กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--สศช.
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2551 ดร.อุทิศ ขาวเธียร รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดประชุมประจำปี 2551 และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดจัดการประชุมประจำปี 2551 เรื่อง “วิสัยทัศน์ประเทศไทย... สู่ปี 2570” ในวันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2551 ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ
กระบวนการสร้างวิสัยทัศน์ประเทศไทย
รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า สศช. ตระหนักว่าในการวางแผนระยะ 5 ปี นั้นจำเป็นต้องมองทิศทางการพัฒนาในระยะยาวที่มีจุดมุ่งหมายร่วมที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับร่วมกันของสังคมไทย จึงได้จัดการประชุมประจำปีครั้งนี้ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมร่วมแสดงความเห็นและร่วมกันกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญของประเทศไทยที่มีจุดมุ่งหมายร่วมที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับร่วมกันของสังคมไทยให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมในอีก 20 ปีข้างหน้า และรายงานผลการพัฒนาประเทศโดยใช้ดัชนีวัดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย รวมทั้งรายงานความก้าวหน้าการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ต่างๆ ของแผนฯ 10 และกำหนดแนวทางการผลักดันประเด็นการพัฒนาที่สำคัญให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม เพื่อประมวลข้อเสนอจากที่ประชุมเสนอต่อรัฐบาลพิจารณามอบหมายหน่วยงานภาครัฐใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยจะมีผู้เข้าร่วมงานจากทุกภาคส่วนของสังคมไทยประมาณ 2,000 คน
นายกรัฐมนตรีเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ
การประชุมเริ่มด้วยนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วิสัยทัศน์ประเทศไทย ในมุมมองของรัฐบาล” จากนั้นเป็นการนำเสนอ เรื่อง “วิสัยทัศน์ประเทศไทย... สู่ปี 2570” โดย ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการอภิปรายนำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมี ดร.พนัส สิมะเสถียร ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
ส่วนภาคบ่ายเป็นการประชุมกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม เพื่อระดมความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาในระยะยาวเพื่อร่วมสร้างวิสัยทัศน์ของประเทศ ในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการที่ดีสู่ความเป็นธรรมของการพัฒนาประเทศ
สาระสำคัญการประชุมประจำปี “วิสัยทัศน์ประเทศไทย... สู่ปี 2570”
สศช. ได้ระดมความคิดจากกลุ่มต่างๆ ในเบื้องต้น และนำมาจัดทำร่างวิสัยทัศน์ประเทศไทยปี 2570 เพื่อระดมความคิดในการประชุมครั้งนี้ รวม 4 เรื่อง ดังนี้
1. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พึ่งตนเองและแข่งขันได้ในสังคมโลก การวางวิสัยทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้า ได้คำนึงถึงปัจจัยและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่เป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครัวเรือน ชุมชน อุตสาหกรรมและระดับประเทศ โดยปัจจัยหลักที่มีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกและของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าประกอบด้วย 7 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1.1 ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกจะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคน ซึ่งคาดการณ์ว่าต้นทุนที่ประเทศต่างๆ จะต้องจ่ายในการป้องกันและรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.05-0.5 ของ GDP โลก
1.2 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลก จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในภาคเศรษฐกิจของประเทศมีผลิตภาพลดลง รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศ/โลกจะต้องเผชิญกับภาวการณ์ออมและการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ชะลอตัวลง
1.3 พลังงานและความมั่นคงด้านอาหาร ความต้องการใช้พลังงานของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะส่งผลทำให้ความต้องการและระดับราคาของพืชพลังงานโดยเฉพาะมันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมันแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
1.4 เทคโนโลยี จะเกิดเทคโนโลยีสาขาหลักใหม่ที่สามารถประยุกต์ใช้ในหลากหลายมิติ นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต แบบแผนการผลิตและการตลาด รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เน้นการตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลที่ต่างจากปัจจุบัน
1.5 การเงินโลก แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านการเงินโลกจะมีความผันผวนมากขึ้น ในระยะยาวประเทศต่างๆ จะมีการรวมกลุ่มและจัดทำข้อตกลงทางการค้า การลงทุน และการเงินร่วมกันมากขึ้น
1.6 การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและการร่วมมือในอนุภูมิภาค จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ก่อเกิดตลาดการค้าใหม่ และการเปลี่ยนแปลงศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคต
1.7 การพัฒนาเมือง ชนบท และพื้นที่เศรษฐกิจ สัดส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองจะสูงกว่าร้อยละ50 และประเทศในเอเชียจะขยายตัวมากกว่าที่อื่น ซึ่งสภาวะความเป็นเมืองจะขยายตัวออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น และอาจส่งผลให้ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับความเป็นเมืองในหลายประเด็น
จากผลการหารือเบื้องต้นดังกล่าว สศช. จะนำเสนอเพื่อหารือในการประชุมครั้งนี้ โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ 1) ภาคการผลิต โดยเร่งรัดปรับปรุงผลิตภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตบนพื้นฐานองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นต้น 2) พลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและจัดหาพลังงานทดแทนร่วมกับการพัฒนาพืชพลังงานอย่างสมดุล 3) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ 4) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและความร่วมมือในอนุภูมิภาค 5) พัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท และพื้นที่เศรษฐกิจ
