กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
เมื่อวันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม 2551 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดสัมมนาเวทีสาธารณะภายใต้หัวข้อ “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น: เสียงจากประชาชน” เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงทัศนะ รับฟังข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับตัวแทนภาคการเมือง ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเสนอมาตรการป้องกันหรือรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า โดยเฉพาะภายใต้กรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) อย่างเหมาะสม เพื่อให้กรมเจรจาฯ นำไปใช้ปรับปรุงนโยบายการเปิดเสรีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม
ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวเปิดงานในครั้งนี้ว่า “วันนี้ถือเป็นวันครบรอบ 41 ปีของอาเซียน (กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ซึ่งไทยมีฐานะเป็นสมาชิกประเทศหนึ่งอาเซียนและมีความใกล้ชิดกับญี่ปุ่นมายาวนาน การทำ FTA ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศที่ช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัว เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารเศรษฐกิจให้เข้ากับโลกาภิวัตน์ และเป็นบททดสอบการปรับตัวที่จะก่อให้เกิดความแข็งแกร่ง อาเซียนมีนโยบายในการหาพันธมิตรใหม่ เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้อาเซียน ประกอบกับระยะหลังจีนและอินเดียมีความสำคัญมากขึ้น ญี่ปุ่นจึงต้องสร้างจุดยืนเพื่อรักษาเสถียรภาพระหว่างประเทศต่างๆ
ในภาพรวม มิติการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่นเป็นไปได้ด้วยดี การเชื่อมต่อในกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้การเปิดการค้าเสรีเป็นสิ่งที่พึงกระทำเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและลดการเสียประโยชน์น้อยที่สุด ในวันนี้จึงเป็นการเปิดเวทีเพื่อฟังเสียงสาธารณะ (Public hearing) และเปิดโอกาสในการรับฟังและนำเสนอความเห็นที่แตกต่างหลากหลายอันเป็นประโยชน์ในการดำเนินการต่อไป ในท้ายที่สุด คือ จะนำไปสู่ทางออกไปสู่ผลประโยชน์สำหรับประเทศชาติ เพื่อเสนอต่อฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้นำไปปฏิบัติต่อไป”
จากนั้นจึงเป็นปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ญี่ปุ่นกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: ย่างก้าวหรือยาวไกล” โดย ดร.ณรงค์ชัยให้ความรู้ว่า เมื่อทุกประเทศทั่วโลกเข้ามาอยู่ภายใต้กระแสการค้าเสรีทั้งหมด หลังจากการเปลี่ยนแปลงของจีนในการเปิดการค้ากับนานาชาติและการยกเลิกขบวนการสงครามเย็น จึงเริ่มมีการเปิดเสรีการค้าระดับพหุภาคี และในระดับภูมิภาค มีการตั้งกลุ่ม เช่น นาฟต้าและอียู รวมไปถึงการจัดทำความตกลงเขตการค้าอาเซียน-ญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นต้องการมีความสัมพันธ์โดยพยายามมีข้อตกลงพิเศษกับอาเซียนเพื่อต้องการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ทางการค้าการลงทุนในอาเซียน
“การรวมกลุ่มกันในภูมิภาคและการขยายกรอบจากเดิมอาเซียน 10 ประเทศเป็นอาเซียน+3 (เพิ่มจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) และอาเซียน+6 (เพิ่มอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ความตกลงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เราต้องการเป็นชุมชนเศรษฐกิจอาเซียน ดังเช่นกรณีศึกษาของยุโรป ข้อตกลงต่างๆ ทำให้สหภาพยุโรปกลายเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่มาก”
ดร.ณรงค์ชัยกล่าวสรุปว่า “ปัจจุบันมีการจัดทำเขตการค้าเสรีหลายกรอบไปพร้อมกัน เราอยู่ในบริบทใหม่ของประชาคมเศรษฐกิจโลก เราพยายามมียุทธศาสตร์ใหม่เพื่อขยายกลุ่มให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยการเพิ่มการเจรจาเปิดการค้าเสรีทั้งในกรอบภูมิภาคและทวิภาคี”
