มาสเตอร์อินเด็กซ์ เผยทัศนคติผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกยังสดใสไม่หวั่นวิกฤตโลก

ข่าวทั่วไป Friday January 14, 2005 14:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--124 Communication
9 ใน 13 ของผลการสำรวจยังคงแสดงความมั่นใจ ครึ่งปีแรกยันอินโดเป็นผู้นำตลาด
มาสเตอร์การ์ดเปิดเผยผลการสำรวจทัศนคติของผู้บริโภคโดยมาสเตอร์อินเด็กซ์ รวมทั้งผลสำรวจของกลุ่มลูกค้าในเอเชียแปซิฟิกช่วงสองปีที่ผ่านมาที่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ผลการสำรวจที่จัดทำขึ้นทุกสองปีนี้ เผยข้อมูลระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกว่าถึงแม้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา จะเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญอย่างการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส สงครามอิรัก โรคหวัดนก และการขึ้นราคาน้ำมันทั่วโลก ผู้บริโภคยังคงมีความมั่นใจ และทัศนคติที่ดีต่อตลาดโลก ซึ่งผลการสำรวจล่าสุดโดยมาสเตอร์การ์ดนี้จัดทำขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิซึ่งได้คร่าชีวิตพี่น้องชาวเอเชียและส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในเอเชีย
ผลกระทบ และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคซาร์สและสงครามอิรัก สร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชีย ทำให้ระดับทัศนคติแย่ลงมาเหลือเพียงแค่ 46.8 ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2546 อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปีเดียวกันถึงครึ่งปีแรกของ 2547 ระดับความเชื่อมั่นกลับมาสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดที่ระดับ 66.5
สำหรับโรคหวัดนกที่แพร่ระบาดอย่างฉับพลันในช่วงต้นปี 2547 แทบจะไม่ได้ส่งกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภค ขณะที่ช่วงกลางปีผลสำรวจของครึ่งปีหลังวัดระดับความเชื่อมั่นได้ 63.7 ซึ่งลดลงมาจากเดิมเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้แม้จะเกิดภาวะราคาน้ำมันสูงสุดทั่วโลกในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2547 ทัศนคติของผู้บริโภคถึงช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ยังคงสดใสอยู่ที่ 63.2
การก้าวสู่ปีที่ 13 ของการสำรวจทุกสองปีของมาสเตอร์อินเด็กซ์ การสำรวจทัศนคติของผู้บริโภคที่ดำเนินการมายาวนานที่สุด และกว้างขวางครอบคลุมที่สุดในภูมิภาค ได้วิเคราะห์ความคิดเห็นของผู้บริโภคเกี่ยวกับตลาดเศรษฐกิจ 13 แห่ง ในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่า ระดับคะแนนระหว่าง 0 ถึง 100 วัดจากการตอบคำถามของผู้บริโภคใน 5 หัวข้อด้วยกัน คือ การจ้างงาน เศรษฐกิจ รายได้ประจำ ตลาดหุ้น และคุณภาพชีวิต
ดร.ยูวา เฮดริก-หว่อง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจมาสเจอร์การ์ด ประจำเอเชียแปซิฟิก สังเกตเห็นว่าในช่วงปี 2546-2547 เป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจผันผวนที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ดร.เฮดริก-หว่อง กล่าวว่า "ระดับทัศนคติของผู้บริโภคในภูมิภาคแสดงให้เห็นว่าความสามารถในการรับมือและฟื้นตัวจากเหตุการณ์ที่ร้ายแรงต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ดี ประเทศหนึ่งซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีคือประเทศจีน ที่ซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น และมีการพัฒนาประเทศอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้รากฐานสภาพเศรษฐกิจของจีนมั่นคง ทำให้ผู้บริโภคสามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคซาร์สได้ และแทบจะไม่ได้มีต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเลย ในช่วงปี 2546-2547 ทัศนคติของผู้บริโภคชาวจีนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียยังคงต่อสู้กับปัญหาทางเศรษฐกิจ และปัญหาการโจมตีของผู้ก่อการร้าย สำหรับปีนี้ภายหลังการเลือกตั้งรัฐบาลที่ผ่านมาผลการสำรวจทัศนคติของผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียอยู่ในระดับที่สูงขึ้นเนื่องจากมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลชุดนี้ว่ามีความแข็งแกร่ง และจะสามารถสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศได้
