นักวิจัย JGSEE ชี้แนวทางแก้วิกฤต กทม. สู่มหานครที่ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday October 31, 2005 13:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
การพัฒนากรุงเทพมหานครเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เป็นแนวความคิดเพื่อให้เกิดการจัดการบริหารทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมในเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติและนิเวศวิทยาน้อยที่สุด อีกทั้งให้เกิดความมั่งคั่ง สะดวกสบาย ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในปัจจุบันและอนาคต
จากสภาพปัญหาของกรุงเทพมหานครที่รุมเร้าเข้ามาในทุกๆ ด้าน ส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่างพยายามหามาตรการที่จะทำให้มหานครแห่งนี้พ้นจากปัญหา แต่ยังติดขัดในเรื่องของวิธีการและแนวทางปฏิบัติที่มักไม่สอดคล้องและไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้มอบหมายให้ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) รวมนักวิจัยจากแขนงต่างๆ เร่งระดมสมองเพื่อจัดทำกรอบและแนวทางการส่งเสริมพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้จริง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่ยั่งยืน
ประเด็นแรกในเรื่อง การวางผังเมือง ของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรบุคคลที่เป็นระบบ ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนและพึ่งตนเองได้ในระยะยาว
สิ่งสำคัญในการวางผังเมืองจะต้องมีโมเดลจำลองสภาพเมือง ซึ่งควรจะเป็นการนำระบบโมเดลที่มีการศึกษาแล้วทั้งหมดมารวมกัน ผู้ที่จะมามีส่วนร่วมต้องมาจากทุกองค์ความรู้ เนื่องจากโมเดลดังกล่าวจะต้องสามารถประมวลผลปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและกิจกรรมของเมืองหลวง เข้ามาใช้ในการจำลองสภาพการเจริญเติบโตของเมืองทั้งปัจจุบันและอนาคต ข้อมูลที่ได้จะถูกต้องแม่นยำพร้อมที่จะเตรียมการรับมือปัญหาต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญคือการเผยแพร่ข่าวสาร และการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในระยะยาว ลดการเกิดช่องว่าง รวมทั้งเพิ่มศักยภาพพื้นที่หรือเครือข่ายให้เกิดการมีส่วนร่วมตลอดเวลา
ถัดมาคือเรื่องความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพ ที่มีการหลั่งไหลของประชากรที่เข้ามาในเมืองมากขึ้น ขณะที่พื้นที่มีจำกัด ทางเดียวที่ทำได้คือสร้างอาคารและที่พักอาศัยให้เป็นตึกสูง ซึ่งเป็นแหล่งที่พบว่ามีการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง จึงต้องมีการจัดการ พลังงานภายในอาคาร ในใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด การกระตุ้นให้ทุกคนเกิดจิตสำนึกในการใช้พลังงานให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุดเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การประหยัดไฟ การเลือกใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ด้านผู้ประกอบการอาคารควรให้ความสำคัญในการสร้างอาคารที่ลดการใช้พลังงานมากกว่าเรื่องมูลค่าการลงทุน เพราะเมื่อเทียบการทุนที่เพิ่มขึ้นเพียงครั้งเดียวแต่ช่วยประหยัดพลังงานที่จะใช้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ มาตรการเร่งด่วนที่ต้องทำคือ จัดตั้งองค์กรกลางเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การกำหนดมาตรการจูงใจที่เหมาะสม การบังคับใช้กฎหมายต้องจริงจังเข้มข้น รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ และส่งเสริมให้ใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ
ถัดมาคือเรื่อง คุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยภายในอาคาร แต่เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึง เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่แสดงในเห็นได้ในปัจจุบัน
ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ภายในอาคารเยอะมากถึง 80% เป็นการใช้ระบบปรับอากาศถึง 60% ขณะที่บ้านพักอาศัยใช้พลังงานไฟฟ้าเพียง 22% ซึ่งอนาคตอาจเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ วิธีที่ทำได้คือพยายามใช้อากาศและแสงจากธรรมชาติให้มากที่สุด รวมถึงการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนให้ตระหนักถึงคุณค่าของพลังงาน นอกจากนี้ควรที่จะบูรณาการศาสตร์ 2 ด้านคือนักวิจัยและนักออกแบบในการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในเรื่องของเทคโนโลยีประหยัดพลังงานในอาคาร รวมทั้งการสร้างฐานข้อมูลด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพในอาคารเพื่อกำหนดมาตรการในอนาคต ซึ่งหากทำได้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้ในที่สุด
