กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--
ในวันแม่เป็นวันที่ลูกจะต้องแสดงความกตัญญูต่อคนเป็นแม่ และตัวของคนเป็นแม่เองก็จะต้องมีความสุขในวันแม่นี้ แต่ก็มีแม่จำนวนไม่น้อยที่ไมได้มีความสุขกับวันนี้ ด้วยโจทย์ของแม่ยุคใหม่ที่ยากขึ้นกว่าเดิม สารพัดปัญหาที่ถาโถมทั้งเรื่องลูก ติดเกม หนีเรียน ไม่ตั้งใจเรียน ดื้อ ซน ไม่เชื่อฟัง มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำให้ผู้หญิงที่สวมบทบาทแม่จะต้องตกอยู่ในห้วงแห่งความเครียดและไม่มีความสุข เพราะมัวแต่กังวลอยู่กับการแก้ปัญหาเรื่องลูก พ.ญ.เพียงทิพย์ หังสพฤกษ์ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า ความทุกข์ของคนเป็นแม่นอกจากจะทุกข์ใจในปัญหาอื่นๆ ทั้งเรื่องการงาน เงิน ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจ ยังมีความทุกข์ใจในเรื่องที่เกี่ยวกับลูก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมาจากความกังวลและคาดหวังลูกมากจนเกินไป หรือความกังวลที่เกิดจากปัญหาของลูก โดยเฉพาะลูกติดเกม ลูกดื้อ ซน ไม่ค่อยเชื่อฟัง “บางทีความกังวลในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นก็อาจจะทำให้แม่ทุกข์ใจไปเอง เช่น กังวลว่าลูกเป็นคนดีมีน้ำใจกับคนอื่นเลยกลัวว่าลูกจะถูกเอาเปรียบจนอยู่ไม่ได้ในสังคมที่แข่งขันกัน จึงพยายามพูดให้ลูกฟังบ่อยๆ ว่าต้องไม่ไว้ใจใคร อย่าให้ใครมาเอาเปรียบจนไม่มีความสุขกันไปทั้งแม่ทั้งลูก หรือแม่บางคนเห็นลูกเตี้ยก็กลัวลูกจะเป็นปมด้อย แต่ในขณะเดียวกันลูกอาจจะไม่อยากสูงก็ได้ เลยทำให้ทะเลาะกันเวลาที่แม่พาลูกไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องความสูงของลูกเป็นต้น และบางคนก็ไม่กังวลจนลูกมีปัญหามากมายถึงจะเพิ่งมาคิดได้ว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างมาตั้งนาน แล้วเกิดปัญหาเลยรู้สึกผิดที่ตัวเองใจเย็นเกินไป” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นกล่าว เช่นเดียวกับ พิกุลชร หัตถะผะสุ คุณแม่ลูก1 กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะกังวลเกี่ยวกับการติดเกมของลูกชายวัย 8 ขวบ ทำให้ลูกหมกมุ่น ไม่สนใจการเรียน บางครั้งก็ทำให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว พูดหยาบคายจนคนอื่นมองว่าลูกเป็นเด็กที่ไม่มีสัมมาคารวะ ตนจึงเครียด และมักจะโทษตัวเองอยู่เสมอว่าเลี้ยงลูกไม่ดี จนกลายเป็นปมความทุกข์ที่เก็บอยู่ในใจ เมื่อเปรียบเทียบกับลูกของคนอื่นๆ ที่เป็นเด็กน่ารัก เรียบร้อย และยิ่งไปกว่านั้นตนกังวลว่าในอนาคตเมื่อลูกโตขึ้นจะกลายเป็นเด็กที่เกเร และชอบใช้ความรุนแรง ด้านพิไลลักษณ์ กาญจนวิสิษฐ์ผล เปิดเผยว่าตนจะรู้สึกทุกข์ใจเป็นอย่างมากเวลาที่ลูกไม่สบาย ป่วย รู้สึกสงสาร เลยทุกข์แทนลูก เพราะถ้าหากผู้ใหญ่ไม่สบายก็ทรมานอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นเด็กๆ จะทรมานมากแค่ไหน เลยทำให้รู้สึกเป็นทุกข์แทนลูก นอกจากนั้นก็อาจจะมีบ้างบางครั้งที่ทุกข์ใจเมื่อลูกไม่ค่อยจะเชื่อฟัง แต่ก็ไม่ได้ซีเรียสอะไรมากเพราะเข้าใจธรรมชาติของเด็ก พ.ญ.