เปิดตัว 3 แหล่งท่องเที่ยวแนวใหม่ ชุมชน 3 ภาค - อพท.- มธ.ร่วมกำหนดทิศทาง พร้อมเดินหน้า “ ท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน ”

ข่าวท่องเที่ยว Friday August 15, 2008 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--อพท.
อพท. จับมือ มธ. พร้อม 3 ชุมชน 3 ภาค ร่วมกำหนดทิศทางใหม่ “ท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน” บนฐานคิดร่วมกันของชุมชน องค์ความรู้ การอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ตลอดไป ดีเดย์จุดประกายเปิดตัวเป็นทางการพร้อมเดินหน้า 15 สค. นี้แน่นอน
เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาการพัฒนาท่องเที่ยวแนวใหม่ภายใต้แนวคิดของการสร้างความยั่งยืน ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและการเชื่อมโยงภาคีพัฒนาร่วมดำเนินงาน ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 3 ชุมชนใน 3 ภาค ได้แก่ ชุมชนบ้านวอแก้ว ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ชุมชนบ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และชุมชนบ้านบางโรง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จัดงานเปิดตัวโครงการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน ณ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อจุดประกายการพัฒนาพร้อมเปิดตัวชุมชนที่กำลังดำเนินการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวใหม่ด้านการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน โดยงานเปิดตัวครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญของการเชื่อมโยงชุมชนและภาคีพัฒนา รวมทั้งเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน
ภายในงานประกอบด้วย กิจกรรมวิชาการและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อาทิ การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “สถานการณ์การท่องเที่ยวชุมชนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์” และการพาชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนจริง ณ บ้านคลองพระอุดม อ.ลาดหลุมแก้ว จ. ปทุมธานี ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องดินเผาทรงเครื่องเบญจสิริ (เครื่องปั้นดินเผา) จนได้รับรางวัล OTOP ระดับประเทศเมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา
ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดี คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนไว้ว่า “ปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน โดยมองว่าการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนเป็นการนำรูปแบบการท่องเที่ยวกระแสหลักมาย่อส่วนเพื่อทำในระดับชุมชน ซึ่งการท่องเที่ยวกระแสหลักนั้นแตกต่างจากการท่องเที่ยวชุมชน คือ เป็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรหรือสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ให้กลายเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยว และเน้นเรื่องการลงทุน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วรายได้หรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นจึงกระจายออกสู่ภายนอก ชุมชนได้ประโยชน์ค่อนข้างน้อย แต่ในความเป็นจริง การท่องเที่ยวชุมชนเป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวที่มีการวางแผน บริหารจัดการโดยคนในชุมชน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในหลายมิติ ทั้งความรัก ความเกื้อกูล การรักษาทรัพยากร การมีส่วนร่วม โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับมายังชุมชนเอง รวมทั้งทำให้นักท่องเที่ยว คนในชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กัน จนเกิดเป็นจุดเด่นในลักษณะของเพื่อนต่างถิ่นที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนมากกว่าการเป็นลูกค้ากับผู้ประกอบการ ซึ่งการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนนั้นชุมชนเองต้องมีมุมมองบนฐานคิดดังกล่าวนี้ ประกอบกับต้องมีความรู้จึงสามารถร่วมกันกำหนดอนาคตด้านการท่องเที่ยวของตนได้ต่อไปได้”
ดร. เริงศักดิ์ สูทกวาทิน รักษาการแทน ผอ. อพท. ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การท่องเที่ยวของไทยมีการขยายตัว รวมทั้งการท่องเที่ยวกระแสหลักและการท่องเที่ยวชุมชน ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบระดับชุมชนและประเทศในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่สมดุลระหว่างการใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ฟื้นฟู พัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืน ตลอดจนผลกระทบของกิจกรรมการท่องเที่ยวต่อวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขาดความรู้ความเข้าใจและขาดการประสานงานเพื่อการบูรณาการในการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชุมชนซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วในภาคต่างๆ ของประเทศ ดังนั้น อพท. จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนขึ้น ซึ่งแม้เป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ ในการเชื่อมโยงชุมชนและภาคีพัฒนาเข้ามาดำเนินงาน แต่นับเป็นการจุดประกายครั้งสำคัญให้กับชุมชนและภาคีพัฒนาได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยมาร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งเดิมชุมชนอาจมีการดำเนินงานเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ยังขาดทิศทางขาดความต่อเนื่องและการสนับสนุนจึงยังไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควร ซึ่งการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนนี้ถือเป็นโอกาสของการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต ฟื้นวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่น และเป็นโอกาสของการเชื่อมโยงกับงานพัฒนาด้านอื่นอีกด้วย
ทั้งนี้ หลักการสำคัญของการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนนั้น ต้องดำเนินอยู่บนฐานความคิดที่มีชุมชนเป็นหลักในการดำเนินการและรับประโยชน์จากสิ่งที่ทำ รวมทั้งเป็นการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ตลอดไป ทั้งนี้ อพท. เป็นเพียงผู้สนับสนุนด้านแนวคิดร่วมกับสถาบันทางวิชาการ สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม รวมทั้งเชื่อมโยงการพัฒนาให้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง ตามรูปแบบและทิศทางบนฐานขององค์ความรู้ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับชุมชน”
โครงการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน ได้ดำเนินการภายใต้หลักวิชาการและการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีพัฒนา โดยได้คัดเลือก 3 ชุมชนนำร่อง ภายใต้เกณฑ์พิจารณา 5 ด้านที่สำคัญคือ 1) ศักยภาพของทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว 2) ศักยภาพด้านความเข้มแข็งชุมชน 3) ความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวในด้านอื่นๆ 4) โอกาสการพัฒนาการท่องเที่ยว หรือการยกระดับการท่องเที่ยวในอนาคต และ 5) งบประมาณ โดยมีกิจกรรมหลัก 9 กิจกรรม ภายใต้องค์ประกอบของการสำรวจสถานการณ์การท่องเที่ยวชุมชนในประเทศไทย การดำเนินการโครงการนำร่อง 3 ชุมชนเป้าหมาย และการสร้างเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนในการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนเป้าหมาย เริ่มในช่วงสิงหาคม 2551 ถึงมกราคม 2552 ซึ่งจะเป็นอีกจุดพิสูจน์หนึ่งของการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนให้สังคมและชุมชนได้ติดตามและร่วมรับประโยชน์ต่อไป
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมที่ :
นิธิภา อุดมสาลี เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ อพท. โทร. 089-699-5164

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