กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--สวทช.
จากกรณีที่มีฟอร์เวิร์ดเมลส่งต่อกันโดยระบุว่าวันที่ 27 สิงหาคม 2551 นี้ในช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนจะเห็นดาวอังคารส่องแสงชัดเจนที่สุดด้วยรูปทรงขนาดใหญ่ประดุจดังพระจันทร์เต็มดวง เนื่องจากดาวอังคารจะอยู่ห่างจากโลกแค่ 34.65 ล้านไมล์เท่านั้น (ข้อความจากอีเมล) ส่งผลให้ประชาชนที่สนใจโทรเข้ามาสอบถามว่าจะมีปรากฏการณ์ดังกล่าวจริงหรือไม่ รศ.ดร.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตรแห่งชาติ(สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ชี้แจงว่า ปรากฏการณ์ที่ดาวอังคารจะส่องสว่างเท่าดวงจันทร์ไม่มีทางเป็นไปได้ โดยจากการคำนวณระยะทางของดาวอังคารจากวิถีโคจรในวันที่ 27 สิงหาคม พบว่า ดาวอังคารจะมีระยะห่างจากโลกถึง 224.375 ล้านไมล์ หรือ 359 ล้านกิโลเมตร ซึ่งนับว่าไกลมาก
“ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในระบบสุริยะ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าโลกประมาณ 1 เท่า และใหญ่กว่าดวงจันทร์ประมาณ 1 เท่า เพราะฉะนั้นที่ระยะทาง 359 ล้านกิโลเมตร จะมีความสว่างน้อยมาก อีกทั้งแม้ว่าดาวอังคารจะมีโอกาสเข้าใกล้โลกได้มากที่สุดตามที่ระบุไว้คือ 34.65 ล้านไมล์จริงแต่ก็ไม่มีทางสว่างเท่าดวงจันทร์ได้ เพราะดวงจันทร์มีระยะห่างจากโลกเฉลี่ยเพียง 380,000 กิโลเมตรเท่านั้น นอกจากนี้ดาวอังคารในช่วงที่เดินทางเข้าใกล้โลกมากที่สุด ก็จะสว่างได้เทียบเท่ากับดาวพฤหัสเท่านั้น”
อย่างไรก็ดีในช่วงนี้มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เกิดขึ้นติดต่อกันอยู่บ่อยครั้ง จึงอาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อและเกิดความเข้าใจผิดได้ ทั้งนี้ก็ขอยืนยันว่าไม่มีปรากฏการณ์ดังกล่าวแน่นอน โดยปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมนี้และน่าติดตามชมคือ จันทรุปราคา ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม โดยดวงจันทร์จะค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก กระทั่งถูกบดบังมากสุดที่เวลา 04.10 น.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461 ,1462 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482 e-mail : thaismc@nstda.or.th