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ทำให้ผลงานที่ออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก และจากผลงานที่เติบโตอย่างโดดเด่นในครึ่งปีแรก จะส่งผลให้การจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลของครึ่งปีแรกนี้ดีเหมือนเช่นเคย ทั้งนี้บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลปีละ 2 ครั้ง และไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ
และจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น และค่าเงินบาทที่ลดความผันผวนอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลานี้ บริษัทน่าจะรับรู้ถึงผลดีในจุดนี้ได้ในไตรมาส 3 แต่อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่า ทิศทางภาพรวมการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการเติบโตที่ดีเช่นเดียวกัน เพราะจากที่ผ่านมา ครึ่งปีหลังบริษัทมีอัตราการเติบโตที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง จากการที่บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2551 ไว้ที่ 1,800 ล้านเหรียญ และปี 2552 ตั้งเป้าที่ 2,000 ล้านเหรียญ แต่เมื่อดูจากผลประกอบการในครึ่งปีแรกที่ออกมานี้ ทำให้บริษัทเชื่อมั่นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะสามารถทำรายได้ถึง 2,000 ล้านเหรียญทะลุเป้าในปีนี้อย่างแน่นอน
สำหรับความคืบหน้าในเรื่องของอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งนั้น นายธีรพงศ์ กล่าวว่า “บริษัทเชื่อมั่นว่าการทบทวนอัตราภาษีใหม่ที่จะประกาศออกมาในเดือนกันยายนนี้จะปรับลดลงจาก 15.30% และจากการที่องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ประกาศให้สหรัฐแพ้อุทธรณ์ในคดีการเรียกเก็บภาษีการทุ่มตลาดกุ้งนำเข้าจากประเทศไทย มีผลให้สหรัฐต้องยกเลิกอากร AD และภาษีซีบอนด์นั้น จากจุดนี้น่าจะส่งผลดีต่อการพิจารณาทบทวนอัตราภาษีใหม่ และมีผลให้บริษัทได้รับอัตราภาษีใหม่ที่ลดลง”
ล่าสุด บริษัท ทริสเรทติ้ง ได้ประกาศให้บริษัทยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทที่ระดับเอบวก ด้วยแนวโน้มคงที่ เช่นเดิม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทยังมีศักยภาพที่แข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ และมีสถานภาพทางการเงินที่มั่นคง
แผนกสื่อสารองค์กร บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์
โทร. 02-2980024 ต่อ 675-678

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