กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--บมจ.ไทยออยล์
บมจ.ไทยออยล์ ฝ่ากระแสเอทานอลขาดแคลน เตรียมลู่ทางจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลขนาดใหญ่จากมันสำปะหลัง หวังผลิตเชื้อเพลิงทางเลือกเพื่อลดสัดส่วนการใช้น้ำมัน พร้อมสบช่องช่วยเกษตรกรเพื่อพัฒนาเป็นพลังงานหมุนเวียนอย่างครบวงจร อีกทั้งสนับสนุนนโยบายรัฐบาล และร่วมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกเอทานอลของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ดร.ปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการอำนวยการ เปิดเผยถึงแผนการศึกษาโครงการลงทุนล่าสุดครั้งนี้ว่า
“ไทยออยล์มีเป้าหมายที่จะผลิตแก๊สโซฮอล์เพิ่มมากขึ้น เพราะขณะนี้ คนไทยเริ่มหันมาประหยัดพลังงานกันอย่างจริงจังและเลือกที่จะใช้แก๊สโซฮอล์แทนน้ำมันเบนซิน 95 มากขึ้นเป็นลำดับ เราจึงได้เจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจ (Stragegic partners) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันในการร่วมลงทุนสร้างโรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง ซึ่งต่างจากโรงงานเอทานอลส่วนใหญ่ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลหรือโมลาส เพราะเห็นว่ามันสำปะหลังมีศักยภาพรองรับโรงงานผลิตขนาดใหญ่ อีกทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นจะไปถึงภาคเกษตรกรโดยตรง นอกจากนั้น การผลิตเอทานอลจากเชื้อเพลิงที่หลากหลาย ยังช่วยให้ไทยเรามั่นใจได้ว่าจะมีเชื้อเพลิงทางเลือกเพิ่มขึ้นด้วย”
ดร.ปิติ ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในเบื้องต้นมาระยะหนึ่งแล้ว พบว่าการสร้างโรงงานให้เกิดความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์นั้น ควรสร้างที่ขนาดกำลังการผลิต 1-2 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 150-250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในส่วนของวัตถุดิบนั้น มั่นใจว่ามีปริมาณรองรับการผลิตได้อย่างเพียงพอ เพราะในแต่ละปีมีการส่งออกมันสำปะหลังในรูปมันเส้นไปยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการดำเนินโครงการนี้นอกจากเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตตลอดจนเกษตรกรและประเทศชาติแล้ว ยังสามารถนำกากมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าอย่างครบวงจรด้วย
“ไทยออยล์พร้อมลงทุนแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงนี้ ซึ่งเกิดปัญหาขาดแคลนเอทานอลในบ้านเรา
จนรัฐบาลต้องให้มีการนำเข้ามาเสริมการผลิตแก๊สโซฮอล์ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ความจริง ตามแผนเดิมที่รัฐได้อนุมัติให้ตั้งโรงงานผลิตเอทานอลไปแล้วนั้น เชื่อว่าปริมาณการผลิตทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นน่าจะเพียงพอความต้องการใช้ในประเทศ แต่เนื่องจากขณะนี้ สถานการณ์เอทานอลในบ้านเรายังเกิดการขาดแคลน ไทยออยล์จะเร่งศึกษาโครงการในรายเอียดเพิ่มเติม เพื่อหาลู่ทางก่อสร้างโรงงานให้สามารถรองรับการผลิตแก๊สโฮอล์ของเราให้เร็วขึ้น ซึ่งหากอนาคต การผลิตเอทานอลของโรงงานต่างๆ เป็นไปตามแผนงาน เราเชื่อว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของการผลิตได้จากการส่งออกซึ่งได้มีการศึกษาแนวทางควบคู่กันไปด้วย ผลพลอยได้ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือเราสามารถนำกากของเสียที่ได้จากเอทานอล มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อีก เรียกว่าเป็นการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง”
ดร.ปิติ กล่าวในที่สุด--จบ--