กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--บ้านปู
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) แถลงผลประกอบการครึ่งปีแรกประจำปีงบประมาณ 2551 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 จากงวดเดียวกันของปี 2550 เป็นผลจากรายได้ของธุรกิจถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาถ่านหินในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยคาดว่ารายได้จากการขายรวมของปีนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในครึ่งปีแรกของปี 2551 (1 มกราคม 2551 — 30 มิถุนายน 2551) บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ จำนวนทั้งสิ้น 4,373 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกของปี 2550 จำนวน 1,420 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 โดยมีกำไรจากธุรกิจถ่านหินจำนวน 2,527 ล้านบาท และธุรกิจไฟฟ้าจำนวน 1,846 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57และร้อยละ 43 ของกำไรสุทธิ ตามลำดับ ทั้งนี้เป็นผลจากราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของบริษัทฯ ที่ได้รับผลบวกจากราคาถ่านหินในภูมิภาคที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างเด่นชัดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้จากการขายรวมของบ้านปูฯ ในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 19,705 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,089 ล้านบาท หรือร้อยละ 35 จากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้แบ่งเป็นรายได้จากการขายถ่านหินจำนวน 17,588 ล้านบาท ซึ่งมาจากการขายถ่านหินจากเหมืองถ่านหินในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย จำนวน 17,312 ล้านบาทและจากเหมืองถ่านหินในประเทศไทยจำนวน 276 ล้านบาท ส่วนรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าและไอน้ำจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในสาธารณรัฐประชาชนจีน มีจำนวน 2,117ล้านบาท โดยคาดว่ารายได้จากการขายรวมของบริษัทฯ ในปีนี้จะเติบโตมากกว่าร้อยละ 50 หรือที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท จาก 32,442 ล้านบาทในปี 2550
“ราคาถ่านหินในภูมิภาคที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของบริษัทฯ ในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นที่ประมาณ 70 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้สามารถชดเชยกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลงทั้งจากโรงไฟฟ้า BLCP ที่มีการบันทึกการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมทั้ง 3 แห่งในประเทศจีนของบริษัทลูกคือ BPIC ที่ได้แสดงผลการดำเนินงานที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนเชื้อเพลิงคือถ่านหินยังคงปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ราคาขายไฟฟ้ายังไม่ได้รับการอนุมัติให้ปรับเพิ่มขึ้น” นายชนินท์ กล่าวชี้แจง
ในปี 2551 บ้านปูฯ ได้ตั้งเป้าหมายการผลิตถ่านหินที่ 20 ล้านตัน โดยในครึ่งปีแรกการผลิตถ่านหินโดยรวมของบริษัทฯ ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เล็กน้อย อันเป็นผลกระทบจากภาวะฝนในประเทศอินโดนีเซีย
สำหรับฐานะการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2551 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 83,777 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,726 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ในขณะที่มีหนี้สินรวมจำนวน 41,724 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,170 ล้านบาท
หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 57 เมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550 ส่วนอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนของบริษัทฯ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 0.45 เท่า จาก 0.14 เท่า เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นผลจากการที่บริษัทฯ เพิ่มการลงทุนในบริษัท เอเชี่ยน อเมริกัน โคลด์ อิงค์ (AACI) ในสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกร้อยละ 78.4 เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ตัวเลขเงินลงทุนโดยรวม (CAPEX) ตามแผน 5 ปี (พ.ศ. 2547 — พ.ศ. 2551) ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1,008 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ในปีนี้ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผน 5 ปีของบ้านปูฯ ฐานการทำธุรกิจทั้ง 3 แห่งของเราคือไทย อินโดนีเซีย และจีน เริ่มมีขนาดที่ใกล้เคียงกันตามแผนที่ตั้งไว้ ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนตามมูลค่ากิจการ (Enterprise Value) แล้ว ขนาดธุรกิจของบ้านปูฯ ในประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 25 — 30 อินโดนีเซีย ประมาณร้อยละ 40 — 45 และจีนที่ประมาณร้อยละ 30” นายชนินท์ กล่าวเพิ่มเติม
ส่วนแผนการลงทุนของบ้านปูฯ ในอีก 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2552 — พ.ศ. 2556) นั้น นายชนินท์ กล่าวว่าจะยังคงเน้นการดำเนินธุรกิจหลัก 2 ธุรกิจ คือถ่านหิน และ ไฟฟ้า โดยธุรกิจถ่านหินจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 -70 ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30-40 และมีเป้าหมายของการเติบโตมากกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งนี้กลยุทธการลงทุนจะเน้นการพัฒนาหรือขยายสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของประเทศไทยนั้นจะเป็นการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าเป็นหลัก หลังจากที่เหมืองลำปาง และเหมืองเชียงม่วนของบริษัทฯ ปิดตัวลงในปลายปีนี้ สำหรับในประเทศอินโดนีเซีย จะเป็นการพัฒนาแหล่งถ่านหินที่มีอยู่เดิมทั้ง 5 แห่ง รวมทั้งแสวงหาแหล่งถ่านหินใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเมื่อโอกาสมาถึง ส่วนในประเทศจีนนั้น จะเน้นการพัฒนาเหมืองถ่านหินที่บริษัทฯ เข้าไปลงทุนผ่านบริษัท AACI คือเหมืองต้าหนิง และเหมืองเกาเหอ รวมทั้งเหมืองเฮ่อปี้ ที่บ้านปูฯ ลงทุนผ่านบริษัท HZTM โดยจะเน้นในเรื่องของการพัฒนากำลังการผลิต การสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และชุมชนให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล ส่วนธุรกิจไฟฟ้าในประเทศจีนนั้นจะยังคงพัฒนาและขยายกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมทั้ง 3 แห่ง รวมทั้งแสวงหาโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เพิ่มเติมให้เหมาะสมตามโอกาสและสถานการณ์
“สิ่งที่จะเห็นเพิ่มเติมในช่วงแผน 5 ปีข้างหน้าก็คือ การลงทุนในธุรกิจที่เป็น Green มากขึ้น เช่น พลังงานทดแทน (renewable energy) โดยบริษัทฯ ได้ตั้งงบประมาณในส่วนนี้ร้อยละ 2 ของทรัพย์สินรวม หรือประมาณ 1,200 ล้านบาท มาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งขณะนี้เรากำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมของธุรกิจพลังงานประเภทต่างๆ ในประเทศไทย อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และ biofuel เป็นต้น โดยคาดว่าในปีหน้านี้ คงจะได้เห็นโครงการพลังงานทดแทนของบ้านปูฯ ในประเทศไทย” นายชนินท์ กล่าวปิดท้าย
สอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายสื่อสารองค์กรและกิจการสัมพันธ์
โทรศัพท์ 02-694-6783 อีเมล์ maunfun_c@banpu.co.th