กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--ปภ.
แม้รถยนต์จัดเป็นยานพาหนะที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ แต่การนำเด็กโดยสารรถไปด้วย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและอุบัติภัยต่างๆในหลากหลายรูปแบบ กรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะให้ผู้ปกครองเพิ่มความระมัดระวังและเอาใจใส่ดูแลการโดยสารรถยนต์ของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอุบัติภัยที่เกิดขึ้นกับเด็กขณะโดยสารรถยนต์ ดังนี้ ประตูรถยนต์ ขณะเปิดประตูรถยนต์ เด็กอาจเอามือไปจับบริเวณขอบประตู หากผู้ปกครองไม่ตรวจดู อย่างรอบคอบอาจปิดประตูหนีบมือเด็กได้ ควรล็อคประตูรถทุกครั้งที่มีเด็กโดยสารไปด้วย เพื่อป้องกันเด็กเปิดประตู ในขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่ จนทำให้เด็กพลัดตกจากรถเสียชีวิต ที่สำคัญผู้ปกครองไม่ควรปลดล็อคประตูให้เด็กเห็น เพราะเด็กอาจจดจำและนำไปปฏิบัติตาม ทำให้เกิดอันตรายขึ้นกับเด็ก กระจกไฟฟ้า หากเด็กเอามือไปจับบริเวณกระจกรถยนต์ และผู้ปกครองไม่ทันสังเกตหรือขาดความรอบคอบ กดปุ่มกระจกรถยนต์ขึ้น อาจทำให้กระจกรถยนต์หนีบนิ้วมือเด็กจนได้รับบาดเจ็บ การให้เด็กอยู่ในรถตามลำพัง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุกับเด็กอย่างมาก เนื่องจากเด็กมักซุกซน ปีนป่ายหรือกดปุ่มต่างๆในรถเล่น โดยเฉพาะกับรถยนต์ที่ใช้ระบบเกียร์อัตโนมัติ หากเด็กเลื่อนเกียร์เล่น อาจทำให้รถเคลื่อนตัวไปชนสิ่งของบริเวณหน้าหรือหลังได้ การสตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้อยู่กับที่แล้วเปิดแอร์ ในกรณีที่ผู้ปกครองออกไปธุระนอกรถ แล้วปล่อยเด็ก ไว้ในรถ แม้จะทำให้เด็กรู้สึกเย็นสบาย แต่ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์อาจรั่วไหลเข้ามาในรถยนต์ หากเด็กเผลอหลับ อาจทำให้เด็กเสียชีวิตโดยไม่รู้ตัว การอุ้มเด็ก การที่ผู้ขับขี่อุ้มเด็กนั่งตักในขณะขับรถ จะทำให้ประสิทธิภาพในการขับขี่ลดลง โดยเฉพาะหากเด็กซุกซนแย่งพวงมาลัย หรือเล่นเกียร์รถยนต์ หากเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินขึ้นเด็กอาจพุ่งไปกระแทกกับพวงมาลัยหรือกระจกรถอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากจำเป็นต้องนำเด็กโดยสารรถไปด้วย ควรจัดให้มีผู้ดูแล เพื่อควบคุมพฤติกรรมเด็กหรือจัดให้เด็กนั่งที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก โดยเลือกใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมกับวัยและน้ำหนักของเด็ก การเลือกที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กในรถ จะช่วยลดอาการบาดเจ็บหรือการเสียชีวิตของเด็กจากอุบัติเหตุได้ เนื่องจาก ที่นั่งพิเศษจะป้องกันมิให้เด็กหลุดออกจากที่นั่งไปกระแทกกับส่วนประกอบอื่นในรถหรือหลุดลอยออกนอกรถ หากผู้ปกครองนำเด็กโดยสารรถไปด้วย ควรปฏิบัติ ดังนี้ ๑. เด็กอายุต่ำกว่า ๑ ปี หรือน้ำหนักน้อยกว่า ๑๐ กก. ให้ใช้ที่นั่งสำหรับเด็กทารก โดยไว้ เบาะหลังรถ และให้เด็กหันหน้าไปทางด้านหลัง ๒. เด็กอายุ ๑ — ๕ ปี หรือน้ำหนัก ๑๐ — ๑๘ กก. ใช้ที่นั่งสำหรับทารกและเด็กเล็ก โดยให้นั่งเบาะหลังของรถและหันหน้าตามปกติ ๓. เด็กอายุ ๕ — ๑๐ ปี หรือน้ำหนัก ๑๘ — ๒๘ กก. ควรใช้ที่นั่งเสริมเพื่อยกตัวเด็ก ให้สูงพอที่จะคาดเข็มขัดนิรภัย ๔. เด็กอายุมากกว่า ๑๐ ปีขึ้นไป สามารถนั่งในรถโดยใช้เข็มขัดนิรภัยตามปกติได้ การใช้เข็มขัดนิรภัยผิดวิธี แม้เข็มขัดนิรภัยจะช่วยป้องกันอันตรายหากรถประสบอุบัติเหตุได้ แต่หากใช้ในตำแหน่ง ที่ไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดผลเสียขึ้นได้หรือที่เรียกว่า โรคของเข็มขัดนิรภัย (Safety belt syndrome) ประกอบด้วย การบาดเจ็บในช่องท้อง ไขสันหลัง ลำคอและใบหน้า ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยควรเลือกใช้อุปกรณ์นิรภัยให้เหมาะสมกับรูปร่างและอายุ สุดท้ายนี้ แม้รถยนต์จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง แต่หากผู้ปกครองไม่เอาใจใส่ดูแลเด็ก อาจเกิดอันตรายขึ้น ดังนั้น ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่ในรถตามลำพัง และไม่อุ้มเด็กขณะขับรถ รวมทั้งไม่สตาร์ทรถและเปิดแอร์ทิ้งไว้ เพราะก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์จะรั่วไหลเข้ามาในรถ ทำให้เด็กขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต ตลอดจนควรเลือกที่นั่งสำหรับเด็กให้เหมาะสมกับอายุ และคาดเข็มขัดนิรภัย ให้เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยกับเด็กจากการโดยสารรถยนต์