จากคำกล่าวของดร.เฮดริก-หว่อง "ประสบการณ์ช่วงปี 2546-2547 ที่สำรวจโดยมาสเตอร์อินเด็กซ์ แสดงแนวโน้มว่าผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายต่างๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นลางที่ดี แม้ว่าในอนาคตอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างฉับพลันอีก"
โศกนาฏกรรมสึนามิที่ผ่านมาได้สร้างความเศร้าสลด และความทุกข์ทรมานให้กับผู้คนมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เช่นเดียวกัน
ดร.เฮดริก-หว่อง กล่าวเพิ่มว่า "อย่างประชาชนที่อาศัยอยู่ที่ภูเก็ต ในประเทศไทย ก็เริ่มเก็บกวาดซากปรักหักพังต่างๆ และบริษัทหลายแห่งยังคงเปิดให้บริการตามเดิม ความมีน้ำใจของชาวไทย ความรวดเร็วของการอำนวยความสะดวกต่างๆ และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งหลาย รวมถึงการระดมทุนทรัพย์ขององค์กรต่างๆ สร้างความประทับใจอย่างยิ่งกับชาวต่างประเทศที่มาเยือน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรต่างๆ ร่วมมือกันอย่างไม่ย่อท้อที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้"
ผลการสำรวจล่าสุดซึ่งได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีผู้ร่วมสำรวจความคิดเห็นทั้งหมด 5,517 คน จาก 13 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภค 9 ใน 13 ประเทศ ยังคงมีทัศนคติที่ดี ลดลงจาก 11 ประเทศในผลการสำรวจก่อนหน้าที่จัดทำขึ้นเมื่อครึ่งแรกของปี 2547 ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน เป็นประเทศ 3 อันดับแรก ที่มีทัศนคติที่ดีต่อสถานการณ์ในอนาคต ขณะที่ระดับความเชื่อมั่นของประเทศอย่างฮ่องกง มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และไทย ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพอใช้
ส่วนประเทศที่ยังคงไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในโลกในอีก 6 เดือนข้างหน้า ได้แก่ ประเทศเกาหลี ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ทั้งนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในฟิลิปปินส์ยังคงลดลงอยู่อย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงหกเดือน ขณะที่ระดับทัศนคติของไต้หวันอยู่ในเกณฑ์ต่ำคือ 48.2 เท่านั้น
ประเทศเทย
นอกเหนือจากภัยพิบัติ 4 อย่างที่เกิดขึ้นในภูมิภาคแล้ว ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และการลอบวางระเบิดทางภาคใต้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2547 ที่ผ่านมา สำหรับสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีแรกของ 2548 ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันสูงขึ้น และจากเหตุการณ์ภาคใต้ ทำให้ระดับทัศนคติของผู้บริโภคในประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 59.4 เท่านั้น
ระดับที่ลดลงอย่างเฉียบพลันนี้ เป็นระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 69.2 หรือกระทั่งช่วงปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับสูงมากถึง 96.1 นอกจากนี้ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่แยกเป็นหมวดหมู่เทียบระดับทัศนคติล่าสุดกับทัศนคติที่สำรวจเมื่อครั้งก่อน (การจ้างงาน 52.5 / 74.9, เศรษฐกิจ 52.6 / 70.9, รายได้ประจำ 75.4 / 79.3, คุณภาพชีวิต 59.9 / 67.4) แสดงให้เห็นถึงระดับที่ลดลงมาอย่างชัดเจน)
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคไม่ได้มีทัศนคติที่แย่มาก แต่ความเชื่อมั่นลดน้อยลงในช่วงการสำรวจ 54 ครั้งที่ผ่านมา ผลการสำรวจที่ระดับ 59.4 ยังคงแสดงว่าผู้บริโภคในประเทศไทยมีทัศนคติต่อสถานการณ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้าที่ดีพอใช้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