ทรูรายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ชะลอตัว แต่ยอดผู้ใช้บริการจากยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์จากปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มั่นใจเติบโตได้อีกในครึ่งปีหลัง

ข่าวเทคโนโลยี Friday August 15, 2008 15:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--พี อาร์ โซลูชั่น
บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ยังคงประสบความสำเร็จในการเพิ่มยอด ผู้ใช้บริการ และคาดว่าจะยังคงเติบโตได้ในครึ่งปีหลัง ไตรมาส 2 รายได้และ EBITDA ลดลงเนื่องจากผลกระทบจากการดำเนินงานของทรูมูฟ ในขณะที่ธุรกิจออนไลน์และธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง และด้วยความสำเร็จของยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ไลฟ์สไตล์ยังคงให้ประโยชน์กับกลุ่มทรู ทั้งระยะกลางและระยะยาว โดยจะเห็นได้จากยอดผู้ใช้บริการของกลุ่มทรูตั้งแต่ 2 บริการขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 จากปีที่ผ่านมา
ในไตรมาส 2 รายได้จากบริการโดยรวม (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC) ลดลงร้อยละ 2.1 จาก ไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า และร้อยละ 5.0 จากไตรมาสที่แล้ว เป็น 12.7 พันล้านบาท ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย หรือ EBITDA ลดลงร้อยละ 15 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 18 จากไตรมาสที่ผ่านมา เป็น 4.3 พันล้านบาท โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่จากรายได้ที่ลดลงของทรูมูฟ และรายจ่ายสุทธิค่าเชื่อมโยงโครงข่ายเพิ่มขึ้น
ขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานปกติในไตรมาสนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 186 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิจำนวน 232 ล้านบาทในไตรมาส 1 และกำไรสุทธิจำนวน 18 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2550 สำหรับ ไตรมาสนี้ ทรูรายงานผลขาดทุนสุทธิ 3.5 พันล้านบาท ซึ่งรวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังมิได้เกิดขึ้นจริง จำนวน 2.5 พันล้านบาท
เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นทำให้รายได้จากบริการของทรูมูฟ (ไม่รวมค่า IC) ลดลงร้อยละ 9 จากไตรมาสที่ผ่านมา และลดลงร้อยละ 7.5 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า เป็น 5.5 พันล้านบาท ในขณะที่ EBITDA ลดลง ในอัตราร้อยละ 33 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 40 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากรายจ่าย IC เพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่าผลกระทบจากค่า IC จะลดลงในไตรมาสต่อๆ ไป ภายหลังโปรโมชันที่ก่อให้เกิดค่า IC ที่สำคัญต่างๆ สิ้นสุดลง
บริการด้าน Non-voice ยังคงเติบโต โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากไตรมาสที่ผ่านมา และร้อยละ 2.3 จากปีก่อนหน้า
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า “แม้ว่าผลประกอบการของทรูมูฟในไตรมาส 2 จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ผมยังมีความเชื่อมั่นว่าผลประกอบการของทรูมูฟจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง”
“ผมเชื่อว่าการชะลอตัวของทรูมูฟที่เกิดขึ้นในไตรมาสนี้เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวและเราจะสามารถ ปรับตัวให้เข้ากับสภาพการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ภายใต้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากระบบค่าเชื่อมโยงโครงข่ายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมยังคาดหวังด้วยว่าทรูวิชั่นส์และทรูออนไลน์จะยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อไปในช่วงครึ่งปีหลัง”
“การเสนอโปรโมชั่นใหม่ๆ ที่เน้นความคุ้มค่าสูงสุด จะทำให้สามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการและรายได้ของ ทรูมูฟในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ทรูมูฟยังได้ประโยชน์จากการขยายโครงข่าย และช่องทางการจัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย”
ทรูมูฟ สามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการใหม่ 507,394 รายในไตรมาสนี้ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 จากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้มีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 13 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการปรับอัตราค่าโทรเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทรูมูฟมีส่วนแบ่งตลาดในผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับร้อยละ 17 ในไตรมาสที่ผ่านมา และคาดว่ายอดผู้ใช้บริการใหม่ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้จะส่งผลที่ดีต่อผลประกอบการของทรูมูฟในครึ่งปีหลัง
ทรูออนไลน์ ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งรายได้จากบริการและ EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีที่ผ่านมา เป็น 6.3 พันล้านบาท และ 2.5 พันล้านบาทตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า รายได้และ EBITDA อ่อนตัวลงเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นผลจากปัจจัยตามฤดูกาล
