กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--สหมงคลฟิล์ม
กำหนดฉาย 11 กันยายน 2551
แนวภาพยนตร์ ลึกลับ-ระทึกขวัญ
บริษัทผู้สร้างและจัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
บริษัทดำเนินงานสร้าง จอไทย
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมงานสร้าง มานพ อุดมเดช
ผู้กำกับภาพยนตร์ ปีเตอร์ มนัส
บทภาพยนตร์ GALEN TONG GEN MING, วิชัย เหล่ารพีพรทอง
กำกับภาพ กิตติวัฒน์ เสมรัตน์
ออกแบบงานสร้าง สหรัตน์ บุญสถิตย์
ลำดับภาพ สาวิทย์ ประเสริฐพันธุ์
ออกแบบเครื่องแต่งกาย ศุภวรรณ รอดเกิด
แต่งหน้า ถาวร แก้วสะอาด
ทำผม ทิพวัลย์ อินทร์ภูเบศร์
ทีมนักแสดง บงกช คงมาลัย, ชลัฏ ณ สงขลา, อาชิรญาณ์ ภีระภัทร์กุญช์ชญา,
ปรางทอง ชั่งธรรม, สุธีรัชย์ ชาญนุกูล
อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าร่างกายเราลุกเป็นไฟได้เอง...โดยไม่ทราบสาเหตุ!!!
“ปรากฏการณ์คนลุกเป็นไฟฉับพลัน”...เป็นไปได้อย่างไร
อาถรรพณ์ ไสยศาสตร์ ฆาตกรรม หรืออะไรกันแน่?
คุณเท่านั้น!!! ต้องเป็นผู้ร่วมพิสูจน์และหยุดยั้งมัน
ก่อนที่ “ไฟมรณะ” นี้ จะคืบคลานมาสู่...ตัวคุณ
ในภาพยนตร์ลึกลับ-ระทึกขวัญแห่งปีที่มีแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริง
“คนไฟลุก” (BURN)
เรื่องย่อ...
เหตุการณ์ระทึกขวัญนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีลางบอก เมื่อจู่ ๆ ไฟประหลาดก็ลุกท่วมร่างของผู้หญิงคนหนึ่งจนเสียชีวิต และเธอคือหญิงไทยรายแรกที่เกิดปรากฏการณ์ไฟลุกท่วมตัวโดยฉับพลันนี้
“โมนา” (บงกช คงมาลัย) ลูกสาวของผู้ตาย เป็นนักค้าหุ้นสาวผู้ทะเยอทะยานต้องเข้ามาพัวพันกับเหตุการณ์นี้อย่างไม่ทันตั้งตัว และเธอไม่อาจทำใจได้ที่อยู่ ๆ แม่ก็มาตายจากไป ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ปรับความเข้าใจกัน
เหตุการณ์นี้ทำให้เธอได้พบกับ “พลอย” (อาชิรญาณ์ ภีระภัทร์กุญช์ชญา) พยาบาลสาว ซึ่งแม่ของเธอก็ต้องชะตากรรมถึงตายด้วยไฟลุกท่วมตัวโดยไม่ทราบสาเหตุอย่างไม่ผิดแผกกันเลย นี่เป็นสิ่งที่ทำให้โมนาและพลอยต้องพยายามสืบหาสาเหตุที่แท้จริงให้ได้ว่า อะไรกันแน่ที่เกิดขึ้นกับแม่ของพวกเธอ
ในขณะที่ทั้งคู่กำลังตามล่าหาความจริงอยู่นี้ พวกเธอก็ได้รับความช่วยเหลือด้านข้อมูลจาก “ขวัญ” (ปรางทอง ชั่งธรรม) นักข่าวสาวที่ตามติดข่าวนี้อย่างจิกไม่ปล่อยมาตั้งแต่แรก ตามสัญชาตญาณของอาชีพนักข่าว เธอมั่นใจว่าเหตุการณ์นี้ต้องมีอะไรเคลือบแฝงอยู่เบื้องหลังเป็นแน่
รวมถึง “ดอน” (ชลัฏ ณ สงขลา) นายตำรวจหนุ่มเจ้าของคดีนี้ แม้จะได้รับคำสั่งจาก “วัง” (สุธีรัชย์ ชาญนุกูล) หัวหน้าของเขาให้ปิดคดีนี้ว่าเป็นอุบัติเหตุไปแล้วก็ตาม แต่ด้วยความสงสัยและยึดมั่นในความถูกต้องยุติธรรม เขาจึงต้องร่วมสืบหาความจริงของเหตุการณ์ลึกลับนี้และหยุดยั้งมันให้ได้ แม้จะรู้ว่ากำลัง “เล่นกับไฟ” อยู่ก็ตาม
ความจริงในเหตุการณ์นี้ มันเป็นการฆ่าตัวตาย, อุบัติเหตุ, ฆาตกรรม หรือเครื่องสังเวยความลี้ลับ
ปริศนาแห่งเบื้องหลัง “ไฟมรณะ” จะต้องถูกคลี่คลาย ก่อนที่ความเป็นความตายจาก “ไฟสยอง” นี้จะโหมลุกขึ้นอีกครั้ง
