กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--กระทรวงพลังงาน
ก.พลังงาน ปิดฉากการประชุม รัฐมนตรีพลังงานอาเซียน สุดชื่นมื่น สรุปความร่วมมือ รวมพลังชาติอาเซียน เชื่อมโยงเครือข่ายพลังงานในภูมิภาค (Regional Energy Network) เตรียมทำแผนด้านสำรองน้ำมันแก้ไขสภาวะวิกฤตร่วมกัน (Oil Stockpiling Roadmap) คาดเดือน พ.ย. 51 รู้ผล ย้ำเดินหน้า กลไกการพัฒนาที่สะอาด และพลังงานนิวเคลียร์ หลังเกาหลี ญี่ปุ่น พร้อมให้การช่วยเหลือ ด้านบุคลากร และการถ่ายทอดเทคโนโลยี มั่นใจ ส่งพลังงานไทย ก้าวทันพลังงานโลก
วันนี้ (8 ส.ค.) ที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 26 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ ได้มีการปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ และพร้อมจะส่งต่อการประชุม ฯ ให้แก่ประเทศพม่า ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพในครั้งที่ 27 ต่อไป
พลโท หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการปิดประชุม ฯ ว่า การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ได้ประสบความสำเร็จและลุล่วงเป็นอย่างดี ซึ่งผลประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับโดยตรงจากการจัดประชุมครั้งนี้ นอกจากจะได้รับการข้อมูลด้านองค์ความรู้ที่ทันต่อสถานการณ์โลก ความก้าวหน้าด้านพลังงานในภูมิภาคแล้ว ยังถือว่าประเทศไทยได้ชูบทบาทด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ เกิดความร่วมมือในการพัฒนากิจการพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการจัดหา เชื่อมโยง พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานในภูมิภาคอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ผลการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน จากการประชุมของทั้ง 3 คณะ ได้แก่การประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ของทั้ง 10 ชาติในอาเซียน หรือAMEM การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน + 3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) หรือ AMEM +3 และการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน +6 หรือ East Asia Summit (EAS) เพิ่ม อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หรือ AMEM +6 สามารถสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ได้ดังนี้
1. ด้านความมั่นคงทางด้านพลังงาน แบ่งเป็น
Trans ASEAN Gas Pipeline การเชื่อมโยงท่อก๊าซระหว่างประเทศ ซึ่งรับผิดชอบโดยคณะมนตรีด้านปิโตรเลียมของอาเซียน (ASCOPE - ASEAN Council on Petroleum) ซึ่งผลการดำเนินการปัจจุบันมีการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อก๊าซอยู่แล้ว 8 โครงการ มีความยาวรวม 2,300 กิโลเมตร ซึ่งการเชื่อมโยงทั้งหมดเป็นความร่วมมือในลักษณะทวิภาคี เช่น ท่อก๊าซไทย-พม่า และไทย-มาเลเซีย ในลำดับต่อไปจะเริ่มการศึกษาถึงความคุ้มทุนของการเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งแหล่ง Supply ก๊าซที่ได้รับการพิจารณาคือ แหล่งนาทูน่า ของประเทศอินโดนีเซียที่คาดว่าจะเป็นแหล่งก๊าซขนาดใหญ่เพียงพอในการ Supply ก๊าซในภูมิภาคโดยการต่อท่อมายังประเทศไทยและแยกท่อย่อยไปยังประเทศอื่น อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน และฟิลิปปินส์
ASEAN Power Grid ปัจจุบันมีโครงการเชื่องโยงระบบสายส่ง 3 โครงการที่ดำเนินงานแล้ว และยังมีแผนอีก 11 โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา
ทั้ง Trans ASEAN Gas Pipeline และ ASEAN Power Grid จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียนเรียกว่า ASEAN Regional Energy Network ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงในระบบของด้านพลังงานในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น
APSA (ASEAN Petroleum Security Agreement) หรือความตกลงอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียม เป็นการเตรียมรับสภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกโดยให้ประเทศสมาชิกด้วยกันช่วยเหลือในกรณีที่เกิดการขาดแคลนน้ำมัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ปรับแต่งรายละเอียดและเป็นที่ยอมรับของทุกประเทศในอาเซียนเรียบร้อยแล้ว และปัจจุบันหลายประเทศอยู่ระหว่างการนำเสนอ ครม. ของแต่ละประเทศ และคาดว่าจะจัดให้มีการลงนามในวาระการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ในช่วงปลายปีนี้ที่ประเทศไทย
