นิด้าเชื่อดีเดย์ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากปลุกหุ้น-ตราสารหนี้ จับตาแบงก์เล็กควบรวมกิจการ

ข่าวทั่วไป Monday August 11, 2008 11:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
นักวิชาการนิด้า มั่นใจใช้ พ.ร.บ..สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันการเงิน ขณะที่ประชาชนกระจายการออมเงิน ปลุกตลาดหลักทรัพย์ ตราสารหนี้และพันธบัตรรัฐบาลตื่นตัว ชี้จับตามีแนวโน้มแบงก์เล็กควบรวมกิจการสร้างความแข็งแกร่ง หวังลดต้นทุนเบี้ยประกันเงินฝาก
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551 ที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองเงินฝากทุกบัญชีในปีแรกไม่จำกัดวงเงิน ปีที่ 2 คุ้มครอง 100 ล้านบาท ปีที่ 3 คุ้มครอง 50 ล้านบาท ปีที่ 4 คุ้มครอง 10 ล้านบาท และปีที่ 5 จะคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาท ต่อ 1 บัญชีต่อสถาบันการเงิน 1 แห่ง ซึ่งการบังคับใช้ในครั้งนี้ จะส่งผลให้ประชาชนที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท จะเลือกการออมเงินในรูปแบบอื่น เช่น การลงทุนในตลาดทรัพย์ การซื้อตราสารหนี้ การซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งจะช่วยให้ตลาดเหล่านี้มีเม็ดเงินจากการลงทุนเพื่อออมเงินของประชาชนเข้ามาในตลาดมากยิ่งขึ้น
“การบังคับใช้ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะทำให้ประชาชนที่มีเงินออมจำนวนมาก ต้องบริหารเงินออม โดยรูปแบบอาจกระจายการออมเงินไปยังธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง หรือกระจายการออมเงินสู่การลงทุนอื่นๆ เพื่อการออมทรัพย์ ส่งผลให้การออมในรูปแบบของการลงทุนในหลักทรัพย์หรือพันธบัตร ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดตราสารหนี้ หรือการซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้รับความสนใจจากประชาชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดทุนอีกด้วย” รศ.ดร.มนตรี กล่าว
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังได้กำหนดให้มีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เพื่อให้ความคุ้มครองเงินฝาก โดยจะมีรายได้จากการเรียกเก็บเบี้ยประกันเงินฝากจากสถาบันการเงิน ที่นำเงินฝากที่ได้จากผู้ฝากเงินมาทำประกันคุ้มครองเงินฝากอีกทอดนั้น
ซึ่งในระยะแรกนั้นสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะเรียกเก็บประกันเงินจากสถาบันการเงินเท่ากัน ทุกแห่ง ในอัตรา 0.40 เปอร์เซ็นของเงินฝาก เริ่มตั้งแต่ 11 สิงหาคม 2556 เป็นต้นไป การเก็บเบี้ยประกันเงินฝากของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะเรียกเก็บเบี้ยประกันจากสถาบันการเงินไม่เท่ากัน โดยใช้เกณฑ์เรื่องของฐานะการเงินและการดำเนินงานของสถาบันการเงิน มาเป็นตัววัดในการเรียกเก็บเบี้ยประกัน
ทั้งนี้ จากแนวคิดการเรียกเก็บเบี้ยประกันดังกล่าว ทำให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารการจัดการให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สถาบันการเงินเสียเบี้ยประกันเงินฝากกับสถาบันคุ้มครองเงินฝากในอัตราที่ต่ำ เพื่อหวังให้ต้นทุนในการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ต่ำลงด้วย ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กที่มีการบริหารการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ต้องควบรวมกิจการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มอำนาจการแข่งขันในกลุ่มสถาบันการเงิน รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้ฝากเงิน
“ต่อไปธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน เพราะแต่ละแห่งจะต้องนำเงินฝากของประชาชนไปทำประกันเงินฝากกับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่มีการเรียกเก็บเบี้ยประกันแต่ละแห่งไม่เท่ากัน จึงเป็นแรงผลักให้กับธนาคารพาณิชย์ต้องสร้างความมั่นคงและเชื่อมั่นให้กับประชาชน การควบรวมธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กจึงมีความเป็นไปได้ เพื่อให้มีค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันที่ต่ำ และช่วยให้ธนาคารมีความสามารถในการทำกำไรได้มากขึ้น”
รศ.ดร.มนตรี กล่าวว่า สถาบันประกันเงินฝากจึงเป็นจิ๊กซอว์ที่ช่วยให้ระบบสถาบันการเงินมีความสมบูรณ์และมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เมื่อสถาบันการเงินมีการพัฒนา ประชาชนก็จะมีความเชื่อมั่นในการฝากเงินมากขึ้น เพราะมีสถาบันประกันเงินฝากเข้ามาดูแลในการคุ้มครองเงินฝากให้ จึงทำให้แต่ละฝ่ายสามารถกำกับซึ่งกันและกัน เปรียบเสมือนเสา 3 ต้นที่ช่วยค้ำจุนระบบสถาบันการเงินของไทย ที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมต่อไปในอนาคต
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : ศิริขวัญ ธรรมชัยพิเนต (หยิง PR)
บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ในนาม GSPA NIDA) โทร: 0-86321-7018

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