เบื้องหลังลุกเป็นไฟ…
“มันเริ่มต้นจากไอเดียที่ผมมี ซึ่งผมรู้สึกว่ามันมีเรื่องเกี่ยวกับคนลุกเป็นไฟที่ต่างประเทศเค้าวิเคราะห์กันไปวิเคราะห์กันมาประมาณ 200 ปีมาแล้ว เหมือนคนลุกเป็นไฟได้เอง แล้วก็ไม่มีสาเหตุว่ามันลุกเป็นไฟได้ยังไง จริง ๆ ประเด็นเรื่อง “คนลุกเป็นไฟได้เอง” นี้ ผมได้ยินมานานมากแล้ว ตั้งแต่ผมเป็นเด็ก ๆ ที่อเมริกา จนถึงทุกวันนี้ ผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว ก็ยังไม่มีใครหยิบยกไอเดียนี้มาสร้างเป็นหนังทั้งในไทยและต่างประเทศ ผมก็เลยคิดว่าเรื่องนี้มันน่าสนใจ เราน่าจะนำมาขยี้และขยายเป็นเรื่องราวลึกลับตื่นเต้นระทึกขวัญในหนังได้ ผมก็เลยเอาเหตุการณ์ที่เค้าเรียกว่า Spontaneous Human Combustion (SHC) ก็คือ คนลุกเป็นไฟได้เอง มาเป็นแรงบันดาลใจของหนังเรื่องนี้ครับ”
ผู้กำกับ “ปีเตอร์ มนัส” เกริ่นถึงจุดเริ่มต้นที่จุดประกายความคิดของเขาให้เกิดเป็นผลงานกำกับเรื่องที่ 2 อย่าง “คนไฟลุก” (BURN) ที่ห่างจากงานกำกับเรื่องแรกไปนานถึง 6 ปีเลยทีเดียว
“จริง ๆ แล้วหลังจากทำ ‘999-9999 ต่อ-ติด-ตาย’ (2545) ผมก็ใช้เวลานานที่จะคิด ผมไม่อยากจะรีบกลับไปทำหนัง ผมไม่ต้องการทำหนังเพื่อเป็นอาชีพอย่างเดียว ผมต้องการทำหนังให้รู้สึกว่า...คือต้องมีไอเดียกระตุ้นจริง ๆ ถึงจะทำ แล้วช่วงหลังจาก ‘999-9999 ต่อ-ติด-ตาย’ เสร็จ ผมก็กลับไปทำอาชีพหลักของผมคือทำโฆษณา เจอเทคนิคใหม่ ๆ เจอบรรยากาศแปลก ๆ เจอคนทั่วโลกเลย หลากหลายเยอะแยะไปหมด แล้วก็หลังจากทำโฆษณา อยู่ดี ๆ มีฝรั่งคนหนึ่งที่ได้ดู ‘999-9999 ต่อ-ติด-ตาย’ แล้วเค้าเกิดชอบมาก เค้าก็ถามผมว่า คุณสนใจทำหนังฝรั่งกับผมมั้ย ผมก็สนใจ แต่ไม่คิดว่าเค้าจะเอาจริง อยู่ดี ๆ เค้าโทรมาบอกว่า คอนเฟิร์มแล้วนะ คุณบินไปเลย ถ่ายเปิดกล้องภายใน 3 อาทิตย์ เราก็ตื่นเต้นมาก จริง ๆ มันเป็นหนังที่ฉายทางเคเบิ้ลทีวี (ช่อง Sci-fi Channel) เรื่อง ‘The Hive’ พอไปทำผมก็เจอมืออาชีพหลายคน ช่วยสอนงานผมอย่าง ผู้ช่วยผกก. ของผม ที่เคยทำ Bourne Ultimatum คนทำโปรดักชั่นดีไซน์ก็ทำหนังใหญ่อย่าง Star Wars, Vertical Limit ฯลฯ มาก่อน โปรดิวเซอร์ที่จ้างผมก็เป็นคนที่ทำซีรี่ส์ Indiana Jones มาก่อน แล้วก็ทีมงานหลายคนก็ผ่านงานมาเยอะแยะ เรียกว่าหายไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์นั่นเองครับ”
แน่นอนว่า เมื่อทำภาพยนตร์ที่อิงข้อมูลจากเหตุการณ์จริงอย่าง “คนไฟลุก” นี้ ก็จำเป็นที่จะต้องค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในคิดเรื่องราวและเขียนบทให้เกิดความสมจริงและมีความน่าติดตามไปตั้งแต่ต้นจนจบ
“เยอะมากนะครับ เรื่องการรีเสิร์ชข้อมูลเกี่ยวกับคนลุกเป็นไฟได้ คือเรื่องนี้ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ผมเคยเห็นในสารคดีที่อเมริกา แล้วล่าสุดก็ที่ National Geographic ผมก็เลยเริ่มค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต แล้วก็ไปซื้อหนังสือที่เมืองนอกมาศึกษา โดยเฉพาะในเน็ตมีข้อมูลหลายร้อยหน้าเลยเกี่ยวกับคนลุกเป็นไฟเนี่ย โดยโครงเรื่องผมเป็นคนคิดจากไอเดียหลัก ๆ ที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงนี่เองครับ