บริการบรอดแบนด์มียอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิเพิ่มขึ้น 31,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดในช่วง 1 ปี (4 ไตรมาส) ที่ผ่านมา ทำให้มียอดผู้ใช้บริการทั้งหมดมากกว่า 600,000 ราย ทั้งนี้เป็นผลจากการตอบรับที่ดีของตลาดต่อโปรโมชั่น hi-speed Internet SUPER Package 2 Mbps
บริการ Wi-Fi มียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 53,455 ราย (จาก 30,356 ราย ณ สิ้นปี 2550) และมีจุดบริการเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 15,000 จุด การที่ทรูเป็นผู้นำตลาดบริการ Wi-Fi ส่งผลให้ทรูมูฟมีความพร้อมในการขยายธุรกิจและได้ประโยชน์จากการให้บริการ Mobile Broadband ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีอาคารสูงจำนวนมาก
ทรูวิชั่นส์ มีรายได้และยอดผู้ใช้บริการเติบโตต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการขยายตลาดสู่ลูกค้าในวงกว้าง ทำให้มีรายได้จากบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า และร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เป็น 2.3 พันล้านบาท ในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา แต่ลดลงร้อยละ 8.5 จากไตรมาสก่อนหน้า เป็น 650 ล้านบาท ภายหลังการเพิ่ม กิจกรรมทางการตลาด
ทรูวิชั่นส์สามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการรายใหม่ได้จำนวน 68,000 รายซึ่งลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ ไตรมาสที่ผ่านมา จากผลกระทบตามฤดูกาลและจากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีผู้ใช้บริการทั้งสิ้นเกือบ 1.2 ล้านราย ในขณะที่ผู้ใช้บริการแพ็คเกจสำหรับลูกค้าในวงกว้าง มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทรูวิชั่นส์สามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการสำหรับแพ็คเกจดังกล่าว ได้มากกว่า 500,000 ราย ซึ่งส่งผลให้มีฐานลูกค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และสัดส่วนของผู้ใช้บริการในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 48 ในครึ่งปีแรกของปี 2551 และทรูวิชั่นส์ยังมีโอกาสที่จะเพิ่มยอดผู้ใช้บริการจากกลุ่มผู้มีกำลังซื้อในต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น
นายศุภชัยมั่นใจว่า ธุรกิจทรูออนไลน์และธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“สำหรับธุรกิจหลัก คือ ทรูออนไลน์ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง จากบริการบรอดแบนด์และบริการด้านข้อมูลอื่นๆ ทั้งค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศยังลดลง ยิ่งไปกว่านั้น การเปิดตัวบริการโทรทางไกลต่างประเทศ (006) อย่างเต็มรูปแบบ จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ทั้งกับทรูออนไลน์และทรูมูฟอีกด้วย ในขณะที่ทรูวิชั่นส์จะมีโอกาสสร้างรายได้จากค่าโฆษณา และเติบโตยิ่งขึ้นจากการขยายตลาดสู่ลูกค้าใน วงกว้าง” นายศุภชัยกล่าว
ยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ยังคงคืบหน้า จะเห็นได้จากจำนวนผู้ใช้บริการของกลุ่มทรูตั้งแต่ 2 บริการ ขึ้นไป ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนครัวเรือนที่ใช้บริการของกลุ่มทรูตั้งแต่ 2 บริการขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 และจำนวนครัวเรือนที่ใช้บริการตั้งแต่ 3 บริการ และ 4 บริการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 และร้อยละ 56 ตามลำดับ
“ด้วยการผสมผสานผลิตภัณฑ์และบริการภายในกลุ่มครบวงจร ทำให้ทรูมีข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่ง พัฒนาการยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ไลฟ์สไตล์ มีส่วนสำคัญทำให้จำนวนผู้ใช้บริการในทุกกลุ่มธุรกิจเติบโตขึ้น รวมทั้งสร้างความผูกพันในกลุ่มผู้ใช้บริการทรูมูฟมากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยเสริมให้กลุ่มทรูเติบโตต่อไปในระยะกลางและระยะยาว”
“นอกจากนี้ บริษัทรู้สึกยินดีที่ได้รับเลือกจากหนังสือพิมพ์ วอลสตรีท เจอร์นัล เอเชียให้เป็น บริษัทสุดยอดด้านนวัตกรรมของไทยติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำงานหนักของเราสร้างความเชื่อมั่นต่ออนาคตธุรกิจและการดำเนินยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มทรู ที่กำลังพัฒนาเติบโตยิ่งขึ้น”
สำหรับผลดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมากระแส เงินสดจากการดำเนินงานสุทธิ เพิ่มขึ้นร้อยละ 55 เป็น 3.3 พันล้านบาท และแม้จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง บริษัทฯ ยังมีรายได้จากบริการโดยรวม (ไม่รวมค่า IC) เติบโตในอัตราร้อยละ 0.7 จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ EBITDA ลดลงร้อยละ 7.2 ในช่วงเวลาเดียวกัน
นายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงินกล่าวเสริมว่า “ในช่วงครึ่งปีแรกทรูชำระหนี้คืนกว่า 2 พันล้านบาท ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ลดลงเป็น 3.5 เท่า ซึ่งทำให้งบดุลของทรูมีความแข็งแกร่งปรับตัวดีขึ้น และจะยังคงมุ่งมั่นชำระหนี้คืนอย่างต่อเนื่อง”
หมายเหตุ: ในเอกสารฉบับนี้ คำว่า ทรู บริษัท บริษัทย่อยหรือบริษัทร่วม หมายถึง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และหรือ บริษัทร่วม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