กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--กรมบัญชีกลาง
กรมบัญชีกลางออกหลักเกณฑ์ปรับเพิ่มอัตราค่าเล่าเรียนระดับปริญญาตรีใหม่ สถานศึกษาของทางราชการ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินปีละ 20,000 บาท ส่วนของเอกชนให้เบิกได้ครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน ปีละ 20,000 บาท ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551
นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่กรมบัญชีกลางได้ขยายสิทธิการให้เบิกเงินช่วยเหลือเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรให้แก่ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับบำนาญ ผู้มีสิทธิ โดยให้เบิกค่าเล่าเรียนได้ถึงระดับปริญญาตรี มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2548 โดยให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินปีการศึกษาละ 15,000 บาท สำหรับสถานศึกษาของทางราชการ และเบิกจ่ายได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินปีการศึกษาละ 15,000 บาท สำหรับสถานศึกษาเอกชน แต่เนื่องจากปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปมาก อัตราค่าครองชีพปรับสูงขึ้น ทำให้กรมบัญชีกลางต้องมีการทบทวนอัตราการเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง
นายมนัส แจ่มเวหา กล่าวต่อว่า หลังจากที่กรมบัญชีกลางได้ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการ ขอเบิกเงินสวัสดิการค่าเล่าเรียนบุตรในระดับปริญญาตรี ของผู้มีสิทธิจากส่วนราชการต่าง ๆ แล้ว เห็นว่าอัตราค่าเล่าเรียนที่กำหนดไว้นั้นต่างจากข้อเท็จจริง จึงได้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินบำรุงการศึกษาและ ค่าเล่าเรียนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ในสถานศึกษาของทางราชการ ให้เบิกจ่ายได้เต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินปีการศึกษาละ 20,000 บาท ส่วนสถานศึกษาของเอกชน ให้เบิกจ่ายได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินปีการศึกษาละ 20,000 บาท ซึ่งผู้มีสิทธิสามารถนำใบเสร็จที่สถานศึกษาเรียกเก็บมาเบิกได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 เป็นต้นไป
นายมนัส แจ่มเวหา กล่าวต่อท้ายว่า การเบิกเงินค่าการศึกษาในระดับปริญญาตรีนี้ สามารถเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ทุกประเภทในลักษณะเหมาจ่ายทั้งปีการศึกษา ซึ่งค่าใช้จ่ายนั้นต้องเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่สถานศึกษาได้รับอนุมัติให้เรียกเก็บตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศของสถานศึกษานั้น ๆ และถ้าได้มีการเบิกค่าการศึกษาของบุตรไปแล้วในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2551 ยังไม่ครบตามสิทธิ ก็ให้นำหลักฐานการชำระค่าการศึกษาของบุตรมาขอใช้สิทธิเบิกเงินเพิ่มในส่วนที่ไม่ครบสิทธิได้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551