จากนั้นผมก็พยายามหาวิธีที่จะผูกเรื่องนี้ที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและมีข้อมูลอยู่ในเน็ต ในหนังสือ ในวัฒนธรรมทั่วโลกที่มันมีเรื่องคนลุกเป็นไฟอยู่เต็มไปหมดเลย ก็พยายามหาวิธีผูกเรื่องให้มันเกิดขึ้นที่ในเมืองไทย ผมก็เลยคุยกับเพื่อนที่อยู่ที่อเมริกา แล้วก็ระดมไอเดียกันไปมาจนเกิดเป็นเรื่องนี้ขึ้นมา มันออกมาที่แนวลึกลับ-ระทึกขวัญ เป็นแนว Thriller แต่ผมมองว่ามันเป็นอะไรที่มากกว่าหนังธริลเลอร์ทั่วไปนะครับ คือมันจะเล่าเรื่องด้วยภาพที่เป็นซิมโบลิคตลอดทั้งเรื่องให้วิเคราะห์เต็มไปหมด”
ผู้กำกับฯ ปีเตอร์ได้เล่าถึงการสร้างสรรค์บทบาทตัวละครหลักของเรื่องที่มีจุดเด่นอยู่ที่ตัวละครเพศหญิงต่อเนื่องไปถึงการร่วมงานกับนักแสดงในเรื่องนี้ว่า
“ผมอยากจะทำหนังที่แบบมีผู้หญิงเป็นตัวเดินเรื่องและช่วยเหลือกันเอง ในเรื่องอื่นตัวละครเพศหญิงจะค่อนข้างอ่อนแอ แต่กับเรื่องนี้จะเป็นผู้หญิงที่สู้คน เป็นคนที่ไม่แข็งแรงโดยภายนอก แต่แข็งแรงจากข้างใน ตอนแรกยังไม่แข็งแรง แต่ตอนหลังก็จะค่อย ๆ แข็งแรงขึ้นจากภายใน หลังจากผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มาอะไรประมาณนี้ครับ
คาแร็คเตอร์ในหนังเรื่องนี้จะมี 5 ตัวหลัก ๆ ทุกอย่างมันจะถูกขับด้วย ‘ตั๊ก บงกช’ ที่เล่นเป็น ‘โมนา’ คาแร็คเตอร์ของโมนาจะเป็นคนไทยที่ไม่พอใจในความเป็นคนไทย คิดว่ายังไงเมืองนอกก็ต้องดีกว่าประเทศไทย แม้จะไม่เคยไปมาก่อนก็ตาม ซึ่งอันนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างแรง ซึ่งในตอนท้ายเค้าก็จะหันกลับมาคิดได้อีกทีแล้วก็เปลี่ยนไปเมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในช่วงนั้น
‘หนึ่ง ชลัฏ’ ที่เล่นเป็นตำรวจชื่อ ‘ดอน’ จริง ๆ คาแร็คเตอร์ตัวนี้ ผมสร้างขึ้นจากที่สงสัยว่า มันมีคนดีจริง ๆ เลยหรือเปล่า คือไม่ต้องมีเหตุผล เป็นคนดีจริง ๆ เลย มันเป็นไปได้หรือเปล่า ผมเสนอว่ามันมี ‘ดอน’ หนึ่งคนที่เป็นคนดี เป็นตำรวจที่ดี แล้วก็อยากทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง ตามอาชีพของตัวเอง ไม่ใช่เพราะอะไร คืออยากจะทำดีเพราะอยากทำแค่นั้น
‘หนูจ๋า’ เล่นเป็น ‘พลอย’ พยาบาลในหนัง ซึ่งเค้าจะเจอเหตุการณ์คล้าย ๆ กับตั๊ก ตอนแรกเค้าคิดว่าแม่ตัวเองมีความเชื่อเกี่ยวกับเหนือธรรมชาติอะไรเยอะแยะไปหมดเลย แต่พลอยเองกลับไม่ค่อยเชื่อ จนกระทั่งแม่ของตัวเองเกิดลุกเป็นไฟ พลอยก็ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร พลอยกับโมนาก็เลยต้องช่วยกันค้นหาความจริงด้วยกัน หนังเรื่องนี้มันคือผู้หญิงช่วยผู้หญิงประมาณนี้นะครับ
อีกคนคือ ‘ปรางทอง’ ที่เล่นเป็นนักข่าวชื่อ ‘ขวัญ’ เป็นคนที่ขี้สงสัยตามนิสัยของนักข่าวที่ต้องการเสนอความถูกต้องให้คนรับรู้ เป็นตัวละครผู้หญิงอีกคนที่มีบทบาทสำคัญในตามสืบความจริงนี้ครับ
สุดท้ายก็คือ ‘พี่บุ๋มบิ๋ม’ จะเล่นเป็น ‘วัง’ ในเรื่องนี้เป็นตำรวจที่เป็นหัวหน้าของดอนอีกที ตัวนี้เป็นตัวละคร 2 ด้าน ตอนแรกเค้าก็ทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็มีปัญหากับเรื่องศีลธรรมของตัวเอง แล้วเค้าก็ต้องพิสูจน์ว่าอะไรถูกต้องระหว่างเค้ากับลูกน้องตัวเอง