เพียงทิพย์ แนะนำวิธีแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเพื่อช่วยคลายความทุกข์ของคนที่เป็นแม่ 5ข้อหลักๆ ดังนี้ 1. ต้องไม่กังวลกับปัญหาและไม่ยึดติดกับความคาดหวังของตนเองมากจนเกินไป ควรที่จะยอมรับและเข้าใจในสิ่งที่ลูกเป็น ก็จะทำให้ความทุกข์ของผู้เป็นแม่คลายลงไปได้ ต้องเข้าใจตนเองว่าความทุกข์เกิดมาจากอะไรในใจตนเอง ถามตัวเองว่าตั้งความหวังอะไรไว้แล้วไม่สมหวังรึเปล่าหรือปรารถนาอะไรไว้แล้วไม่ได้รับสิ่งนั้นหรือแปลสิ่งที่ลูกทำว่าเป็นปัญหาอย่างไร เพราะความทุกข์ของแม่เกิดจากตัวแม่เองไม่มีสิทธิ์ไปโทษลูก แต่ถ้าแม่ไม่อยากทุกข์ใจไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไรแม่ต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่าธรรมชาติของความทุกข์และความรู้สึกต่างๆนั้นมาจากข้างในตัวเรา หรือแม่บางคนที่ทุกข์ใจอาจจะมองพฤติกรรมของลูกว่าเป็นปัญหา มีความผิดหวังคิดว่าลูกไม่ควรเป็นแบบนี้ หรือแม่เองทนไม่ได้กับสิ่งที่ลูกเป็น เมื่อคุณแม่เข้าใจตนเองแล้วคุณแม่ก็จะสามารถเลือกที่จะปล่อยความคาดหวังบางอย่างไปหรือมองสิ่งที่ลูกเป็นอยู่ คุณแม่ก็จะมีความสุขได้ ณ ปัจจุบันนี้และตลอดไป สามารถเป็นที่พึ่งให้ลูกได้และสอนลูกให้มีความสุขได้ด้วยหลักการนี้เช่นกันก็จะทำให้มีความสุขจากภายในกันทั้งแม่ลูก 2. วิธีคลายทุกข์แบบเฉพาะหน้าคือเมื่อเวลาที่ต้องทุกข์ใจกับพฤติกรรมบางอย่างของลูก เช่น ลูกนั่งเล่นเกมอยู่ แล้วแม่เข้าไปเรียกทานข้าว ทำการบ้าน หรือเข้านอน และลูกก็มีพฤติกรรมก้าวร้าว ดุด่าแม่ อารมณ์เสียที่เข้าไปขัดขวาง กรณีนี้ให้คุณแม่ถอยออกมาก่อน หาที่เงียบๆ พยายามหายใจเข้าออกยาวๆ สบายๆ ตลอดเวลาเพื่อเป็นการส่งสัญญานไปยังร่างกายและจิตใจว่าเราผ่อนคลาย และทำให้มีสติไม่จมอยู่กับความทุกข์ หลังจากนั้นให้ลองพิจารณาดูว่าความทุกข์ของตนเกิดจากอะไร พฤติกรรมของลูกทำให้คุณได้รับผลกระทบจนเป็นทุกข์ได้อย่างไรลองหาทางออกหลายๆวิธีแล้วเลือกวิธีที่คุณทำเองได้โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่นก่อน เพราะการหวังพึ่งคนอื่นเป็นการยากกว่าการทำอะไรเอง 3. ควรหาความสุขกายและใจให้ตนเองอยู่เสมอสำหรับเผื่อแผ่ไปยังลูก สามี หรือคนรอบข้าง อย่ารอความสุขจากผู้อื่น เพราะถ้าหากยึดหลักว่าการที่ตัวเองจะสุขหรือทุกข์ขึ้นอยู่กับผู้อื่นนั้น ก็จะทำให้ผู้อื่นเรียนรู้แบบนั้นเช่นกัน ตกลงเลยไม่มีใครสร้างความสุขให้ตนเองและคนที่ตนเองรักได้เพราะโยนความรับผิดชอบกันไปมา 4. หากิจกรรมที่ให้ความสุขสนุกสนานร่วมกับคนในครอบครัว เช่น พูดคุยถึงสิ่งที่แม่ต้องการให้ลูกทำ และรับฟังสิ่งที่ลูกต้องการให้แม่ทำ แล้วทั้งสองฝ่ายก็จะสามารถให้และได้รับในสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างต้องการได้ ซึ่งทุกคนในครอบครัวสามารถแชร์ซึ่งกันและกันได้โดยการทำกิจกรรมร่วมกัน ก็อาจจะทำให้คุณแม่ผ่อนคลาย และสบายใจ 5. ข้อที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือแม่ทุกคนควรที่จะให้อภัยตนเอง และไม่ควรที่จะโทษตัวเองเพียงอย่างเดียว พ.ญ.เพียงทิพย์สรุปว่า คำแนะนำทั้ง 5 ข้อเป็นเพียงวิธีการที่อาจจะช่วยคลายความทุกข์ใจของคนที่เป็นแม่ลงได้บ้างในกรณีความทุกข์ที่เกิดจากความคาดหวัง ความกังวลของตัวเอง แต่ถ้าหากเป็นเรื่องอื่นๆ ที่อาจจะหนักหนาสาหัส เช่น ปัญหาเกี่ยวกับงาน หนี้สิน หรือสุขภาพ ทำให้เกิดความทุกข์ใจ กรณีเหล่านี้จะต้องมาดูกันเป็นเรื่องๆ ไปว่าจะต้องแก้ไขปัญหากันอย่างไร เพราะทุกเรื่องมีทางออกเสมอ แต่ถ้ารุนแรงและหนักเกินกว่าจะรับมือได้ ก็ควรเข้ามาพบและขอคำแนะนำปรึกษาจากจิตแพทย์ได้ทุกเวลาก็อาจจะทำให้สบายใจและคลายความทุกข์ใจลงได้บ้าง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ คุณพิมพร ศิริวรรณ โทร 081-928-2808 คุณจีรศักดิ์ หลักเมือง โทร 083-136-8267