2. ด้านพลังงานทดแทน และเชื้อเพลิงชีวภาพ
ประเทศไทยได้นำเสนอต่อที่ประชุมถึงการใช้ศักยภาพด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ ของภูมิภาคอาเซียน ในการผลักดันให้อาเซียนเป็น ศูนย์กลางการผลิตและการค้าเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งแก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค โดยการสร้างกลไกสนับสนุนเพื่อให้เกิดการลงทุน การใช้ และการอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาคและลดผลกระทบจากราคาน้ำมั้นแพง
และในที่ประชุมของ EAS (ASEAN + 6) ก็ได้ให้ความเห็นชอบ หลักการของการผลิตพลังงานชีวมวลในเอเชีย (Asia Biomass Energy Principles) โดยครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การใช้ ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการผลิตอาหาร ทั้งนี้ที่ประชุมก็พร้อมใจที่จะส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างเป็นระบบ
3. ด้านประสิทธิภาพพลังงาน
ทุกประเทศมีความเห็นตรงกันที่จะขยายความร่วมมือด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และในที่ประชุมก็ได้รับการแลกเปลี่ยนข้อมูลจาก International Energy Agency (IEA) หรือทบวงพลังงานโลกถึงแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่มประเทศผู้นำ จี 8 ให้ได้ถึง 50% ในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งปริมาณของ CO2 ที่จะลดลงทั้งหมด จะต้องมาจากมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือมาตรการประหยัดพลังงานถึง 40%
4. ด้านการสำรองน้ำมัน (Oil Stockpiling)
ที่ประชุม ASEAN +3 ได้อนุมัติให้มีการจัดทำแผนการสำรองน้ำมันในภูมิภาคอาเซียน (Oil Stockpiling Roadmap) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบการสำรองน้ำมัน ป้องกันการขาดแคลนและการแก้ไขสภาวะวิกฤต โดยยึดหลัก 4 ด้าน ประกอบด้วย ความสมัครใจ ไม่มีข้อผูกมัด เกิดประโยชน์ร่วมกัน การเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เน้นการพัฒนาใน ระยะยาว
สำหรับการจัดทำแผน Roadmap ด้านสำรองน้ำมันจะมีการจัดตั้งคณะผู้ชำนาญการเพื่อยกร่าง Roadmap ขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ที่ประเทศฟิลิปปินส์
5. ด้าน Regional Energy Policy and Planning
ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นแกนนำสำหรับการจัดทำแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงาน ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation (APAEC) 2010 - 2015 ซึ่งเป็นกลไกที่จะช่วยให้นโยบายพลังงานของไทย ได้รับการสนับสนุนและผลักดันในระดับภูมิภาค ซึ่งการประชุมของคณะทำงานจะมีขึ้นที่กรุงเทพในช่วงเดือนตุลาคมนี้ที่กรุงเทพฯ
6. ด้าน CDM หรือกลไกการพัฒนาที่สะอาด
เป็นครั้งแรกที่มีการหารือถึงการพัฒนาด้วยกลไกที่สะอาด (CDM) ที่เสนอโดยประเทศเกาหลีภายใต้ใน Forum ของ ASEAN +3 โดยประเทศเกาหลีใต้ได้เสนอให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและด้านวิชาการกับประเทศสมาชิกอาเซียน และที่ประชุมได้เห็นชอบให้ศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Centre for Energy) เป็นหน่วยประสานงานในการพิจารณารายละเอียดด้านความร่วมมือในภูมิภาคต่อไป
7. ด้านพลังงานนิวเคลียร์
ภายใต้การประชุม AMEM ประเทศสมาชิกมีความเห็นตรงกันถึงความความสำคัญของพลังงานนิวเคลียร์ที่จะเสริมความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวและเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ในอาเซียนภายใต้คณะทำงาน Nuclear Energy Safety Sub-Sector Network และในลำดับต่อไป ที่ประชุม AMEM ได้มอบหมายให้ประเทศมาเลเซียประสานคณะทำงานในการปรับปรุงแผนการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในภูมิภาคให้ครอบคลุมถึงด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการประสานข้อมูลพลังงานนิวเคลียร์และด้านการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ภายใต้กรอบ ASEAN +3 มีโครงการใหม่ที่เสนอโดยประเทศเกาหลี เรียกว่า Safety Use of Civilian Nuclear Energy และได้เสนอ Offer ให้การสนับสนุนการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ให้กับอาเซียน โดยที่ประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น จะให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี กฎระเบียบ แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนที่สนใจ