หนังเรื่องนี้ตอนทำ ทุกคนเหมือนเป็นเพื่อนกันหมด ผมรู้จักตั๊กมาก่อนอยู่แล้ว ผมรู้สึกว่าตอนถ่ายทำเรื่องนี้ ผมอยากดึงความรู้สึกเล็ก ๆ น้อย ๆ ของตั๊กออกมา พยายามเน้นรีแอ็คชั่นมากกว่าแอ็คชั่น ผมพยายามเน้นตรงนั้นมากกว่า อย่างเวลาผมกำกับตั๊ก ผมจะใช้ Verbal ภาษากายคุยกับเค้า ให้เค้าทำอะไรซักอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเราใช้ตรงนี้อธิบาย อารมณ์มันก็จะออกมาธรรมชาติ แต่ถ้าเราบอกให้เค้าเล่น มันก็จะเป็นการแอ็คซึ่งมันจะดูปลอม แต่พอเราบอกด้วยภาษากาย มันก็จะออกมาธรรมชาติ
ผมใช้วิธีนี้กำกับกับนักแสดงทุกคน ซึ่งบางคนที่มี Sense ก็จะกินหรือเข้าใจตรงนี้ง่าย ๆ เลย แล้วมันจะออกมาง่ายและธรรมชาติมาก โดยไม่ต้องแอ็คให้ดูปลอม”
นอกจากเรื่องราวและคาแร็คเตอร์นักแสดงที่น่าสนใจแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ผู้กำกับฯ เน้นย้ำและตั้งใจนำเสนออกมาเป็นพิเศษ นั่นก็คือ “โลเกชั่นการถ่ายทำ” และ “การกำกับภาพ”
“โลเกชั่นของหนังเรื่องนี้ ผมอยากจะเล่าเรื่องให้มันอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะผมคิดว่ากรุงเทพฯ มันเป็นเมืองที่มีหลายคาแร็คเตอร์มาก ๆ เลย แล้วบางทีคนไทยอาจจะมองไม่เห็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ มีทั้งสวย แปลก มั่ว มันมีคาแร็คเตอร์เต็มไปหมดเลย มันก็เหมือนกับคนน่ะ ที่มีบุคลิกหลาย ๆ ด้าน แล้วผมก็รู้สึกว่า ผมอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว ผมก็เลยอยากจับเอากรุงเทพฯ มาเป็นแบ็คกราวด์ของหนังเรื่องนี้ครับ
แล้วการถ่ายภาพของเรื่องนี้ ผมก็พยายามจะเน้นมุมกล้องที่ออกแบบแนวธรรมชาติหน่อย ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง ‘999-9999 ต่อ-ติด-ตาย’ ผมถ่ายด้วยเลนส์ไวด์ เพราะมันเกี่ยวกับกลุ่มเพื่อน เกี่ยวกับฉากโชว์ต่าง ๆ แต่เรื่องนี้ผมกลับมาถ่ายด้วยเลนส์เทเล ผมอยากจะบีบทุกอย่างให้มันเหมือนกับตัดโลกภายนอกออกไป มันจะทำให้เกิดผลที่ตามมาอย่างเช่น ตัวละครของตั๊ก บงกชก็จะเหมือนอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีใครรอบตัวเค้า รู้สึกว่าเหงา ในเรื่องนี้แม่เค้าเกิดเหตุการณ์ลุกเป็นไฟ แล้วก็ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ผมอยากเสนอด้วยมุมกล้องให้เหมือนกับตัวละครโดนทิ้งให้อยู่คนเดียว โดนตัดจากโลก ปรึกษาใครไม่ได้ คือทุกอย่างมันเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ แล้วผมก็รู้สึกว่ากรุงเทพฯ มันเป็นเมืองที่เหงาเหมือนกันนะ แล้วก็ในเรื่องผมพยายามจะเอาอารมณ์เมืองที่เหงาเข้ามาเน้น เข้ามาสร้างคาแร็คเตอร์ของตั๊ก บงกชในเรื่อง อย่างนี้เป็นต้นครับ”
ขึ้นชื่อว่า “คนไฟลุก” แล้ว ดูเหมือนว่าจะต้องหวังพึ่งเทคนิคพิเศษทางคอมพิวเตอร์กราฟฟิก (CG) เช่นเดียวกับภาพยนตร์ส่วนใหญ่ในยุคนี้ แต่ภาพยนตร์ระทึกขวัญเรื่องนี้กลับไม่ได้ใช้ CG เลย เป็นไปได้อย่างไร ผู้กำกับได้เล่าเบื้องหลังฉากคนลุกเป็นไฟให้ฟังว่า