ทั้งนี้ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวบรรยายในการสัมมนาภายใต้หัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น” เพื่อชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความตกลง AJCEP ที่ไทยได้รับจากการที่ญี่ปุ่นลด/ยกเลิกภาษีให้ไทยเร็วกว่าความตกลงการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) 70 รายการ ประการสำคัญคือ ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้วัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้ง 9 ประเทศ เป็นการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากกรอบเจรจานี้ได้
“การทำความตกลง เริ่มด้วยการศึกษา ใช้เวลาในการเจรจา แล้วลงนามเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย แล้วจะมีผลผูกพันประเทศเพื่อใช้สิทธิประโยชน์นี้ได้ต่อเมื่อได้ลงนามให้สัตยาบันจึงจะสามารถใช้บังคับได้ในทางปฏิบัติ หากกลุ่มประเทศอาเซียนต้องการจะรวมตัวกันอย่างสมบูรณ์ในปี 2015 จึงต้องการการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อขยายฐานการผลิตแล้วส่งออกไปยังต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง การขยายความสัมพันธ์ในอาเซียนไปสู่ อาเซียน +3 และอาเซียน +6 เป็นความจำเป็นที่ไทยต้องรักษาสถานภาพและการมีส่วนร่วมในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจด้วย
ในกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) มีการศึกษาตั้งแต่ปี 2543 แล้วจึงลงนามกรอบการเจรจา 2546 แล้วทำเจรจาทำร่างความตกลงในช่วงปี 2548-2550 แล้วเสนอผ่านมติครม. ซึ่งเห็นชอบให้ลงนามเมื่อเดือน มี.ค. 2551 โดยเมื่อเทียบกับ JTEPA แล้ว ไทยไม่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากการที่ญี่ปุ่นลด/ยกเลิกภาษีสินค้าให้ไทยเร็วขึ้น 70 รายการ และการสะสมแหล่งกำเนิดสินค้า หากมีแหล่งวัตถุดิบไม่เพียงพอ ไทยก็สามารถนำเข้าวัตถุดิบในอาเซียนมาใช้ประโยชน์ได้ ข้อกังวลต่างๆ ก็มีหน่วยงานที่ช่วยเยียวยาและปรับตัว อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตรมีหน่วยงานดูแลช่วยเหลือเยียวยา เป็นการรองรับไว้แล้ว ซึ่งหากผู้ใดสนใจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถหาข้อมูลได้เพิ่มเติมทาง www.dtn.go.th”
การเปิดเสรีการค้าไม่ได้จำกัดอยู่ในมิติการค้าระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับอีกหลายภาคส่วน เช่น ภาคการเมือง ภาคธุรกิจ ภาคสังคม และภาคประชาสังคม โดยดร. คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง นายเกียรติ สิทธีอมร จากภาคการเมือง และ ดร. วิศาล บุปผเวส ตัวแทนฝ่ายวิชาการ ร่วมถกแถลงในช่วง “กรองสถานการณ์การค้าเสรี” อันเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดทำความตกลง AJCEP ซึ่งยังมีอุปสรรคปัญหา
ดร. คณิศ แสงสุพรรณ กล่าวว่า “เรื่องการทำความตกลงเขตการค้าเสรีต้องหาจุดที่เหมาะสมให้ได้สำหรับประเทศของตนเอง ซึ่งแต่ละประเทศมีจุดที่เหมาะสมไม่เหมือนกัน หากมองภาพรวมจะพบว่า เราเป็นประเทศเล็กหลีกหนีไม่ได้ อาทิ การส่งออกและการเปิดตลาดส่งผลให้ตลาดโต และนำเข้าในส่วนที่เราผลิตเองไม่ได้ ห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคเกิดขึ้น เช่น ต้องนำเข้าเส้นใย เพื่อผลิตสินค้าสิ่งทอแล้วจึงส่งออกไปอีกทอดหนึ่ง ก็เกิดเป็นห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม”
ดร.คณิศยังแนะนำว่า ควรต้องมีแกนหลัก มีการเปิดโอกาสเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม อีกทั้งมีกระบวนการรองรับผลกระทบที่ชัดเจน โดยศึกษาก่อนว่ามีภาคส่วนไหนต้องเยียวยา แล้วก็ช่วยเหลือในการปรับตัว กรอบความตกลงดังกล่าวนี้ทำให้ญี่ปุ่นกระจายการลงทุน และทำให้อาเซียนแบ่งตลาดกันบุกญี่ปุ่นมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังขาดก็คือ คุณภาพสินค้ายังไม่เพียงพอ