2. การปรับโครงสร้างทางสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืน บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลกมีแนวโน้มเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ กำลังแรงงานมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายข้ามประเทศโดยเสรีมากขึ้น สำหรับการรวมกลุ่มระหว่างประเทศก็มีแนวโน้มขยายความร่วมมือจากด้านเศรษฐกิจมาสู่ด้านสังคมและวัฒนธรรม เกิดการพัฒนาทางสังคมร่วมกัน เกิดการปรับตัวที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสังคมหลังฐานความรู้ในอีก 20 ปีข้างหน้า
ด้านแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรมีผลให้ประเทศไทยต้องปรับตัวเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” โดยมีประชากรเกือบ 1 ใน 4 ของประเทศไทยเป็นผู้สูงอายุ ขณะที่วัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงและต้องรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สัดส่วนประชากรวัยเด็กจะลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในหลายๆ ด้าน
ทั้งนี้ สศช. จะนำประเด็นยุทธศาสตร์เข้าหารือในการประชุมได้แก่ 1) การปรับโครงสร้างทางสังคมให้เชื่อมโยงกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ 2) การพัฒนาบทบาทของสถาบันครอบครัวให้เป็นพลังสร้างสังคมที่มีคุณภาพ ควบคู่กับการเพิ่มบทบาทชุมชนให้เป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหาและจัดการชุมชนด้วยตนเอง 3) การพัฒนาคุณภาพคนให้เหมาะสมตามช่วงอายุและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสภาพสังคมในอนาคต 4) การเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอย่างเข้มแข็ง
3. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรของโลกที่สำคัญ ได้แก่ การเติบโตของประชากรและเศรษฐกิจโลกที่ทำให้มีความต้องการบริโภคทรัพยากรเป็นจำนวนมาก มีการใช้การใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั้งคิด และไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ส่วนในระดับภูมิภาคซึ่งมีความเชื่อมโยงกันเชิงภูมิศาสตร์และระบบนิเวศนั้น ได้มีความร่วมมือกันในด้านต่างๆ ทำให้สถานะโดยรวมของภูมิภาคมีเสถียรภาพและความมั่นคงเพิ่มขึ้น
สำหรับประเทศไทย มีสถานการณ์และแนวโน้มในทิศทางเดียวกับของโลก ซึ่งอาจต้องเผชิญกับประเด็นวิกฤติที่สำคัญ 5 ด้าน คือ 1) ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน 2) วิกฤติทรัพยากรน้ำ 3) พื้นที่วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ 4) วิกฤติพืชอาหารและพลังงาน และ 5) ความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดิน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและการปฏิบัติ
ดังนั้น สศช. จะนำประเด็นเข้าหารือในการประชุม ได้แก่ ภาพอนาคตของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งหวัง จะขึ้นอยู่กับทิศทางการพัฒนาประเทศ 3 แนวทางหลัก คือ การพัฒนาที่พึ่งพิงระบบตลาดและการค้าเสรี การพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่คำนึงถึงความสมดุลพอเพียงในการผลิตและการบริโภค โดยจะต้องดำเนินการในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ 1) การปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ด้านสิ่งแวดล้อมสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างสมดุล 2) ปรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจสู่การผลิตที่ยั่งยืน 3) การสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากร คุ้มครองพื้นที่วิกฤติสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศที่เปราะบาง 4) การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมและการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม
4. การบริหารจัดการที่ดีสู่ความเป็นธรรมของการพัฒนาประเทศ ผลการติดตามประเมินผลสถานการณ์การบริหารจัดการที่ดีในสังคมไทยในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมาสรุปได้ว่า การบริหารจัดการประเทศได้วางรากฐานไปสู่ระบบที่มีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง โดยชุมชนท้องถิ่นได้เริ่มตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการกระบวนการพัฒนาประเทศกระจายอยู่ทุกภูมิภาค การพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานภาครัฐมีความก้าวหน้าและเป็นรูปธรรม ภาคธุรกิจเอกชนบางกลุ่มเริ่มมีความรับผิดชอบต่อสังคมและขยายผลให้กว้างขวาง ประเด็นที่ยังอยู่ในช่วงปรับตัวตามรัฐธรรมนูญใหม่คือ การพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่แท้จริง การเสริมสร้างจริยธรรมทางการเมือง และการป้องกันปราบปรามการทุจริตให้เข้มแข็ง
สศช. จะนำประเด็นยุทธศาสตร์ที่เห็นควรให้ความสำคัญเข้าหารือในการประชุมได้แก่ 1) สร้างและพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีดำเนินชีวิตของคนไทยในทุกระดับ 2) เสริมสร้างความเข้มแข็ง ความเป็นอิสระและความโปร่งใสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน 3) พัฒนาภาคราชการให้มีประสิทธิภาพ ลดการบังคับควบคุม และคำนึงถึงความต้องการของประชาชน ชุมชน และท้องถิ่น 4) เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน/ประชาสังคมในการบริหารจัดการประเทศให้เข้มแข็ง 5) ส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนให้มีธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ 6) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีความเป็นอิสระ เป็นกลาง มีประสิทธิภาพด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน 7) พัฒนาระบบกลไกการควบคุมคอร์รัปชันให้มีพลัง
ถ่ายทอดสดให้ทั่วประเทศมีส่วนร่วม
สำหรับผู้สนใจที่ไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุม สามารถรับฟังการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย คลื่น AM 819 กิโลเฮิรตซ์ และเครือข่ายทั่วประเทศ เวลา 09.00-12.00 น และรับชมการถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์ของ สศช. ที่ www.nesdb.go.th เวลา 09.00-12.40 น. สำหรับเอกสารประกอบการประชุม สามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ของ สศช. เช่นกัน