กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--ปภ.
ไทย-ญี่ปุ่น ร่วมมือพัฒนศักยภาพบุคลากร เพื่อเป็นวิทยากรสร้างทีมกู้ภัย ตามโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งทีมกู้ภัย” (OTOS)
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดอบรมหลักสูตรการกู้ภัยขั้นก้าวหน้า โดยความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่น จัดส่งผู้เชี่ยวชาญ 5 คน ประจำวิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พัฒนาบุคลากรของกรม ฯ เพื่อเป็นวิทยากร ตามโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งทีมกู้ภัย พร้อมเชิญชวนผู้ที่สนใจ เข้าชมการแสดงสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ วิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านองค์กรระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) จัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติจำนวน 5 คน มาประจำที่วิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แก่ Mr.Toshiaki Nagashima ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ, Mr.Sadatoshi Sakata หัวหน้าทีมป้องกันอัคคีภัย สำนักงานใหญ่ป้องกันภัยพื้นที่ 2 กรุงโตเกียว, Mr.Atusshi Iwano หัวหน้าทีมกู้ภัยทางน้ำ สถานีป้องกันไฟโซฟู สำนักงานป้องกันภัยกรุงโตเกียว, Mr.Shinchi Hasekawa ผู้ช่วยหัวหน้าทีมป้องกันอัคคีภัย สำนักงานใหญ่ป้องกันภัยพื้นที่ 8 กรุงโตเกียว และ Mr.Keiji Amano หัวหน้าชุดผจญเพลิง สำนักงานใหญ่ป้องกันภัยพื้นที่ 8 กรุงโตเกียว เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย (Search and Rescue : SAR) ให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมป้องกัน ฯ ในการเป็นวิทยากรตาม โครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งทีมกู้ภัย (ONE TAMBON ONE SEARCH AND RESCUE TEAM : OTOS)”ซึ่งกรมป้องกัน ฯ มีเป้าหมายให้ทุกตำบลทั่วประเทศไทยมีทีมกู้ภัยประจำตำบลครบทุกอำเภอภายในปี 2551
ในการนี้ กรมป้องกัน ฯ ได้จัดการฝึกอบรมหลักสูตรการกู้ภัยขั้นก้าวหน้า (Advance Rescue Training Course) ให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมป้องกัน ฯ จำนวน 24 คน ระหว่างวันที่ 6-25 ธันวาคม 2548 โดยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นเป็นวิทยากรตลอดหลักสูตร โดยจัดแบ่งการฝึกอบรม เป็น 2 ช่วง ในช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 6-16 ธันวาคม 2548 ฝึกอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ณ วิทยาลัยป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย จังหวัดปทุมธานี โดยในวันปิดการอบรม (16 ธันวาคม 2548) มีการแสดงการสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เวลา 14.00 น. โดยมี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติเป็นประธานและร่วมชมการแสดงสาธิตดังกล่าว พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และผู้ที่สนในร่วมรับชมการแสดงฯ โดยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น ฝึกการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เช่น บันได เปลสนาม และเครื่องมือกู้ภัยในการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยในอาคารสูง อาคารถล่ม และอุบัติเหตุรถยนต์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะในการปฏิบัติงาน ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 19-25 ธันวาคม 2548 ฝึกภาคสนาม ณ วิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วิทยาเขตภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยมีการแสดงสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ ในวันที่ 25 ธันวาคม 2548 เวลา 15.30 น. บริเวณหาดป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต--จบ--