ส่วนมาตรการด้าน การขนส่ง ที่มยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่การจราจรที่มีสัดส่วนการใช้ถนนส่วนบุคคลสูงถึง 55% ในขณะที่พื้นที่ถนนมีเพียง 10% ระบบการขนส่งมวลชนที่ยังขาดประสิทธิภาพ ไม่เชื่อมโยงกัน และต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทาง สิ่งที่ต้องเร่งทำมากที่สุดคือการพัฒนาระบบการจราจรขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความสะดวกสบาย ถึงที่หมายอย่างฉับไว ปลอดภัยในการเดินทาง โดยพัฒนะระบบขนส่งทั้งระบบล้อ ระบบราง และทางเรือให้เป็นระบบหลักของการจราจรขนส่ง เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ให้มีมาตรฐานมากขึ้น หันมาใช้เชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนปัญหาในเรื่องของการจัดการองค์กรที่ปัจจุบันไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและทำงานซ้ำซ้อนกัน สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ต้องใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาไม่ใช่ใช้อำนาจแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ยังมีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายด้าน ดังเช่น คุณภาพอากาศและก๊าซเรือนกระจก เรื่องมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งผลการสำรวจที่ผ่านมาพบว่านโยบายของรัฐไม่เอื้ออำนวย ทั้งยังขาดเงินทุนสนับสนุน รวมทั้งขาดองค์ความรู้ อาทิ การจัดทำระบบฐานข้อมูลแบบบูรณาการ ทั้งนี้คาดว่าประมาณปี พ.ศ.2555-2560 ระบบฐานข้อมูลที่มีทั้งข้อมูลมลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจกจะเสร็จสมบูรณ์
ปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศ ซึ่งต่อไปต้องพัฒนาใช้เทคโนโลยีสะอาดเข้ามาช่วยลดมลพิษดังกล่าวเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการลดฝุ่นและสารที่ก่อให้เกิดโอโซน รวมถึงช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากโรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ รวมทั้งการพัฒนาตัวดูดซับมลพิษที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ การพัฒนาและการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อศึกษาคุณภาพอากาศและสำหรับการป้องกันภูมิอากาศ สุดท้ายคือการวางแผนและนโยบายโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาระบบเตือนภัยที่สามารถคาดการณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้าได้
อีกหนึ่งปัญหาที่น่าวิตกคือ การจัดการขยะมูลฝอย ที่ผ่านมาพบว่าระบบการจัดการยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ขาดการกระตุ้นและประชาสัมพันธ์ในเรื่องของการจัดเก็บ การคัดแยกขยะ และการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องวางแผนการจัดการขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร สามารถนำขยะมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กลยุทธ์ในการแก้ไขประกอบด้วย ระบบการคัดแยกขยะที่ชัดเจนและง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ การนำขยะที่คัดแยกแล้วกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากขึ้น และมีระบบการกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
สุดท้ายเป็นเรื่อง การจัดการคุณภาพน้ำ ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าปัจจุบันน้ำมีคุณภาพต่ำลงมาก มีการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาที่ตามมาจากการใช้น้ำคือน้ำเสียที่ถูกปล่อยลงในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งยังมีระบบบำบัดน้ำไม่ครอบคลุมที่ทุกพื้นที่ ทำให้น้ำในแหล่งน้ำมีคุณภาพต่ำ ไม่เหมาะสำหรับการอุปโภค บริโภค จึงต้องมีการดำเนินการจัดการคุณภาพน้ำของกรุงเทพมหานครอย่างเร่งด่วน โดยภายใน 10 ปีข้างหน้านี้เราจะต้องเพิ่มมาตรฐานแหล่งน้ำให้มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 2 ใส สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น ไร้สิ่งปฏิกูล อุณหภูมิไม่สูง สามารถทำการเกษตร เล่นกีฬาทางน้ำ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้
อย่างไรก็ตาม แผนที่นำทางการวิจัยแบบบูรณาการเพื่อเนรมิตให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่ยั่งยืนในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมนี้ จะพัฒนาไปสู่ผลสำเร็จได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุน ผลงานวิจัยเหล่านี้จะถูกวางไว้บนหิ้งหรือจะนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อใช้เป็นประโยชน์ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกว่าเราที่ต้องการเห็นกรุงเทพมหานครในอนาคตเป็นอย่างไรนั่นเอง.--จบ--

แท็ก ธรรมชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