“โอ้วววว...ใช่เลยครับ ฉากใหญ่ ๆ ในเรื่องนี้ก็เป็นฉากที่ผมดีไซน์ให้คนลุกเป็นไฟได้เองเลย ซึ่งผมไม่ใช้ซีจีเลย ผมใช้ของจริงเลย ผมถ่ายด้วยฟิล์ม แล้วผมก็อยากจะให้เห็นความเป็นจริงของไฟ ตอนแรกผมเคยทำหนังฝรั่งที่มีซีจีอยู่กว่า 500 ช็อต มันทำให้ผมเลี่ยนเลย ดังนั้นพอมาถึงเรื่องนี้ ผมก็เลยไม่ใช้ซีจีใด ๆ เลย อาจจะเป็นเครดิตซีเควนซ์นิดหน่อยที่เป็นซีจี แต่นอกนั้นไม่มีซีจีเลย ประเด็นก็คือสำหรับผม ซีจีมันเริ่มเชยแล้วล่ะ มันทำมาเยอะจริง ๆ จนน่าเบื่อแล้ว แต่คนอื่นอาจจะคิดคนละแบบ แต่สำหรับผมต้องการความ
สด ความจริง ความเป็นกรุงเทพฯ จริง ๆ การลุกเป็นไฟจริง ๆ คาแร็คเตอร์จริง ๆ ผมอยากกลับมาทางความเป็นจริง ไม่อยากไปทางแฟนตาซีมากครับ
อย่างที่บอกจริง ๆ การทำฉากลุกเป็นไฟน่ะมันยากมาก ๆ เพราะไฟมันร้อนมาก ๆ พอมันกระเด็นออกมาแล้วโดนผิว มันจะไหม้ แล้วมันก็จะเป็นเรื่องเลย สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เราต้องทำเป็นบอดี้สูทขึ้นมา เป็นเหมือนผิวปลอมโดยทำจากโฟมที่ไม่ไหม้ไฟ แล้วเจาะรู แล้วก็เอาโปรแตสเซียมใส่เข้าไปข้างในแล้วก็มีแบตเตอรี่ไฟฟ้าชาร์ตอยู่ข้างใน ก็คือโปรแตสเซียมมันจะลุกเป็นไฟสีขาว ซึ่งผมก็อยากได้ไฟที่ดูไม่ธรรมดา ก็เลยเป็นไฟสีขาว แล้วมีสะเก็ดอะไรเยอะแยะไปหมด การผสมอันนี้มันต้องลองผิดลองถูกเยอะแยะไปหมดเลยกว่าจะได้”
สุดท้าย ผู้กำกับฯ ได้กล่าวถึงความคาดหวังและความน่าสนใจโดยรวมในภาพยนตร์เรื่องที่สองของเขาที่ดูแปลกแหวกแนวไปจากเรื่องอื่น ๆ ในตลาดภาพยนตร์ไทยขณะนี้ ซึ่งมันก็น่าจะสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการได้ไม่มากก็น้อย
“เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ก็คือ เรามีโอกาสวิเคราะห์ มองได้หลาย ๆ มุมเลย คือหนังมันเหมือน Puzzle หนึ่งอัน แล้วมันก็เป็นอะไรที่แบบเหมือนหมากรุกนะครับ ที่เราต้องเล่นกับมัน หนังเรื่องนี้เวลาเข้าไปดู มันจะไม่ได้ป้อนทุกอย่างให้หมด แต่มันจะบังคับให้เราเข้าไปดู เข้าไปคิด เข้าไปอะไรเยอะแยะไปหมด ผมก็อยากให้คนชมแล้วก็รู้สึกสนุกไปกับมันเหมือนที่ผมทำ แต่มันเป็นหนังที่ต้องคิดด้วย มันไม่ใช่แค่สนุกแค่อย่างเดียว คือเดี๋ยวนี้ในเมืองไทยมันมีหนังสนุกอยู่เยอะแยะ แต่ไม่รู้นะ ผมรู้สึกว่า นาน ๆ มันถึงมีโอกาสได้ดูหนังแบบที่ได้คิดไปด้วย แล้วอาจจะเป็นอะไรที่ผมอาจจะ Fail ก็ได้ในตรงนี้ แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะผมพยายามแล้ว และผมก็โชคดีที่ได้มีโอกาสนำเสนอตรงนี้ครับ”
คาแร็คเตอร์ตัวละคร…
โมนา (บงกช คงมาลัย) — นายหน้าค้าหุ้นสาววัย 25 ปี มีความทะเยอทะยาน และมีความฝันที่จะใช้ชีวิตในต่างประเทศ เพราะเธอต้องการลืมอดีตอันขมขื่นของเธอและแม่ เธอมุ่งมั่นทำทุก ๆ อย่างเพื่ออนาคตที่ดีกว่า แต่แล้วเธอก็ต้องเข้ามาพัวพันกับไฟลึกลับที่เผาไหม้ร่างแม่ของเธอจนตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ การไม่ยอมรับง่าย ๆ กับสภาพการตายของแม่นี้เอง ทำให้เธอต้องหาสาเหตุการตายครั้งนี้ให้ได้ ไม่ว่าเธอจะต้องเผชิญกับอันตรายจนแทบจะเอาตัวไม่รอด...ก็ตาม
ถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญอีกครั้งของนักแสดงสาวฝีมือดีระดับแนวหน้าของเมืองไทยอย่าง “บงกช คงมาลัย” ที่คราวนี้ เธอพลิกคาแร็คเตอร์มารับบทสาวนักทำงานที่ไม่ยอมจมปลักกับอดีต และต้องเข้ามาพัวพันกับไฟมรณะจนเกือบตายได้อย่างเข้าถึงบทบาทอีกเช่นเคย รวมถึงทุ่มเทในฉากแอ็คชั่นอย่างสุดความสามารถ แน่นอน เธอยังคงไว้ลายฝีมือการแสดงในฐานะนักแสดงหญิงแถวหน้าของวงการได้อยู่เช่นเคย
ผลงานภาพยนตร์: บางระจัน (2544), ขุนแผน (2545), ไอ้ฟัก (2547), เอ็กซ์แมน แฟนพันธุ์เอ็กซ์ (2547), ซุ้มมือปืน (2548), คนเห็นผี 10 (2548), ต้มยำกุ้ง (2548), ไฉไล (2549), อำมหิตพิศวาส (2549), เทวดาท่าจะเท่ง (2551), คนไฟลุก (2551)
ดอน (ชลัฏ ณ สงขลา) — นายตำรวจสืบสวนหนุ่มฝีมือดีที่ต้องเข้ามาจัดการกับคดีการตายของแม่โมนา ด้วยความยึดมั่นในความถูกต้องยุติธรรม เขาจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสืบสวนตามล่าหาความจริงอันน่าสะพรึงของคดีไฟมรณะนี้ให้ได้
แจ้งเกิดทันทีด้วยฝีมือการแสดงที่เข้าขั้นจากภาพยนตร์เรื่องแรก “น.ช. นักโทษชาย” จากนั้นนักแสดงหนุ่มมาดเข้ม “หนึ่ง ชลัฏ ณ สงขลา” ก็ได้ฝากผลงานการแสดงอีกหลากหลายแนวจนเชื่อมือได้ ล่าสุดกับภาพยนตร์สุดระทึกนี้ เขาก็ปล่อยฝีมือในบทตำรวจสืบสวนที่ต้องไขปริศนาไฟมรณะได้อย่างเข้าถึงบทบาททีเดียว
ผลงานภาพยนตร์: น.ช. นักโทษชาย (2545), คนสั่งผี (2546), ปักษาวายุ (2547), เสือคาบดาบ (2548), ลองของ (2548), ไพรรีพินาศ ป่ามรณะ (2549), เปิงมาง กลองผีหนังมนุษย์ (2550), ผีเลี้ยงลูกคน (2550), ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคประกาศอิสรภาพ (2550), คนไฟลุก (2551)
ขวัญ (ปรางทอง ชั่งธรรม) - นักข่าวสาวไฟแรงที่ติดตามคดีไฟลุกไหม้ร่างคนจนตายฉับพลันนี้มาตั้งแต่ต้น เธอตามติดทำข่าวนี้อย่างกัดไม่ปล่อยด้วยจรรยาบรรณของนักข่าวที่ดี แม้จะเสี่ยงชีวิตในทุกย่างก้าวของการไขเบื้องหลังของคดีนี้ แต่เธอก็ไม่หวั่นเกรงกับการพลิกดำให้เป็นขาว...แม้แต่น้อย
เป็นอีกหนึ่งนักแสดงหญิงที่ได้รับการยอมรับในฝีไม้ลายมือจากผลงานเรื่องที่ผ่าน ๆ มา คราวนี้ปรางทองกลับมาแสดงร่วมกับ “ตั๊ก บงกช” อีกครั้ง ด้วยความเก่งและทุ่มเทไม่แพ้ใคร เธอพลิกบทมาเป็นนักข่าวสาวที่ความเป็นความตายของเธอถูกผูกไว้กับการสืบคดีไฟมรณะนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับเธอเช่นกัน
ผลงานภาพยนตร์: สาบเสือที่ลำน้ำกษัตริย์ (2545), เฮี้ยน (2546), อาถรรพ์แก้บนผี (2547), ครูแก (2547), อำมหิตพิศวาส (2549), คนไฟลุก (2551)
พลอย (อาชิรญาณ์ ภีระภัทร์กุญช์ชญา) - พยาบาลสาวที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับไฟมรณะนี้อีกคน เพราะแม่ของเธอก็ประสบชะตากรรมถึงฆาตจากไฟลุกท่วมร่างฉับพลันไม่ต่างจากแม่ของโมนาเลย พลอยจึงเป็นแรงหนึ่งที่เข้ามาร่วมสืบค้นความจริงของเหตุการณ์นี้ไปพร้อม ๆ กันด้วย
หนูจ๋า อาชิรญาณ์ (ชื่อเดิมคือ จิณวิภา แก้วกัญญา) เคยฝากผลงานเรื่องแรกไว้ในภาพยนตร์เรื่อง “มนุษย์เหล็กไหล” คราวนี้เธอกลับมาพร้อมฝีมือการแสดงที่พัฒนาขึ้น และเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่จะมาร่วมไขปริศนาคนลุกเป็นไฟนี้ไปกับทุกคน