นายเกียรติ สิทธีอมร จากภาคการเมืองกล่าวเสริมว่า “จาก 200-300 กรอบความตกลง ส่วนที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ คือ ภาคเอกชนได้ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอเท่าไหร่ จากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่ใช้ไม่ถึง 50% เนื่องจากความยุ่งยากในการใช้สิทธิประโยชน์ เงื่อนไขที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งอาจจะทับซ้อนกันอยู่ ทำให้เอกชนไม่เข้าใจ ปัญหาของการทำเอฟทีเอในไทย คือ ภาคประชาสังคมหลายกลุ่มไม่ไว้ใจรัฐบาล เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลยังไม่ค่อยแพร่หลาย ยังเข้าถึงไม่ได้ จนกระทั่งกระบวนการเยียวยาก็ยังไม่ได้มาตรการที่ออกมาดูแลอย่างได้ผลชัดเจน”
นายเกียรติยังให้ความเห็นว่า เมื่อเราได้ยอมเสียเปรียบจากความตกลงเขตการค้าเสรีอย่างไทย-ญี่ปุ่น ทำให้ประเทศอื่นๆ นำมาเป็นบรรทัดฐาน อาจส่งให้เราเสียเปรียบจากการทำเอฟทีเอ แต่การที่ดึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาร่วมทำความตกลงเป็นสิ่งที่ต้องทำ ความท้าทาย คือเราต้องเร่งปรับโครงสร้างภายใน
ดร. วิศาล บุปผเวส ตัวแทนฝ่ายวิชาการให้ความเห็นว่า “การแบ่งงานกันทำ ก็ทำให้คนในสังคมได้ประโยชน์ เราได้ทำในสิ่งที่เราเก่ง และได้แลกกับสิ่งที่คนอื่นเก่ง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อเจรจาแล้ว เราดีขึ้นหรือเปล่า ผู้ผลิตบางส่วนได้โอกาสในการส่งออก และผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้บริโภคสินค้าในราคาถูกลง ซึ่งเกิดเป็นความท้าทายว่า จะให้คนไทยแบ่งกันได้ แบ่งกันเสียอย่างไร ต้องปรับโครงสร้างอย่างไร และจะมีการชดเชยประโยชน์ให้ใคร”
นอกจากนี้ตัวแทนในภาควิชาการยังมีมุมมองเพิ่มเติมว่า “ปัญหาของอาเซียน คือ ไม่ได้ผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้อำนาจการต่อรองต่ำ แต่หากมีความร่วมมือจากทั้งอาเซียนผนวกกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ พอเกิดเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ก็ทำให้ยุโรปสนใจ ทั้งในด้านอำนาจซื้อ ทรัพยากร เทคโนโลยีการผลิต ก็จะมีมากขึ้น”
นอกจากนี้ ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร. วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการสถาบันสหสวรรษ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายวีรชัย วงศ์บุญสิน กรรมการบริหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมเวทีเสวนาในช่วง “มองต่างมุม AJCEP” เพื่อร่วมวิเคราะห์ผล จากการเปิดเสรีการค้าในแง่มุมต่างๆ และร่วมกันเสนอทางออกสำหรับประเทศไทย
ดร. วรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตัวแทนภาคประชาสังคม กล่าวว่า “ผลกระทบทั่วไปที่แตกต่างกัน หากกระบวนการที่ประชาชนได้รับรู้มากเท่าไหร่ก็จะเป็นประโยชน์เท่านั้น โดยต้องฟังจากทุกส่วนจากภาคประชาชนที่เป็นผู้ประกอบการและผู้บริโภค และควรมีหน่วยงานกลางที่ต้องศึกษาอย่างชัดเจน รวมไปถึงกลไกในการวางแผนเพื่อใช้ประโยชน์”
คุณบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตัวแทนภาคสิ่งแวดล้อมกล่าวแนะนำว่า “การทำความตกลงการค้าเสรียังไม่ได้มีการคำนึงถึงต้นทุนต่างๆ ที่ต้องเสีย เช่น ในด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม เพราะนึกถึงเพียงแต่ในส่วนของการค้าที่จะได้ผลประโยชน์ ซึ่งเราอาจประสบปัญหาเหมือนเช่นที่เม็กซิโก โดยญี่ปุ่นมีการศึกษามาว่าอีก 12 ปี จะไม่มีที่รองรับขยะ ดังนั้นจึงต้องการกำจัดและนำมาผลิตซ้ำ หรือรีไซเคิล แต่อย่างไรก็ต้องมีขยะเหลืออยู่ดี อาเซียนจะกลายเป็นรีไซเคิลมาร์เก็ต”
ส่วนคุณวุฒิพงษ์ กล่าวเสนอว่า “เราตกอยู่ในลัทธิโกลบอลไลเซชั่น ต้องมีกำไรสูงสุด คนจำนวนมากที่ไม่เกี่ยวข้อง ต้องทำอย่างไรให้ดูแลเขาได้ การดูแลทั้งหมด ต้องไม่คิดเพียงแค่การหวังผลประโยชน์สูงสุด แต่ยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย”
ทั้งนี้ในการสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมสัมมนาที่ให้ความเห็นหลากหลาย อาทิ ควรให้ความรู้จากทุกส่วน สร้างความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยประชาชนจะต้องติดตามและหาความรู้เกี่ยวกับกรอบการเปิดเสรีการค้าให้มาก