กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ดร.มั่น พัธโนทัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2556 ว่า ภายหลังจากที่คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทไอซีทีฉบับที่ 2 ได้จัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทฯ แล้วเสร็จ และได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับร่างแผนแม่บทฯ ดังกล่าว ในภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ในระหว่างวันที่ 4-8 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมฯ ในภูมิภาคต่างๆ รวมประมาณ 1,200 คน คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทฯ จึงได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนแม่บทฯ อีกครั้งในกรุงเทพมหานคร เพื่อรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ แล้วนำไปปรับปรุงเพิ่มเติมให้แผนแม่บทฯ ดังกล่าวมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
“การจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 6 ซึ่งกระทรวงฯ ได้จัดร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมงาน ประมาณ 500 คน โดยกระทรวงไอซีที คาดหวังว่าแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 นี้จะเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด รวมทั้งเป็นแผนแม่บทฯ ที่มีความชัดเจน และนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งแผนแม่บทฯ ฉบับนี้จะนำไปใช้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาของประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกได้เมื่อสิ้นปี 2556” ดร.มั่น กล่าว
ด้าน ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 นี้ จะเน้นรายละเอียดใน 2 เรื่องหลักซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทยในระยะต่อไป นั่นคือ การพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะเวลาอันใกล้ และการพัฒนาระบบบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีธรรมาภิบาล ทั้งนี้ มียุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนและเกี่ยวข้องทั้งหมด 6 เรื่อง ซึ่งจะต้องดำเนินการในระดับที่เร่งด่วนต่างกัน
และหลังจากการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ คณะทำงานฯ จะนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่ได้มาปรับปรุง แผนแม่บทฯ เพิ่มเติม ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมทุกมิติมากที่สุด จากนั้นกระทรวงไอซีที ก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (กทสช.) ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 ของประเทศไทย (พ.ศ.2552-2556) แล้วจึงให้ทุกส่วนราชการได้ใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนแม่บท และแผนปฏิบัติการของหน่วยงานต่อไป