ผลงานภาพยนตร์: มนุษย์เหล็กไหล (2549), คนไฟลุก (2551), สาธุ (2552)
วัง (สุธีรัชย์ ชาญนุกูล - บุ๋มบิ๋ม สามโทน) - นายตำรวจใหญ่หัวหน้าของดอนที่จัดการปิดคดีไฟมรณะนี้ให้เป็นคดีอุบัติเหตุทันทีโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านใด ๆ นี่อาจจะเป็นเพียงแค่การปัดความยุ่งยากให้พ้นตัวหรือมีบางสิ่งบางอย่างแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง...กันแน่
คุ้นหน้าคุ้นตากันดีกับบทบาทที่แฝงความตลกไว้เสมอในภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ สุธีรัชย์ ชาญนุกูล หรือบุ๋มบิ๋ม สามโทน พลิกบทบาทไปอย่างสิ้นเชิง กับบทนายตำรวจใหญ่มาดเข้มที่ไม่สามารถเดาออกได้ว่า เขาจะมาดีหรือร้าย แต่ที่แน่ ๆ เขายังคงให้การแสดงได้อย่างมืออาชีพเช่นเคย
ผลงานภาพยนตร์: 2508 ปิดกรมจับตาย (2547), ไทยถีบ (2549), คู่ก๊วนป่วนเมษา (2551), คนไฟลุก (2551)
ประวัติผู้กำกับ
ด้วยดีกรีปริญญาบัตรสองใบในสาขาการเขียนบทและอาชญวิทยา จาก University of Southern California : School of Cinematic Arts (ปี 2539) และประสบการณ์การกำกับภาพยนตร์ “999-9999 ต่อ-ติด-ตาย” (2545) และหนังโฆษณา (อาทิเช่น โฆษณาเบียร์ ชุดแอ๊ด คาราบาว เวอร์ชั่นแรก, โฆษณาหมากฝรั่งชุดลีโอพุฒ และ โฆษณาโทรศัพท์มือถือ เวอร์ชั่นตัวเลขหล่นทับ) รวมถึงสไตล์การทำงานระดับฮอลลีวู้ด (จากเรื่อง “The Hive”) ของผู้กำกับ “ปีเตอร์ มนัส” ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า “คนไฟลุก” (BURN) จะเป็นภาพยนตร์ไทยแนวลึกลับ-ระทึกขวัญที่มีแรงบันดาลใจมาจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “คนลุกเป็นไฟฉับพลัน” (Spontaneous Human Combustion - SHC) ที่เกิดขึ้นจริงทั่วโลกมาผสมผสานเข้ากับความเชื่อแบบไทย ๆ ให้มีทั้งความสนุกสนานน่าติดตามในอารมณ์ระทึกขวัญไปตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งแน่นอนว่า ภาพยนตร์แนวนี้หาชมกันได้น้อยมากในตลาดภาพยนตร์ไทย
“คนไฟลุก” (BURN) เป็นการกลับมานั่งแท่นผู้กำกับของ “ปีเตอร์ มนัส” อีกครั้งในรอบ 6 ปี หลังจากเคยสร้างความสยองขวัญสั่นประสาทมาแล้วจากภาพยนตร์เรื่อง “999-9999 ต่อ-ติด-ตาย” (2545) โดยครั้งนี้ได้ผู้กำกับหนังมือเก๋า “มานพ อุดมเดช” (หย่าเพราะมีชู้, ครั้งเดียวก็เกินพอ, กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน, คืนบาปพรหมพิราม) มาทำหน้าที่โปรดิวเซอร์ให้
พ.ศ. 2539 จบการศึกษาสาขาการเขียนบทและอาชญวิทยาจาก
University of Southern California: School of Cinematic
พ.ศ 2540-2549 กำกับหนังโฆษณา
พ.ศ. 2545 เขียนบท-กำกับภาพยนตร์ “999-9999 ต่อ-ติด-ตาย”
พ.ศ. 2551 กำกับภาพยนตร์ “The Hive”
พ.ศ. 2551 กำกับภาพยนตร์ “คนไฟลุก”
บันทึกผู้กำกับ (DIRECTOR’S NOTE)
หลังจากกำกับภาพยนตร์เรื่อง “999-9999 ต่อ-ติด-ตาย” เสร็จ จากนั้นก็มีงานโฆษณาต่างประเทศหลายตัวติดต่อให้ผมกำกับ นั่นทำให้ผมต้องเดินทางไปมาระหว่างประเทศอยู่ตลอด แต่ในช่วงระยะเวลาที่ทำงาน ประเด็นเรื่อง “คนลุกเป็นไฟได้เอง” มันยังคงวนอยู่ในหัวผมตลอด
