กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ท่าอากาศยานไทย
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) แถลงแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญของ ทอท. ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.), แผนพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 2, การเพิ่มรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non-Aeronautical Revenues), โครงการการใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงที่ 37 ณ ทสภ.และโครงการจัดอันดับท่าอากาศยานที่ดีที่สุด 1 ใน 10 ของโลก
นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญของ ทอท.ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ ทสภ.
ทสภ.เปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์มาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งเป็นระยะการแก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบต่างๆ ของท่าอากาศยาน โดยเฉพาะกรณีเร่งด่วน ที่มีการร้องเรียน เช่น การสร้างห้องน้ำเพิ่มเติม ขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว 104 ห้อง ทั้งนี้ มีห้องน้ำให้บริการรวม 1,569 ห้อง, การปรับปรุงแสงสว่างภายในอาคารผู้โดยสารทุกพื้นที่, การปรับปรุงอุณหภูมิที่เหมาะสมภายในอาคารผู้โดยสาร, การจัดระเบียบด้านการขนส่งภายในท่าอากาศยาน รวมทั้งจัดระเบียบการจราจรหน้าอาคารผู้โดยสาร, การเพิ่มพื้นที่ให้บริการผู้โดยสารโดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ปรับพื้นที่หรือย้ายร้านค้าออกจากบางพื้นที่ และการตั้งศูนย์บริการครบวงจร ทสภ.(Suvarnabhumi One - Stop Service) เพื่อประสานงานรับข้อร้องเรียนและแก้ไขปัญหา
สำหรับในระยะปัจจุบันถึงปีงบประมาณ 2552 เป็นระยะการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อมุ่งสู่ระดับ World Best Airport โดยมุ่งเน้นสร้างความพึงพอใจและความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ เช่น การจัด ระเบียบและปรับพื้นที่ให้บริการในบริเวณ ชั้น 2 ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ โดยแยกพื้นที่ควบคุม (Controlled Area) สำหรับผู้โดยสารกับพื้นที่สาธารณะ (Public Area) สำหรับผู้มารับผู้โดยสาร ทั่วไปอย่างชัดเจน โดยเริ่มดำเนินการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2551 ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการอำนวย - ความสะดวกให้กับผู้โดยสารและผู้ที่มารอรับแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ผู้โดยสารสามารถเลือกใช้บริการต่างๆ ของท่าอากาศยานโดยไม่มีการรบกวนจากพวกมิจฉาชีพอีกด้วย
นอกจากนี้ ทอท.จะจัดระเบียบพื้นที่ห้องโถงผู้โดยสารขาออก โดยกั้นพื้นที่บริเวณ Check-in สำหรับผู้โดยสารเช่นเดียวกับท่าอากาศยานดอนเมือง, การเปลี่ยนระบบป้ายสัญลักษณ์ ป้ายให้ข้อมูลในอาคารผู้โดยสารทั้งหมดให้ชัดเจนและมีสีที่สังเกตง่าย, การปรับปรุงเก้าอี้ในอาคารผู้โดยสารซึ่งเป็นโครงเหล็ก โดยการหุ้มเบาะทั้งหมด และการติดฟิล์มกรองแสงที่อาคารผู้โดยสาร เพื่อป้องกันความร้อน
สำหรับมาตรการการรักษาความปลอดภัย ณ ทสภ.ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) อย่างไรก็ตาม ทอท.จะพัฒนามาตรการด้านนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดครอบคลุมทุกพื้นที่ นอกจากนั้น จะมี การปรับปรุงระบบการตรวจค้นผู้โดยสารเป็นแบบ Centralized Security Screening เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารอีกด้วย
แผนพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 2
จากการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในช่วง 15 ปีข้างหน้า เมื่อนำปริมาณการจราจรทางอากาศของสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carriers : LCCs) กลับมาให้บริการ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง พบว่าจำนวนผู้โดยสาร ณ ทสภ.จะพอกับขีดความสามารถที่ 45 ล้านคนต่อปี ในช่วงประมาณปี พ.ศ.2554 เท่านั้น สำหรับ ขีดความสามารถของทางวิ่งสามารถรองรับเที่ยวบินในชั่วโมงเร่งด่วนได้ 64 เที่ยวบินต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตาม การใช้งานทางวิ่งตลอด 24 ชั่วโมง จะทำให้มีการเสื่อมสภาพและต้องมีการบำรุงรักษา ซึ่งหากต้องมีการปิดทางวิ่งใดทางวิ่งหนึ่งเพื่อบำรุงรักษา จะทำให้ทางวิ่งที่เหลือไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ ดังนั้น ทอท.จึงจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 2 เพื่อขยายขีดความสามารถของ ทสภ.โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศ 60 ล้านคนต่อปี ซึ่งแผนการดำเนินงานพัฒนา ทสภ.มีดังนี้
1. โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3
2. โครงการออกแบบและก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1
3. โครงการก่อสร้างลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1
4. โครงการออกแบบและก่อสร้างส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้
5. โครงการออกแบบและติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสาร
6. โครงการออกแบบและก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก
7. โครงการออกแบบและก่อสร้างอาคารจอดรถด้านทิศตะวันออก (อาคารจอดรถ 1)
8. โครงการออกแบบและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค
การเพิ่มรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non-Aeronautical Revenues)
รายได้จากการดำเนินงานของ ทอท.สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ รายได้ที่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Aeronautical Revenues) ซึ่งประกอบด้วย รายได้ค่าธรรมเนียมสนามบิน รายได้ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน และรายได้ค่าเครื่องอำนวยความสะดวก อีกส่วนหนึ่งคือรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน
(Non-Aeronautical Revenues) ประกอบด้วย รายได้ค่าเช่าสำนักงานและพื้นที่ รายได้เกี่ยวกับบริการและรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์
โดย ทอท.มีแผนการเพิ่มรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non-Aeronautical Revenues) ณ ทสภ.เช่น พัฒนาพื้นที่ว่างโดยให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาธุรกิจที่ดินแปลง 37 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 โดยมีข้อเสนอให้จัดตั้งเป็น ABC (Airport Business Center) โดยมีข้อเสนอเบื้องต้นของโครงการ ดังนี้
โครงการการใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงที่ 37 ณ ทสภ.
การที่รัฐบาลผลักดันให้ ทสภ.เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ (Hub Airport) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแหล่งงานที่สำคัญ เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารจำนวน 100 ล้านคน จึงมีการจัดเตรียมพื้นที่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของท่าอากาศยานจำนวน 1,140 ไร่ (พื้นที่แปลงที่ 37)
โดยจะพัฒนาชุมชนให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Self-contained Community) เป็นศูนย์กลางธุรกิจและชุมชน ที่มีมาตรฐานสากลสูงสุด มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยานครบครัน และสอดคล้องกับแผนการพัฒนาท่าอากาศยาน โดยจะจัดสรรเป็น 7 กิจกรรมหลัก มีระยะการดำเนินการระหว่างปี พ.ศ.2551 — 2568 ดังนี้
1. ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างประเทศและกลุ่มผู้จัดงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ในประเทศ รวมทั้งงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ที่จัดโดยรัฐบาลไทย ที่ต้องการพื้นที่รองรับการจัดงานตั้งแต่ 50,000 ตร.ม.ขึ้นไป
2. ศูนย์แสดงสินค้าส่งออก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าและการพาณิชย์ระหว่างประเทศที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักธุรกิจชาวต่างประเทศ
3. อาคารสำนักงานเกรดเอรองรับธุรกิจเกี่ยวกับท่าอากาศยานและบริษัทต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียง โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ บริษัทไทยหรือบริษัทต่างประเทศขนาดใหญ่หรือหน่วยงานรัฐบาล เพราะสามารถดึงดูดกลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องให้มาตั้งสำนักงานบริเวณใกล้เคียงได้
4. ศูนย์การค้าระดับชุมชนเกรดเอกับชีวิตที่ทันสมัยที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ชาวต่างชาติและประชาชนที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง รวมถึงมีการออกแบบอาคาร ที่สวยงาม
5. แหล่งบันเทิงครบวงจรที่ตั้งอยู่รวมกับโครงการกับศูนย์การค้าระดับชุมชนให้บริการ ทั้งโรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง คาราโอเกะ ผับและบาร์ และโชว์การแสดงต่างๆ
6. โรงแรมระดับ 3 - 5 ดาว ที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแวดล้อม เช่น ศูนย์การค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นลูกเรือหรือพนักงานสายการบิน นักธุรกิจ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักผ่อนระยะสั้นๆ ผู้ที่เข้าร่วมงานประชุมหรือแสดงสินค้า และนักท่องเที่ยวที่แวะเปลี่ยนเครื่องบิน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีเวลาพักอาศัยในกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลาสั้นๆ