จริง ๆ เรื่องนี้ ผมได้ยินมานานมาก ตั้งแต่ผมเป็นเด็ก ๆ ที่อเมริกา จนถึงทุกวันนี้ ผ่านมา 20 กว่าปี ยังไม่มีใครหยิบยกประเด็นนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ทั้งในไทยและต่างประเทศเอง ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจพักงานโฆษณาไว้ก่อน เพื่อกลับมาทำในสิ่งที่ผมรัก นั่นคือ “ภาพยนตร์”
คุณจะคิดยังไง ถ้าเรื่อง “คนลุกเป็นไฟได้เอง” ที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศเมื่อนานมาแล้วจะเกิดขึ้นกับคนในประเทศไทยตอนนี้ และนับวันจะถี่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังหาคำตอบกันไม่ได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง “วิทยาศาสตร์” หรือ “ไสยศาสตร์”
แต่แล้วก็มีผู้หญิงไทยตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่พยายามจะพิสูจน์และค้นหาคำตอบ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนที่เธอรักที่สุด นั่นคือ แม่ของเธอซึ่งได้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ “คนลุกเป็นไฟได้เอง”
สิ่งที่ผมจะบอกในภาพยนตร์เรื่อง “คนไฟลุก” (BURN) นี้ นอกจากความสนุกสนานและความตื่นเต้น ยังมีความหมายที่ผมอยากจะฝากให้กับผู้ชมว่า เราควร “ภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น” และ “ภูมิใจในความเป็นไทย”
ปีเตอร์ มนัส (Peter Manus)
ผู้กำกับภาพยนตร์
สะเก็ดไฟ...ลุก
จากบันทึกในประวัติศาสตร์กว่า 300 ปี พบศพมนุษย์ถูกเผาวอดเป็นเถ้าถ่านโดยหาสาเหตุไม่ได้ พบแต่เพียงว่า ต้นเพลิงเกิดจากไฟที่ติดและลุกขึ้นมาจากภายในร่างกายของพวกเขานั่นเอง...มนุษย์ที่พยายามค้นหาคำตอบเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ปรากฏการณ์คนลุกเป็นไฟฉับพลัน” (Spontaneous Human Combustion: SHC)
ปรากฏการณ์คนลุกเป็นไฟฉับพลันถูกบันทึกไว้จากทั่วทุกมุมโลก กว่า 200 ราย แม้จะเกิดขึ้นต่างที่ ต่างเวลา แต่ทั้ง 200 ร่างกลับทิ้งปริศนาในการตายที่มีจุดร่วมเหมือนกัน และมันช่างเขย่าขวัญได้อย่างเหลือเชื่อ!
เปลวไฟมรณะมักดับร่างเหยื่อจนเหลือเพียงเถ้า ในเวลาเพียง 1 -2 ชั่วโมง
ไม่มีหลักฐานชี้ชัดการตาย ไม่มีพยานรู้เห็น ไม่รู้ต้นเหตุชัดเจนของเปลวเพลิง
น่าแปลกที่เปลวไฟทำลายแค่ร่างกายมนุษย์ แต่บริเวณรอบข้างผู้ตายทุกราย แทบไม่มีร่องรอยการถูกเผาแม้แต่น้อย ทั้งที่สภาพศพนั้นเหมือนโดนเผาด้วยความร้อนกว่า 3,000 องศาฟาเรนไฮธ์ที่น่าจะทำลายพื้นที่รอบข้างให้เป็นจุณได้ในพริบตา
สภาพศพสร้างความสยดสยองจนขนหัวลุกให้คนที่พบเห็น เพราะร่างกายส่วนกลางของเหยื่อมักไหม้เป็นเถ้าถ่านไม่เหลือชิ้นดี แต่กลับเหลืออวัยวะบางส่วนเช่น มือ-เท้า เอาไว้อย่างสมบูรณ์
ขณะเกิดเหตุการณ์ไฟเผาร่างกายนั้น ไม่มีใครเคยได้ยินเสียงร้อง หรือขอความช่วยเหลือจากเหยื่อแม้แต่น้อย
เหตุการณ์สยองนี้เกิดขึ้นเฉพาะในอาคาร-บ้านเรือนเท่านั้น ไม่เคยเกิดในที่โล่ง
มักมีกลิ่นควันที่หอมประหลาด พร้อมคราบสีเหลืองอ่อนรอบที่เกิดเหตุ
เปลวไฟมรณะมักคร่าชีวิตเหยื่อที่อยู่เพียงลำพังคนเดียว!