7. โรงพยาบาลเอกชนรองรับกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงและชาวต่างชาติ รวมถึงมีบริการคลินิกเฉพาะทางที่มีคุณภาพ เช่น ผิวหนัง ทันตกรรม ศูนย์พักฟื้นระยะยาว มีขนาด 150-200 เตียง
การพัฒนาพื้นที่ 723 ไร่ ด้านทิศตะวันออกของ ทสภ.โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนพัฒนาเป็นสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน และพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมระดับ Hi-end ที่ใช้พื้นที่ไม่มาก แต่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์สูง เป็นต้น
ส่วนท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) มีแนวทาง เช่น ศูนย์กลางการบินเครื่องบินเช่าเหมาลำ เครื่องบินส่วนตัวทั่วไป ตลอดจนเครื่องบินที่ทำการทดสอบทางเทคนิค, สโมสรการบิน (Airport Jet Club) และศูนย์ซ่อมอากาศยาน เป็นต้น
สำหรับท่าอากาศยานภูมิภาคนั้น ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) มีแนวทางต่างๆ เช่น การให้บริการระบบไฟฟ้า 400 Hz และ PC Air แก่อากาศยานที่ใช้บริการสะพานเทียบอากาศยาน ณ ทชม.ซึ่งจะเป็นมาตรการเพื่อลดมลภาวะที่เกิดจากอากาศยานในช่วงเวลาที่ใช้บริการสะพานเทียบอากาศยานของ ทชม.และ การพัฒนาคลังสินค้าให้รองรับการส่งออกสินค้าที่ผลิตจากภาคเหนือตอนบนสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และจีนตอนใต้ เป็นต้น ส่วนท่าอากาศยานเชียงราย (ทชร.) มีแนวทาง เช่น ศูนย์ฝึกการบินนานาชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างนักบินขั้นต้น (Private Pilot License) ช่างอากาศ (Aviation Machanic) และอื่นๆ เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านการบินในภูมิภาค Great Mekong Sub-basin (GMS) และศูนย์ขนถ่ายสินค้าทางบก (Truck Terminal/Logistics Center) เพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางบกจากเส้นทาง R3E และ R3W (เส้นทางคมนาคมทางบกที่เชื่อมระหว่างเชียงราย — เชียงรุ้ง - คุนหมิง) รวมทั้งปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางน้ำตามลำน้ำแม่โขง ณ อำเภอเชียงแสน ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการขนส่งทางบกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) เช่น การจัด Zoning ตามกระบวนการ Flow ผู้โดยสาร และท่าเรือโดยสาร (Sea Port) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่ประสงค์เดินทางมายัง ทสภ.โดยทางเรือ เป็นต้น สำหรับ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) เช่น ศูนย์บริการขนส่งทางบก (Express Way Center) เพื่อให้บริการขนส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายหลักต่างๆ และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา เป็นต้น
โครงการจัดอันดับท่าอากาศยานที่ดีที่สุด 1 ใน 10 ของโลก ทอท.ได้เตรียมความพร้อมที่จะส่ง ทสภ.เข้าประกวดในเวทีการจัดอันดับสนามบินชั้นนำของโลก
กับสภาท่าอากาศยานสากล (Airport Council International : ACI) โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกในปี 2552 ดังนั้น ทอท.จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาและควบคุมการดำเนินการตามแผน ปฏิบัติการ เพื่อนำไปสู่การจัดอันดับและคุณภาพการให้บริการในระดับสากลเพื่อเตรียมความพร้อมไว้ถึง 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการรักษาความปลอดภัย ด้านการจัดการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการสร้างความร่วมมือกับสายการบิน/หน่วยราชการและผู้ประกอบการอื่นๆ ด้านการจัดกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ด้าน การสร้างจิตสำนึกในการบริการ และด้านสภาพแวดล้อมท่าอากาศยาน
นายเสรีรัตน์ กล่าวปิดท้ายว่า ในการดำเนินงานทุกด้านของท่าอากาศยานได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประสบผลสำเร็จเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการ สายการบิน และผู้ประกอบการเป็นอย่างดีมาโดยตลอด เนื่องจากทุกคนมีความตั้งใจที่จะมอบบริการที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ระดับ World Best Airport และเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป
สำนักสื่อสารองค์กร
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
โทรศัพท์ 0-2535-1042, 0-2535-2663
โทรสาร 0-2535-4099, E-mail : aot_media@yahoo.com